'จิรชัย' เผยส่งตัวเลขค่าเสียหาย 'จำนำข้าว' ให้คลังแล้ว

'จิรชัย' เผยส่งตัวเลขค่าเสียหาย 'จำนำข้าว' ให้คลังแล้ว

“จิรชัย” เผยส่งตัวเลขค่าเสียหายโครงการจำนำข้าว ให้ รมว.คลังแล้ว จ่อส่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลงนามเพื่อฟ้องแพ่ง

นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่งคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า ตัวเลขสรุปความเสียหายคดีฟ้องแพ่งโครงการรับจำนำข้าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในฐานะประธานตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นผู้เปิดเผยและพิจารณาเห็นชอบ ก่อนส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งทางปกครองดำเนินการฟ้องแพ่ง

สำหรับการวินิจฉัยคำนวณความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ทางคณะกรรมการฯจะไม่พิจารณาคิดเป็นความเสียหายในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.ส่วนต่างของราคารับซื้อข้าวตามราคาตลาด 9 พันบาทต่อตัน กับราคารับจำนำ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เพราะถือว่าประชาชนได้ประโยชน์จึงไม่คิดเป็นความเสียหาย 2.ค่าใช้จ่ายจากการทำงานหรือปฏิบัติงานของภาครัฐเกี่ยวกับโครงการรับจำนำ ไม่คิดเป็นความเสียหาย และ 3.ดอกเบี้ยที่เกิดจากภาระงบประมาณของภาครัฐกับโครงการรับจำนำ จะไม่คิดเป็นค่าเสียหาย เพราะถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ส่วนหลักการคิดค่าความเสียหาย จะคิดจากการบริหารจัดการระบายข้าว ที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ถูกต้องและชัดเจนจนก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เปิดช่องโหว่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่มีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จนก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว(กขช.) ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ ยืนยันว่าคณะกรรมการฯดำเนินการตามกฎหมายละเมิด ไม่มีผู้ใดมาชี้นำหรือกำหนดทิศทางการทำงาน และที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานมาโดยตลอด รวมถึงการประชุมกันทุกครั้งเพื่อแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม

“หลักการในการดำเนินการสอบสวน คือ1.พฤติการณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ประธาน กขช. และ2.การประเมินความเสียหาย แม้ว่าโครงการจำนำข้าวได้มีการดำเนินการมาหลายรัฐบาล แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ จำนวนหรือปริมาณการรับจำนำ และ กรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ ที่มีความแตกต่างจากในอดีต และที่สำคัญการไม่ได้ดำเนินการตามข้อท้วงติงของหน่วยงานรัฐตรวจสอบการทุจริตภาครัฐ 2 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)” นายจิรชัย กล่าว