เที่ยวเพลินเดินชม 'วังสระปทุม'

เที่ยวเพลินเดินชม 'วังสระปทุม'

ท่ามกลางเขตปทุมวันซึ่ง(เป็นย่านที่)เต็มไปด้วยผู้คน ศูนย์การค้าและโรงแรม

ที่นี่เป็นเสมือนใจกลางเมืองหลวง และเป็นแหล่งรวมความทันสมัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แต่เชื่อไหมว่าใกล้ๆ กันนั้นยังมีสถานที่ที่เงียบสงบ ปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ทั้งยังเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ วังสระปทุม


น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเข้าวัง ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ยังไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสสักครั้ง จนเมื่อเคทีซี เชิญให้ไปร่วมกิจกรรม “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” ตอน 4 ...กรุงรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 7-9 โดยมีสถานที่สำคัญอย่างวังสระปทุมรวมอยู่ด้วย ผมจึงรีบรับคำเทียบเชิญทันที


ภายในวังสระปทุม เป็นสถานที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้เข้าไปชม ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าประทับใจ โดยการเข้าชมนั้นทุกคนต้องแต่งกายมิดชิดเรียบร้อย ด้านหน้าบริเวณประตูทางเข้าจะมีเจ้าหน้าที่สอบถามถึงจำนวนของคณะและเวลาการนัดหมายที่เข้าชม จากนั้นจะเดินเข้าไปในตัวอาคาร มีการถ่ายรูปเพื่อทำบัตรในการเข้าชม ข้างๆ กันคือร้านขายของที่ระลึกที่มีสินค้าหลากหลายให้เลือกชมเลือกซื้อ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์จะมีมัคคุเทศน์นำเที่ยวและบรรยายประวัติของสถานที่ให้เราได้ทราบตลอดการเดินชม


เมื่อผมค่อยๆ ย่างเท้าเข้าสู่ภายในมีบรรยากาศที่เงียบสงบและร่มรื่นมาก ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่ายังมีสถานที่แบบนี้อยู่ในใจกลางเมือง ต้นไม้ที่ปกคลุมโดยรอบ เสียงนกร้องเจื้อยแจ้วเสนาะหู ในพื้นที่วังสระปทุมจึงอบอวลไปด้วยความดีงาม


แต่เดิมนั้นวังสระปทุมเป็นพระตำหนักที่ประทับในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 และได้เป็นที่ประทับในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงระลึกถึงพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


ปัจจุบันพื้นที่ของวังสระปทุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าทำศูนย์การค้า เช่น สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ และสยามพารากอน พื้นที่ส่วนในนั้นประกอบไปด้วยพระตำหนักและเรือนต่างๆ คือ พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักเขียว พระตำหนักใหม่ และเรือนข้าราชบริพาร


ดังนั้นจึงเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน แสดงพระราชกรณียกิจอันเป็นแบบอย่างอันดีงามแห่งการดำรงชีวิตที่อำนวยประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก


ภายในมีการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หอนิทรรศการ และพระตำหนักใหญ่ เริ่มต้นที่หอนิทรรศการก่อนเป็นอันดับแรก ที่นี่จัดฉายวีดีทัศน์สารคดีเรื่องสายธารประวัติสว่างวัฒน์พิพิธภัณฑ์สถาน ซึ่งประกอบไปด้วยพระราชประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จากนั้นชมนิทรรศการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม และนิทรรศการในโอกาสพิเศษต่างๆ ในแต่ละปี เมื่อได้ฟังคำบรรยายต่างๆ ผมรู้สึกประทับใจอย่างมาก คนเราจะยอมเเหนื่อยทำงานหนักเพื่อคนอื่นได้เพียงนี้เชียวหรือ


จากนั้นผมเดินไปตามถนนเส้นเล็กๆ ที่ทอดยาวไปถึงพระตำหนักใหญ่ ตัวตึกทาด้วยสีเหลืองดูงดงามอร่ามตาใครเห็นเป็นต้องสะดุดทุกราย ก่อนขึ้นพระตำหนักใหญ่ต้องถอดรองเท้า แล้วอยากให้ตั้งใจฟังบรรยายเพราะสิ่งของต่างๆ มีความเป็นมาที่น่าสนใจมากจริงๆ


พระตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เล่ากันว่าทรงคิดผังตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้ไม้ขีดไฟบ้าง หางพลูบ้าง ทำเป็นผัง แล้วจึงทรงให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์ ซึ่งมีการจัดห้องต่างๆ ไว้เป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน


เริ่มต้นกันด้วยช่วงที่ 1 เป็นการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ ทั้งยังเกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมงคลยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเป็นที่จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในห้องพีธีและห้องรับแขก จะเห็นเฟอร์นิเจอร์ ถ้วยชาม และการประดับจัดวางอย่างสวยงาม


เมื่อก้าวเท้าขึ้นบันไดไปยังชั้นสอง ผมได้รับชมเรื่องราวช่วงที่ 2 ซึ่งมีการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ภายในห้องอย่างสบายตา เก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ ไว้อย่างดี สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคงเป็นอากาศที่เย็นสบาย มีลมพัดเอื่อยๆ เข้ามาภายในอาคารพระตำหนัก เดินถัดไปจะเป็นส่วนของ “เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน” ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับเมื่อทรงตื่นจากบรรทมและเสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี้ ไม่เพียงเท่านั้นบริเวณนี้ยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


อีกสามห้องสุดท้ายที่อยู่ติดกันจัดแสดงถึงช่วงที่ 3 โดยห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงนมัสการ และห้องพระบรรทม เป็นที่รวบรวมเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์ เมื่อก้าวเท้าลงบันไดบ่งบอกว่าจบแล้วในการชมพระตำหนักแห่งนี้ ผมคิดทบทวนหลายสิ่งที่พระองค์สะสมมาตลอดพระองค์เปรียบเสมือนมารดาผู้ที่มีความรัก ทั้งรักลูก และรักครอบครัว แสดงถึงความเป็นหญิงไทยที่เพียบพร้อมในทุกๆ ด้านจริงๆ


แม้การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอาจจะไม่มีสีสัน ของเล่น หรือกิจกรรมมากนัก เป็นเพียงการเดินชมอย่างเงียบๆ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ได้รับความเพลิดเพลินตลอดการเดินชม ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ เกิดความคิด จินตนาการใหม่ๆ และอยากให้ทุกคนลองมาสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้รับรองว่าจะได้รับทั้งความรู้และความปลาบปลื้มประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน


พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ภายในวังสระปทุม เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00 - 16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน/นักศักษา 50 บาท โดยการเข้าชมทุกครั้งจะต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า และจะจัดเป็นรอบในการเข้าชมรอบละประมาณ 15 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2252 1965 – 7 หรือดูรายละเอียดตารางกิจกรรมได้ที่ www.queensavang.org