'วิษณุ'ย้ำผลประชามติ เป็นตัวแปรปรับแก้รธน.

'วิษณุ'ย้ำผลประชามติ เป็นตัวแปรปรับแก้รธน.

"วิษณุ"ย้ำผลคะแนนประชามติ เป็นตัวแปรปรับแก้รธน. ไม่ยืนยันนำร่าง"มีชัย" มาปรับใช้หากไม่ผ่าน ชี้มีฉบับ ปี40และ50 อยู่ครึ่งหนึ่ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังได้ข้อสรุปจากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57ว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้นำเรียนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ส่วนประเด็นที่จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จะเป็นในเรื่องทำอย่างไรให้การออกคะแนนเสียงมีความชัดเจน การปรับลดหลักเกณฑ์แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ครบ 80 % และอาจต้องทบทวนว่า จะยังให้มีประเด็นแถมถามประชามติในเรื่องอื่น ๆ อีกหรือไม่ รวมถึงบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนกฎระเบียบกกต.ในการลงประชามติ ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย แต่จะออกมาเป็นพ.ร.บ.พ.ร.ก.หรือมาตรา 44 ตรงนี้รัฐบาลตัดสินใจเอง           

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนบัตรลงคะแนนขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อยุติ ที่หารือกันเบื้องต้น อาจจะมีแค่ 2 ช่องคือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือมีช่องไม่ประสงค์ลงประชามติด้วยก็ได้ กกต.ต้องไปออกรูปแบบบัตร แต่ความจริงส่วนของการงดออกเสียงก็ไม่ได้นำมาคิดอยู่แล้ว                

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ หากประชามติไม่ผ่าน เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ นายวิษณุ กล่าวย้อนถามว่า "คุณเสียดายไหมละ แต่เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมสูญเสียเงิน"                           

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ตนระบุหากประชามติไม่ผ่าน จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ กรธ.ขึ้นมาแล้วปรับปรุงใช้นั้น ตนไม่ได้ยืนยันอย่างนั้น แต่เป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ทำไมไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไปคราวเดียวกันเลย หากไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไร ตนบอกว่า หากแก้ในคราวเดียวกันก็ได้ หรือรอความชัดเจนก่อน เพราะมันมีตัวแปรประกอบการพิจารณาอยู่ว่าหากค่อยแก้ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะใช้เวลาไม่นาน ตรงกันข้ามอาจเกิดข้อดี เพราะถ้าเอารัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ มาเปรียบเทียบ พอดีพอร้ายเลยต้องมาทำความเข้าใจรณรงค์ ยุ่งไปกันใหญ่ เกิดอคติ ลำเอียงขึ้นได้ในการลงประชามติ ถึงยังไม่เปิดเผยว่าจะทำอย่างไร              

นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่ผ่านจะหยิบฉบับไหนมาใช้ ถ้าบอกไปเอาฉบับนั้นฉบับนี้ ขณะที่เวลานี้ก็มีการมาพูดกันแล้วว่า ฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดีกว่าฉบับกรธ.แล้ว หรือหยิบฉบับกรธ.มาปรับแก้ไข ก็เกิดคำถามว่าหยิบมาทำไม เมื่อไม่ผ่านแล้ว  ดังนั้น ช่วงเดินหน้าประชามติ ไม่ควรเพิ่มประเด็นขัดแย้งในสังคม ลำพังว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ขัดแย้งกันแย่อยู่แล้ว แต่ก็ต้องทน          

"ความจริงไม่จำเป็นต้องเอาฉบับไหนมา เพราะจริง ๆ แล้ว ฉบับของนายมีชัย ครึ่งหนึ่งก็เอามาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 นั่นแหละ ไม่มีใครคิดประดิษฐกรรมอะไรขึ้นมาใหม่ 100 %ทั้งหมด"นายวิษณุ กล่าว     

นายวิษณุ กล่าวว่า คะแนนเสียงประชามติ ก็เป็นตัวแปรตัวหนึ่งให้คิดว่า ถ้าไม่ผ่านแล้วทำอย่างไร เพราะถ้าคะแนนเสียงผ่านมันมากเกินครึ่งก็จบ แต่ถ้าไม่ผ่านโดยคะแนนไม่มาก ก็ต้องแปลผลว่า คนเห็นด้วยกับร่างนั้นอยู่ไม่ใช่น้อย และกำลังคิดว่าที่เขาไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อย แล้วเรารับฟังความเห็นคนก็ได้ อ่านจากหนังสือพิมพ์ก็รู้ที่ไม่ผ่านติดใจประเด็นใด ก็แก้ประเด็นนั้นเสีย จะแก้ให้กลับไปเหมือนปี 40 หรือ 50 ก็แล้วแต่ คะแนนประชามติจะเป็นตัววัด ซึ่งไม่ใช่ถึงขนาดที่ว่า จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 ขึ้นมาใช้แน่ๆ