BEC - ถือ

BEC - ถือ

ยังไม่มีแนวโน้มของการฟื้นตัวของกำไรสุทธิ

ประเด็นการลงทุน

การบริโภคภายในประเทศและเม็ดเงินโฆษณาที่ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยฉุดกำไรสุทธิไตรมาส 4/58 ของ BEC ให้ลดต่ำลง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อว่าแนวโน้มของกำไรสุทธิปี 2559 ของ BEC มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ (ซึ่งจะถูกกลบด้วยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ของช่องทีวีดิจิตอลทั้งสามช่องที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก) และเนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาหุ้น ณ ปัจจุบันกับราคาเป้าหมายของเราที่ดูแคบลง เราจึงปรับเปลี่ยนคำแนะนำจาก ขาย ไปเป็น ถือ ถึงแม้ว่าราคาหุ้น BEC จะอยู่ในสถานะที่ถูกขายมากเกินไป แต่เรามองว่ามันเป็นการเร็วเกินไปที่จะเข้าซื้อสะสมหุ้นหรือกลับเข้าไปลงทุนในหุ้น BEC อีกครั้ง และให้รอการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของกำไรสุทธิก่อน

ส่องกล้องไตรมาส 4/58—กำไรสุทธิลดลง

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/58 ที่ 780 ล้านบาท ลดลง 22% YoY และ 4% QoQ กำไรสุทธิที่ลดลงเนื่องมาจากรายได้โฆษณาที่ลดลง (จากภาวะการบริโภคที่ยังคงชะลอตัว) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับช่องทีวีดิจิตอลทั้งสามช่อง (ค่าใช้จ่ายด้านคอนเท้นต์ การผลิตรายการ และพนักงาน) เราคาดรายได้โฆษณาไตรมาส 4/58 ที่ 3.5 พันล้านบาท ลดลง 8% YoY และ 2% QoQ ซึ่งถือว่าดีกว่าประมาณการของนีลเส็นที่คาดว่าจะลดลง 12% YoY และ 2% QoQ รายได้โฆษณาที่คาดว่าจะลดลง 8% YoY ในไตรมาส 4/58 (ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับที่ลดลง 10% YoY ในไตรมาส 3/58) สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงผลจากการเรียงเลขช่องใหม่ของกสทช. ซึ่งเริ่มมีผลอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนธ.ค.เป็นต้นไป รายได้โฆษณาไตรมาส 4/58 ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/56 เป็นต้นมา

เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 4/58 ที่ 38.8% (เทียบกับ 43.1% ในไตรมาส 4/57 และ 39.2% ในไตรมาส 3/58) และเนื่องจาก BEC ได้ทำการย้ายส่วนงานสำหรับคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศไปอยู่กับบริษัทร่วม (ซึ่งได้แก่ บริษัทไลฟ์เนชั่นบีอีซีเทโร) ตั้งแต่เดือนก.ค. 2558 เราจึงคาดรายได้จากคอนเสิร์ตและการแสดงมีแนวโน้มลดลง 18% YoY แต่ในแง่ของอัตรากำไรขั้นต้น เราคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30% ในไตรมาส 4/58 (เทียบกับ 22.8% ในไตรมาส 4/57 และ 27.9% ในไตรมาส 3/58) เนื่องจากไม่ต้องทำการรวมงบของธุรกิจจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำเข้ามาคำนวณรวมด้วย


เรตติ้งละครหลังข่าวย่อลงอีกครั้งในเดือนธ.ค.-ม.ค.

เรตติ้งของ BEC (ผู้ชมอายุ 4 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ) สำหรับช่องเอชดี (ซึ่งออกอากาศคู่ขนานกับช่องอนาล็อก) ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค. (จาก 1.798 ในเดือนก.ย. มาเป็น 1.972 ในเดือนต.ค.และ 2.064 ในเดือนพ.ย.) ก่อนที่จะลดลงเหลือ 1.876 ในเดือนธ.ค. (เนื่องจากการเรียงเลขช่องใหม่ของกสทช.) เรตติ้งของช่องเอชดี (อนาล็อก) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. เป็นผลมาจากเรตติ้งละครหลังข่าวที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย หลังจากที่ลดลงในช่วงส.ค.-ก.ย. การปรับผังละครหลังข่าวโดยใช้ผู้ผลิตข้างนอกที่ไม่ใช่ของบริษัทเอง อย่างเช่น กันตนากรุ๊ป ส่งผลบวกต่อเรตติ้งของละครหลังข่าวให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ถึงแม้ว่าเรตติ้งเฉลี่ยของละครหลังข่าวของ BEC จะดีดตัวกลับมาอยู่ที่ 5.9-6.1 ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. (จากละครเรื่องห้องหุ่น) แต่เรตติ้งก็กลับมาลดลงอีกครั้งเหลือ 5.4-5.6 ในช่วงธ.ค.-ม.ค. (ถูกดึงลงจากเรตติ้งของละครหลังข่าว 2 เรื่องในช่วงวันศุกร์ถึงอาทิตย์ที่ยังคงแย่อยู่ ซึ่งได้แก่ พลับพลึงสีชมพูและดอกไม้ใต้เมฆ ซึ่งได้เรตติ้งเพียงแค่ 4-5 ในขณะที่เรตติ้งละครหลังข่าวเฉลี่ยของช่อง 7 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 5.8-6.1 ในช่วงพ.ย.-ม.ค. ได้รับผลบวกจากละครเรื่องมรสุมสวาท (ซึ่งเรตติ้งขึ้นไปสูงถึง 8-9) เราคิดว่าเรตติ้งละครหลังข่าวของ BEC ช่วงวันศุกร์ถึงอาทิตย์ถือได้ว่าเป็นปัญหาของ BEC ในช่วงที่ผ่านมา

เรตติ่งช่องแฟมิลี่และเอสดียังทรงตัวในระดับสูง

เรตติ้งของช่องเอสดียังคงทรงตัวอยู่ในช่วง 0.18-0.22 ในขณะที่เรตติ้งช่องแฟมิลี่ทรงตัวอยู่ในช่วง 0.11-0.14 ตั้งแต่เดือนก.ค.-ธ.ค. 2558 เราคิดว่าคอนเทนต์การถ่ายทอดสดกีฬาและการฉายละครรีรันช่วยหนุนเรตติ้งของทั้งสองช่องให้อยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รายได้โฆษณาจากทั้งสองช่องยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมากโดยรวมกันคิดเป็นเพียงแค่ 100 ล้านบาทต่อไตรมาสเท่านั้น