'อุบลฯ' ม่วนคัก ม่วนว่า

'อุบลฯ' ม่วนคัก ม่วนว่า

“ไสว่าสิบ่ทิ่มกัน” แต่ทำไมทุกคนต่างทิ้งอุบลฯ ไปเที่ยวลาว เที่ยวพม่า โดยใช้อุบลฯ เป็น “ทางผ่าน” ดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย

อุบลราชธานีเป็นอีกหนึ่งประตูที่สามารถมุ่งหน้าเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือเบี่ยงเข้าประเทศกัมพูชาได้ไม่ยาก หลายต่อหลายคนมักผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป โดยหารู้ไม่ว่า เสน่ห์แห่งอารยธรรมและความสวยงามของธรรมชาติกำลังหลับใหลอยู่ในเมืองดอกบัวงาม รอให้ใครสักคนแวะเข้ามาทักทายและปล่อยใจให้ไหลไปตามลำน้ำโขง


เมืองดอกบัวงาม ที่ไม่มีดอกบัว แต่มีปลาแซบหลาย


กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ก่อนจะออกไปเที่ยวให้ฉ่ำปอด เสบียงกระเพาะต้องตุนให้เต็ม มาอีสานทั้งทีก็ต้องกินของดีของเด็ดอย่าง “ส้มตำ” แม้จะหากินได้ทั่วไปทุกจังหวัดแต่ความแซบนัวก็ต้องยกให้เจ้าตำรับ ทั้งตำมั่ว ตำซั่ว ตำไทย ตำปลาร้ายิ่งขาดไม่ได้ หากเลือกไม่ถูกว่าจะกินตำอะไรดี แนะนำให้เลือก “ตำโคตรมั่ว” รวมสารพันของอร่อยไว้ในหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นกากหมู ส้มตำ ข้าวปุ้น(ขนมจีน) หอยลวก(บางร้านใช้หอยเชอรี่) ฯลฯ เรียกได้ว่ามีอะไรในร้านใส่มาให้หมด


อีกหนึ่งของดีที่ต้องเสิร์ฟในมื้ออาหารทุกร้านคือ “ปลาเนื้ออ่อน” ส่งตรงจากลำน้ำโขงสู่โต๊ะอาหาร ด้วยเนื้อที่นุ่ม กระดูกที่อ่อน จนสามารถเคี้ยวก้างได้ทั้งตัว หมดกังวลเรื่องก้างจิ้มเหงือกให้เสียอรรถรส


สำหรับผู้รักสุขภาพ “นึ่งปลานาง-เผาปลานิล” คงตอบโจทย์ในข้อนี้ได้ เนื้อปลาหวานฉ่ำอมน้ำนิดๆ จุ่มเบาๆ ในถ้วยน้ำจิ้มรสเด็ดสูตรเฉพาะของแต่ละร้านก็ทำให้ต่อมน้ำลายเริ่มแตกฟองลงไปเรียกน้ำย่อยในกระเพาะให้เริ่มทำงาน ส่วนใครชอบซดซุปร้อนก็มีต้มปลาคังใส่ยอดมะขามอ่อน เปรี้ยวนำ เผ็ดตาม ถึงกับต้องอุทานว่า “แซบคัก แซบว่า แซบกระด้อกระเดี้ยแท้เนาะ” ใครมาถึงถิ่นแล้วไม่สั่งมากินถือว่าผิด!!! (สโลแกนนี้คุ้นๆ นะ ว่าไหม?)


ตระเวนไหว้พระ ตามสไตล์ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม


ในคำขวัญจังหวัดความหนึ่งที่ว่า “ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม” เห็นจะจริงตามที่ว่า เพราะวัดวาอารามแถวนี้แทบจะกำแพงชนกำแพง เดินทางสะดวก เข้าแยกนี้เจอแยกหน้า โดยเริ่มออกตัวกันที่จุดศูนย์กลางอย่าง ศาลหลักเมือง เอาฤกษ์เอาชัยก่อนมุ่งหน้าไปสักการะพระแก้วบุษราคัมที่ วัดศรีอุบลรัตนาราม พระพุทธรูปปางมารวิชัยฝีมือช่างสกุลเชียงแสน หนึ่งในพระพุทธรูปอัญมณี “นพรัตนชาติ” ของคู่บ้านคู่เมืองชาวอุบลฯ


นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปอัญมณีอีก 3 แห่ง ได้แก่ พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย ที่ตั้งอยู่บนถนนหลวง ระหว่างวัดมหาวนารามกับวัดทุ่งศรีเมือง พระแก้วไพฑูรย์ วัดหลวง ถนนพรหมเทพ ริมแม่น้ำมูล และพระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวัดอื่นๆ ในเขตเทศบาลนครอุบล เช่น วัดกลาง วัดใต้ วัดเลียบ วัดบูรพา วัดมหาวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง หากมาเป็นหมู่คณะ มาทัศนศึกษา หรือมากันเป็นครอบครัวใหญ่ก็สามารถติดต่อสำรองที่นั่งรถรางได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี มาเที่ยวอุบลทั้งที ไม่ครบเก้าวัดก็ให้มันรู้ไป


ออกมาแถบรอบนอกตัวจังหวัด ความศรัทธาในพุทธศาสนาก็ไม่ได้น้อยลงไป เข้าไปกราบสักการะสรีระสังขารของหลวงปู่คำคนิง จุลมณี ที่ วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ชมบรรยากาศแม่น้ำโขงที่ฝั่งไทย มองทอดผ่านไปสู่ฝั่งลาว มาที่นี่อาจได้ของฝากเล็กๆ น้อยๆ ทั้งกระเป๋าสตางค์ พวงกุญแจ ผ้าซิ่น ฯลฯ พอติดมือกลับไปบ้าง


จากนั้นไปต่อกันที่ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง บ้านปากแซง ที่ประดิษฐ์สถานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นที่นับถือของประชาชนชาวไทย-ลาว ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในประเทศไทยแถบภูมิภาคอีสาน


ภายในวัดมีผลิตภัณฑ์ผ้าซิ่นและหัตถกรรมของชาวบ้านวางจำหน่ายให้เลือกซื้อในราคาย่อมเยา เป็นการส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านในอีกทางหนึ่งด้วย แต่อย่าลืมมองของฝากในมือบ่อยๆ เพราะอาจจะซื้อเยอะจนลืมของฝากก่อนหน้านี้ไปเลยก็ได้ ถ้าท่านไหนกำลังแขนแข็งแรง จะซื้อเยอะก็ไม่ว่ากัน


โพล้เพล้ใกล้ค่ำ สายธรรมะยังคงเดินขบวนกันต่อที่ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือวัดภูพร้าว ตัวอุโบสถคล้ายกับสถาปัตยกรรมวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ชมพระอาทิตย์อัสดงรอให้แสงสุดท้ายของวันลาลับไปเพื่อพบกับความงามของภาพวาดต้นไม้เรืองแสงตัดสลับกับแสงดาวนับล้านดวงที่อวดแสงแข่งกันให้เห็นชัดๆ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ที่พลาดไม่ได้


แน่นอนว่า ที่นี่เป็นจุดชมดาวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี หากใครวางแผนจะไปเยี่ยมชมตอนกลางคืน ควรพกไฟฉายไปคนละกระบอกเพื่อความปลอดภัยในการไปชมต้นไม้เรืองแสง เพราะที่วัดภูพร้าวมีเสาไฟเฉพาะจุด เพื่ออรรถรสในการชมต้นไม้เรืองแสงและการชมดาว รับรองว่าคุ้มค่า สมราคาคุย กลัวแต่ว่าจะนั่งดูดาวเพลิน ลมพัดเย็นๆ อาจทำให้หลับได้ ระวังยุงจะหามเอา


ซิ่นสวย รวยความรู้


มาถึงอีสานนอกจากของกิน(หิวอีกแล้ว) ก็ผ้าซิ่นนี่แหละ ของดีของเด็ด ถ้าใครอยากได้ลายสวย ไหมดี ต้องจองกันเป็นปีๆ เลยทีเดียว ราคาอาจจะหนักไปบ้างแต่ถ้าได้มาดูได้มาเห็นที่ ศูนย์หม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ อุบลราชธานี ก็จะรู้ว่า กว่าจะได้เส้นไหมคุณภาพดีสักหนึ่งหลอดต้องใช้รังไหม 50-60 ตัว หนอนในไหมก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ สามารถนำมากินได้เป็นของทานเล่น อุดมไปด้วยโปรตีน เคี้ยวมัน อร่อย กรอไหมไปพลาง เคี้ยวหนอนไปพลาง (ส่วนใหญ่จะเน้นเคี้ยวหนอนมากกว่ากรอไหม ไม่หิวแต่กินได้เรื่อยๆ อร่อยจริงๆ นะเออ) กรอไหมจนอิ่มแล้วก็มาดื่มน้ำมัลเบอร์รี่หรือน้ำลูกหม่อน เปรี้ยวอมหวาน ฝาดนิดๆ ให้หายฝืดคอ หรือจะเป็นชาใบหม่อนดื่มอุ่นๆ ก็ชื่นใจไปอีกแบบหนึ่ง


ได้ซิ่นอย่าลืมของประดับ ผ้าสวยต้องคู่กับสร้อยงาม ที่ พิพิธภัณฑ์ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ ชมลูกปัดโบราณและอุปกรณ์ทำมาหากินในสมัยก่อน สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลูกปัดแก้วลายสวยๆ อย่างลูกปัดลายสุริยเทพ หรือลูกปัดทำจากแก้วเหลือใช้ ใส่เข้ากับผ้าซิ่นผืนงาม หรือจะมิกซ์แอนด์แมทช์กับชุดประจำวันก็เก๋ไปอีกแบบ


แม้แต่ค่ายทหารก็ยังมีความรู้ซ่อนอยู่ มาซาบซึ้งกับพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงในนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ บอกเล่าเรื่องราวพระจริยวัตรและพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวอุบลราชธานี สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-16.00 น.


สาวสวยคู่ดอกไม้งาม


สาววารินวันนี้เลิกกินน้ำตา ถึงแม้หนุ่มอุบลฯ ไม่มาก็ตาม ปาดน้ำตาแล้วไปแต่งตัวสวยๆ พร้อมถ่ายเซลฟี่กับดอกกระดุมเงินที่ตำบลห้วยขะยุงกันดีกว่า จะลงไปนอนคลุกแค่ไหนก็สุดแล้วแต่ เพราะในเช้าวันถัดไปเจ้าดอกกระดุมเงินหรือดอกมณีเทวาก็จะกลับมาชูช่อสวยอีกครั้ง เพราะจัดเป็นพืชตระกูลล้มลุก(ระมัดระวังหน่อยก็ดีนะคะ แบ่งให้คนอื่นเขาได้ดูบ้างเนอะ) ดอกกระดุมเงินจะบานเป็นทุ่งสวยในช่วงหน้าหนาวราวเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายมกราคม แม้การเข้าชมจะทุลักทุเลไปบ้าง แต่สวยจนหยุดถ่ายรูปไม่ได้ หรือใครอยากได้บรรยากาศเป็นทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา ก็แนะนำให้ไปที่ “ทุ่งดอกกระดุมเงินหนองหญ้าม้า” อำเภอวารินชำราบ มีพื้นที่หลายสิบไร่ให้ได้เข้าฟิน กดเซลฟี่กันรัวๆ


บุกป่า ฝ่าดง สาย(ขา)แข็ง


อย่างที่เกริ่นไปในช่วงแรกว่า ความงดงามของธรรมชาติกำลังหลับใหลอยู่ รอให้เราเข้าไปค้นหา สำหรับสายลุย(หรือแม้ไม่ใช่ก็ตาม) ควรไปชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีใหม่ที่ ผาแต้ม สูดลมหายใจให้เต็มปอดแล้วเดินยาวๆ ไปชมภาพเขียนโบราณใต้เพิงผาที่ต่อไปในอนาคตอาจจะไม่ได้ลงไปชมของจริง เพราะมีการทรุดโทรมของหินผา เสี่ยงต่อหินถล่ม อีกทั้งภาพเขียนยังถูกแดดฝนชะล้างให้จางลงไปอีก ยุวชนรุ่นหลังก็อาจจะได้เห็นเพียงแค่ในจอโทรทัศน์


ก่อนกลับจากผาแต้มแวะไปชมเถาวัลย์ยักษ์อายุราว 300-400 ปี ที่คันท่าเกวียน ไปกอดคุณทวดเถาวัลย์แล้วถือโอกาสนั่งพักก่อนไปเจองานหิน!!!


งานนี้ต้องบอกว่า หินจริงๆ เพราะมองไปทางไหนก็เจอแต่หิน ใจไม่แข็งไม่เท่าไหร่ แต่ที่แข็งแน่ๆ ก็คือขา ที่ แก่งหินงาม อำเภอนาตาล ระหว่างทางต้องปีนป่ายอยู่ตลอดเวลา กระโดดจากหินลูกนั้นไปลูกนี้ต้องใช้สติเป็นพิเศษ ถ้าไม่เช่นนั้นอาจตกลงไปในซอกหินได้ แต่ก็คุ้มเมื่อได้เห็นแม่น้ำโขงจากมุมสูงกับหาดชมดาวและนั่งตากลมเอื่อยๆ ให้หายเหนื่อยก่อนจะกลับไปใช้วิชาตัวเบากันอีกทีตอนขากลับ


หากคุณคิดว่าแก่งหินงามโหดแล้ว เราขอนำเสนอ หาดทรายสูง บ้านลาดเจริญ อำเภอเขมราฐ นอกจากจะเหมือนหาดทรายริมทะเลแล้ว ที่นี่ยังมีภาพแกะสลักบนหินโบราณ หากใครที่สนใจจะไปชมต้องมีผู้นำทางชำนาญการพิเศษ เพราะการไต่ผาหินค่อนข้างเสี่ยงอันตรายและมีหินสูงชัน เพราะฉะนั้นกล้อง DSLR ขนาดใหญ่เก็บลงกระเป๋าไปได้เลย


ซ้อมปีนหินกันมาพอหอมปากหอมคอแล้ว มาเจอของจริงที่ สามพันโบก แกรนด์แคนยอนเมืองไทย นอกจากจะมีหิน ก็ยังมี “โบก” หรือ “หลุม” ให้คอยหลบหลีก ถ้าใครหลบหลุมได้แต่ปีนหินไม่ผ่านนอกจากจะเสี่ยงล้มแล้วยังอาจได้ของฝากเป็นรอยถลอกให้ได้ระลึกถึง ชมรุ่งตะวันที่ผาแต้มว่าแจ่มแล้ว ที่สามพันโบกแจ๋วยิ่งกว่า เพราะเราจะได้ดูพระอาทิตย์ขึ้นเหมือนไข่แดงดวงกลมสวยสะท้อนกับผิวน้ำโขงทำให้ได้ชม double sun ที่หาชมไม่ได้จากผาแต้ม


ไหนๆ ก็ต้องล่องเรือมาสามพันโบกแล้ว ก็นั่งเรือท่องแม่น้ำโขงต่ออีกหน่อยจะเป็นไรไป สถานีต่อไปที่เรือมักพามาแวะก็คือ ลานหินสี ที่ก้อนหินส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นสีน้ำตาลเงาๆ เหมือนเคลือบคาราเมล หากใครตาดีจะเจอหินแจกัน โดยมีความเชื่อว่า ใครเห็นจะโชคดี (ดูได้จากรอยลงแป้งและดอกไม้ธูปเทียนที่หลงเหลืออยู่ตามซอกหิน) ถูหินแจกันขึ้นเงาจนหนำใจแล้วก็ไปต่อที่ หาดหงส์ “ทะเลทรายซาฮาร่าเมืองไทย” นอกจากจะมีทรายและหญ้าก็ยังมีสไลเดอร์ยักษ์นุ่มๆ ให้ผู้กล้าท้าพิสูจน์กระโดดไถลไปตามเนิ่นทราย รับรองว่าใครได้โดดแล้วก็อยากโดดอีก


ปิดท้ายทริปแม่น้ำโขงด้วย ปากบ้อง ช่องแคบสุดแม่น้ำโขง ก่อนจะยกพลขึ้นบกไปหาข้าวกินตามสเต็ป(ใช้แรงเยอะก็ต้องหาอะไรกินชดเชย)
งามล้ำเทียนพรรษา


เมื่อนึกถึงเทียนพรรษาที่สวยงามอลังการที่สุดในวันเข้าพรรษาก็ต้องยกให้เมืองอุบลฯ ทั้งครุฑ ทั้งนาค ต่างสยายปีกสะบัดหางประชันลายชนิดที่ว่า “ฆ่ากันให้ตายไปข้าง” หากใครไปเที่ยวก่อนช่วงเข้าพรรษาสักเดือนสองเดือนก็สามารถแวะไปช่วยแกะเทียนพิมพ์ลายได้ที่ชุมชนคนทำเทียน หรือตามวัดต่างๆ รอบเทศบาลนครอุบลฯ เพราะการทำต้นเทียนตระการตานั้น ต้องอาศัยแรงศรัทธาและกำลังคน เพื่อประกอบให้เป็นต้นเทียนที่สมบูรณ์ ซึ่งใช้กำลังคนมาก ไม่ต้องเกรงใจว่าจะไปรบกวนการแกะเทียนของคนอุบลฯ ยิ่งมาช่วยกันก็ยิ่งดี ได้แกะเทียนขึ้นพิมพ์เพียงดอกเดียวก็ถือว่าได้บุญมากแล้ว คนอุบลฯ ใจดี เพียงแค่ขันอาสาขอไปช่วยทำเทียนก็พร้อมอ้าแขนต้อนรับอย่างอบอุ่น อยู่ที่นี่ไม่มีเหงา แกะเทียนไปคุยกันไปเพลินๆ ไม่รีบร้อน


คราวนี้ก็คงทราบกันแล้วว่า อุบลราชธานีไม่ใช้แค่จังหวัดทางผ่าน หากใครบอกว่าอุบลฯ ไม่มีอะไรให้เที่ยว ขอให้คิดดูใหม่ ลองเปิดใจ เปิดประตูเข้ามาดูอุบลฯ แล้วจะรู้ว่า ที่เที่ยวที่นี่อัดแน่นเสียจนไปไม่ทั่ว เหมาะสำหรับครอบครัว ทุกเพศทุกวัย มีทั้งวัดและศูนย์การเรียนรู้มากมาย รวมไปถึงกลุ่มคนที่ชอบความท้าทาย แก่งหิน น้ำตก หน้าผา ก็มีให้ไปใช้กำลังขากันอย่างเต็มที่


ในอนาคตข้างหน้ามีข่าวแว่วมาจากท่านผู้ว่าฯ ว่า จะพัฒนาเมืองอุบลฯ ให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวสโลว์ไลฟ์ สายฮิป สายชิลล์ คงต้องเพิ่มจังหวัดอุบลราชธานีลงในลิสท์เที่ยว กิน ช้อป กันอีกหนึ่งรายการ


หนึ่งเสน่ห์แดนดินถิ่นอีสานที่อยู่ใกล้เพียงแค่ปลายจมูก รอให้คุณออกไปค้นหา ที่นี่ “อุบลราชธานี”


.......................


การเดินทาง


อุบลราชธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 620 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นการเดินทางจึงทำได้หลายวิธี หากใช้รถยนต์ แนะนำ 2 เส้นทาง เส้นแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) วิ่งไปเรื่อยๆ จนถึงสระบุรี จากนั้นแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ขับไปจนถึงนครราชสีมา แล้วเลี้ยวอีกทีเข้าทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ไปจนถึงอุบลราชธานี


หรืออีกเส้น ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) วิ่งไปทางสระบุรี และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) เหมือนเส้นทางแรก แต่พอถึงสีคิ้ว ให้เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านโชคชัย นางรอง สังขะ เดชอุดม ไปจนถึงอุบลราชธานี


ถ้ากลัวเหนื่อยจะนั่งรถประจำทางไปก็ได้ มีรถให้บริการทุกวัน สอบถามได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 หรือ www.transport.co.th และจองตั๋วออนไลน์ได้ที่ www.thaiticketmajor.com รวมถึง www.thairoute.com ถ้าสะดวกไปรถไฟ สอบถามการรถไฟฯ อีกทีที่ โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th


ปิดท้ายด้วยการเดินแสนง่าย อุบลฯ มีสายการบินให้บริการเยอะ แต่ที่แนะนำคือสายการบินนกแอร์ มีเที่ยวบินให้บริการทุกวัน สอบถามที่ โทร.1318 หรือ www.nokair.com