หาก'ประชามติไม่ผ่าน'

หาก'ประชามติไม่ผ่าน'

มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเลือกใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ปลายที่เปิดอยู่ปิดลง โดยจะให้อำนาจหัวหน้าคสช. หากประชามติไม่ผ่าน

นาทีนี้คำถามเรื่องอะไรจะเกิดขึ้นหากประชามติไม่ผ่านดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2557  ที่แม้จะผ่านการแก้ไขมาแล้วหนึ่งครั้งก็ยังคงเป็นลักษณะ"ปลายเปิด" กล่าวคือไม่ได้บอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ให้ทำหากประชามติ"ไม่ผ่าน"

ซึ่งครั้งที่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นคนในรัฐบาลได้บอกว่ายังไม่ถึงเวลา แต่ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญคงไม่มีลักษณะที่เรียกว่าร่างไปเรื่อยๆไม่มีวันจบอย่างแน่นอน  

ซึ่งหากดูจากคำสัมภาษณ์ของ"วิษณุ เครืองาม" ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่าผู้มีอำนาจไม่น่าที่จะเลือกวิธีร่างไปเรื่อยๆอีกแล้ว หากแต่ต้องการตัดเรื่องให้จบและให้เกิดการเลือกตั้งตามโรดแม็พ   

วิธีดังกล่าวหลักๆคือ ให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. เป็นผู้ตัดสินใจ โดยมีความเป็นไปได้ทั้ง 1.หยิบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ"มีชัย ฤชุพันธุ์" มาปรับปรุง  2.หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึงมาปรับปรุง  หรือนำมารวมกันเพื่อให้เป็นร่างเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น ฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 หรือกระทั่งฉบับ ของกรรมาธิการยกร่างชุด"บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" และ 3.ร่างใหม่เป็นสไตล์ของตัวเอง อยากได้แบบไหนก็เขียนเอาไว้  ซึ่งหากออกในแนวทางนี้จริงเราอาจตั้งชื่อเล่นได้เลยว่า"ฉบับประยุทธ์" 

แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ผู้มีอำนาจตัดสินใจก็มีสูงสุดคือ"ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้า คสช.  

และเมื่อย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของ"ประยุทธ์" เราก็จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในแนวนี้ โดยเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาเขาระบุว่า"ผมจะแก้ของตนเอง เมื่อเป็นคนผูกก็จะเป็นคนแก้เอง ซึ่งหากไม่ผ่านประชามติ ก็จะให้มีการเลือกตั้งให้ได้ตามโรดแม็พ ก.ค. ปี 60" 

นี่ก็ยิ่งชัดว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหน ในถนนที่มุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ จะใช้ช่องทางไหนในการทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหมายถึงการอุดช่องรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เปิดปลายเอาไว้  โดยทางแรกมีคนพูดถึงการใช้ ม.44 ซึ่งดูแล้วก็มีความเป็นไปได้ เพราะ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านของรัฐบาลปัจจุบัน  แต่การเลือกใช้ทางนี้ยังคงมีคำถามหลักคือ ม.44 จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่  

และถึงแม้จะตีความกันว่า ม.44 สามารถเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญได้ คำถามต่อมาคือ เหมาะสมหรือไม่ เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญ โดยใช้ ม.44 นั้นยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญที่จะออกมาใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับในสากลมากยิ่งขึ้นไปอีก 

ดังนั้นนาทีนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า จะเลือกใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ปลายที่เปิดอยู่ปิดลง  โดยกำหนดให้ชัดเลยว่าหากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร เอาให้ชัดกว่านั้นคือเขียนเลยว่าหากประชามติไม่ผ่านจะให้อำนาจหัวหน้าคสช. อย่างไรบ้าง 

ส่วนจะแก้ช่วงใดนั้นก็บอกได้เลยว่าอีกไม่นานนัก เพราะขณะนี้มีหนึ่งประเด็นจของรัฐธรรมนญชั่วคราวที่พวกเขาเตรียมแก้ นั่นก็คือเขียนเรื่องเกณฑ์คะแนนผ่านประชามติให้ชัด เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่คลุมเครือ  

ดังนั้นหากมีการแก้ในประเด็นดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะแก้เพื่ออุดช่องเสียให้เสร็จในคราวเดียว