วิทย์พิชิต ‘แล้ง’

วิทย์พิชิต ‘แล้ง’

มาดูกันว่าภัยแล้งรอบใหม่ ประเทศไทยทำอะไรได้มากกว่าแห่นางแมวและเลิกทำนาปรัง

          แม้จะยังมีข้อกังขาว่าน้ำท่วมดีกว่าฝนแล้งหรือไม่ แต่เริ่มต้นปีพุทธศักราช 2559 นักวิทยาศาสตร์หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่าประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

          สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) รายงานปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องจ่ายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูฝนว่า มีน้ำรวมทั้งสิ้น 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2556 และปี 2557 และถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะพืชที่ต้องใช้น้ำมาก...อย่าง ‘ข้าว’

          แน่นอนว่าคำเตือนที่มาพร้อมกับการคาดการณ์นี้ หนีไม่พ้นประโยคคุ้นหู “ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือเลี้ยงปศุสัตว์แทน” และ “ขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ”

          ได้ยินได้ฟังกันมาทุกครั้งเมื่อเกิดภาวะความแห้งแล้ง คำถามก็คือประเทศไทยไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วหรือ...

ข้าวทนแล้ง ชาวนาไม่ทนทุกข์

          เพราะ ‘ข้าว’ เป็นพืชที่มีน้ำเป็นต้นทุนในการเพาะปลูกที่สำคัญ ตรรกกะง่ายๆ ก็คือต้องมีน้ำ ข้าวจึงจะงอกงาม ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่ควรปลูกข้าว แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ อย่าง ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวมีความทนทานต่อความแห้งแล้งมากขึ้น

          “งานวิจัยข้าวทนแล้งเขาทำกันมานานแล้วในประเทศไทย เพราะว่าปัญหาเรื่องภาวะแล้งหรือน้ำท่วมอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นมานาน แล้วประเทศเราส่วนใหญ่การปลูกข้าวทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ บางทีฝนเปลี่ยนไปไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็เป็นสภาวะน้ำท่วมบ้าง สภาวะแล้งบ้าง ซึ่งเราจะเห็นได้เป็นประจำ มันเป็นประเด็นใหญ่ของการผลิตข้าวในบ้านเราว่า ทำไมต้องมีความสามารถในการทนแล้งได้ระดับหนึ่ง ทีนี้เวลาเราพูดถึงข้าวทนแล้งส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิดว่า ไม่มีน้ำก็ปลูกได้ คงไม่ใช่อย่างนั้น”

          ข้าวทนแล้ง ในความหมายที่แท้จริงก็คือ การที่ข้าวสามารถให้ผลผลิตได้ดีในสภาพขาดน้ำ เป็นลักษณะที่ซับซ้อนเกี่ยวกับพันธุศาสตร์กับลักษณะทั้งทางสัณฐานวิทยา (Morphology) ลักษณะทางสรีรวิทยา (Physiology) และลักษณะทางเคมีของเซลล์ (Biochemistry) ซึ่งทํางานร่วมกันในการทําให้ข้าวสามารถปรับตัว (Adaptation) ในสภาพที่มีน้ำจํากัด 

          “ทนแล้งหมายถึงว่าในฤดูกาลปลูกข้าว ในบางทีบางช่วงที่ขาดน้ำไป อาจช่วงต้น ช่วงกลาง หรือว่าช่วงระยะออกดอกก็แล้วแต่ ข้าวต้องมีความสามารถในการปรับตัวในแต่ละสภาพที่ขาดน้ำไป โดยไม่ตายหรือสามารถที่จะรักษาผลผลิตได้ระดับหนึ่ง เราเรียกข้าวเหล่านั้นว่ามีลักษณะในการทนแล้ง ไม่ได้หมายความว่าไม่มีน้ำก็ปลูกได้” ดร.ธีรยุทธ กล่าวเสริม ก่อนจะบอกต่อว่าวันนี้การวิจัยของหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) ซึ่งศึกษาลักษณะทางพันธุศาสตร์ของความทนแล้งในข้าว ร่วมกับกรมการข้าว และหน่วยงานวิจัยข้าวในต่างประเทศในรูปเครือข่ายการวิจัย ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวจนได้ผลในระดับที่น่าพอใจ

          กลุ่มผู้วิจัยพบว่าลักษณะที่เกื้อกูลให้ข้าวทนแล้งมียีนที่ควบคุมกระจายในทุกๆ โครโมโซมของข้าวและไม่มียีนใดเป็นยีนที่สําคัญ แต่เป็นการทํางานร่วมกัน และยังพบว่าในบางตําแหน่งของโครโมโซมมียีนที่ควบคุมหลายๆ ลักษณะของความทนแล้งอยู่ด้วยกัน โดยโครโมโซมที่ 1, 3, 4, 8 และ 9 เป็นตําแหน่งที่น่าจะนํามาใช้ศึกษาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนแล้ง

          การพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้ง เน้นข้าวนาน้ำฝน คือพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข6 โดยคงคุณภาพการหุงต้มที่ดีของพันธุ์เดิมไว้ ใช้วิธีการถ่ายทอดความต้านทานบนโครโมโซมที่ 1, 3, 4, 8 และ 9 จากพันธุ์ทนแล้งไปสู่พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข6 โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการผสมกลับ (Marker assisted backcrossing) ปัจจุบัน ได้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข6 ที่ปลูกในสภาพแล้ง แล้วให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม และมีคุณภาพการหุงต้มใกล้เคียงกับพันธุ์เดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในไร่นาเกษตรกรและการผนวกความต้านทานต่อโรคไหม้

          "บางส่วนเราเริ่มทำตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ทางอีสานเราลองนำพันธุ์ข้าวที่ทนแล้งทนน้ำท่วมลงไป โดยส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ อย่างเช่น กรมการข้าว มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยอุบลฯ มหาวิทยาลัยพะเยา หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ทำงานร่วมกัน 

          งานที่เราทำร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลฯและราชมงคลล้านนาในเวลานี้  คือเราลงพื้นที่ในอีสานชายขอบแม่โขงก็ค่อนข้างจะปรับตัวได้ดีและคงใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อดูว่าความสามารถในการปรับตัวเป็นยังไง เพราะเมื่อปีที่เราลงพื้นที่ อาจจะไม่เจอแล้ง อาจจะไม่เจอน้ำท่วม ทางชาวบ้านเขาก็ยังไม่เห็นว่ามันดีกว่าของเดิมยังไง"

          แม้ว่าในพื้นที่จริงจะยังไม่เห็นความแตกต่างชัดเจน แต่ในงานวิจัยเชิงลึก ดร.ธีรยุทธ อธิบายว่า การทนแล้งมีหลายระยะ ในแต่ละระยะจะมีความสามารถไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะทนแล้งระยะกล้า หมายความว่าถ้าขาดน้ำแล้วพืชก็จะสามารถเจริญเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น 

          “หรือแล้งในสภาพไร่หรือแล้งในสภาพนาพืชก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป อย่างเช่นถ้าปลูกเป็นข้าวไร่ก็จะต้องทำข้าวไร่ให้รากมันยาวขึ้นไปหาน้ำใต้ดินได้มากขึ้น มันก็จะมีโอกาสทนได้มากขึ้น แต่ว่าถ้าน้ำไม่มีเลย รากยาวก็มีประโยชน์ใช่ไหม หมายความว่าพืชก็มีกระบวนการการรักษาน้ำภายในต้น หรือพบมากที่สุดคือการคายน้ำให้น้อยที่สุด ก็ยังเห็นActivityของการทำงานในต้นได้ ยังสามารถให้ผลผลิตได้ อย่างนี้เป็นต้น”

          อย่างไรก็ตาม การเกิดสภาพแล้งในปลายฤดูในระยะที่ข้าวกำลังตั้งท้องหรือกําลังออกรวงจะมีผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากที่สุด อาจทําให้ผลผลิตข้าวลดลงเล็กน้อยจนถึงไม่ได้ผลผลิตข้าวเลย ขึ้นอยู่กับความยาวนานของความแห้งแล้งนั้น งานวิจัยที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่ระยะดอก หรือระยะที่สร้างผลผลิตเพื่อลดการสูญเสีย 

          “อย่างพันธุ์ที่ออกไปไม่ว่าจะเป็น หอมวาริน ที่ปลูกในอีสาน ณ เวลานี้ก็จะรักษาผลผลิตได้ดีกว่าพันธุ์เดิมๆ ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จไหม ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับในพื้นที่ต่างๆ เรามีพันธุ์ข้าวที่ออกมาที่ใช้ได้และคุณภาพดี”

          แม้ว่าจะอยู่ในระยะทดลองแต่ข้าวทนแล้งก็น่าจะเป็นความหวังที่จับต้องได้ของเกษตรกรไทยท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก เป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมจากการงดทำนาปรังหรือต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชน้ำน้อยชนิดอื่น และเป็นแนวทางที่บอกว่าประเทศนี้ยังสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์

          "ผมคิดว่างานที่เราทำเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าทนร้อนทนหนาวมีความจำเป็นแน่ๆ ในอนาคต ในการทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นถ้าเร่งเวลาก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าทางด้านดีเอ็นเอที่ทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้นรือแม้แต่ทางด้านการมอนิเตอร์การตรวจสอบที่จะช่วยเร่งงานเหล่านี้ให้เร็วยิ่งขึ้น   แล้วก็ผมคิดว่าเมืองไทยเราคงไม่มองในแง่ของนโยบายแล้ว แต่มองในแง่คุณภาพข้าว เพราะฉะนั้นข้าวในอนาคต นอกจากจะทนทานอะไรต่างๆ ก็ต้องมีคุณค่าทางอาหาร ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการ มีคุณภาพที่ดี ก็อยากฝากทางภาครัฐให้สนับสนุนให้มีการวิจัยเรื่องพันธุ์ข้าวต่อไป"

กรองน้ำใส ต้านภัยแล้ง

          น้ำแล้งไม่ได้มีน้ำตาของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้กับคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาล เนื่องจากผลกระทบที่ตามมาจากภัยแล้ง ก็คือแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำบางแห่งตื้นเขินแห้งขอดจนอาจเกิดตะกอน ทำให้มีสีและกลิ่นปนเปื้อนมากับระบบผลิตน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าโรงพยาบาลต่างๆ จะมีระบบ resin และ UV ในการพัฒนาคุณภาพน้ำอยู่แล้วในภาวะปกติ แต่เมื่อเกิดภัยแล้งรุนแรงดูเหมือนว่าเครื่องมือที่มีอยู่จะ“เอาไม่อยู่”เสียแล้ว

          การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำจึงเป็นผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่ยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จามร เชวงกิจวณิช นักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่าเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนนี้ พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยแห่งชาติสองแห่งคือ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) 

          ทั้งนี้ นักวิจัยจากนาโนเทคจะดูแลรับผิดชอบในส่วนของเทคโนโลยีการกรองน้ำและไส้กรองน้ำนาโน (nanofilter and water filtration system) ในขณะที่นักวิจัยจากเนคเทคจะดูแลรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีระบบควบคุมอัตโนมัติ(embeded controlled system) และระบบพลังงานของเครื่องกรองน้ำ เพื่อให้เกิดการเลือกใช้แหล่งพลังงานระหว่างไฟบ้านและพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถช่วยกรองตะกอนหยาบ ตะกอนละเอียด สี กลิ่น โลหะหนัก และแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาคุณภาพน้ำที่ใช้ในโรงพยาบาลที่มีปัญหามากในช่วงหน้าแล้งลงได้ โดยตัวเครื่องมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 7 คิวต่อวัน 

          “เครื่องกรองน้ำฯ ใช้ระบบกรองหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้น้ำสะอาดในภาวะภัยแล้ง มีการนำไส้กรองน้ำนาโนจำนวนสองชนิดมาใช้ร่วมภายในเครื่องเดียว คือ ไส้กรองคาร์บอนนาโน ซึ่งเป็นไส้กรองน้ำนาโนตัวใหม่ที่ทางทีมวิจัยพัฒนาขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการดูดซับสารปนเปื้อนประจุบวกและลบในน้ำได้ดีกว่าไส้กรองคาร์บอนทั่วไป และไส้กรองน้ำนาโนเซรามิกซิลเวอร์ ที่สามารถช่วยลดการสะสมเชื้อโรคบนผิวไส้กรอง และช่วยให้อายุการใช้งานของไส้กรองนานขึ้นกว่าไส้กรองน้ำเซรามิกทั่วไป”

          แม้ว่าปัจจุบันเครื่องกรองน้ำเทคโนโลยีนาโนนี้จะยังไม่สามารถผลิตได้ครอบคลุมความต้องการใช้งานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่ก็ได้มีการส่งมอบให้โรงพยาบาลจันทรุเบกษา อำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม นำไปเป็นเครื่องมือเสริมเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำใช้ของโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าสามารถแก้ปัญหาเรื่องสีและกลิ่นที่ปนเปื้อนในน้ำได้เป็นอย่างดี

           ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีปัญหาภัยพิบัติต่างๆ อย่างปัญหาภัยแล้งขณะนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์นาโนเทคมีโครงการวิจัยมุ่งเป้าในด้านน้ำสะอาด หรือ Clean Water Flagship ที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านวิชาการและด้านสังคม เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาสำคัญของสังคมโดยรวม

           "เรามีการวิเคราะห์ว่านาโนเทคโนโลยีสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใดได้บ้าง แล้วก็พบว่าเรื่องที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดเลยทางด้านน้ำมี 2 อย่าง หนึ่งคือความสามารถในการกรอง ตัวแผ่นกรองเนี่ย นาโนเทคโนโลยีทำให้การกรองละเอียดมากขึ้น ในขณะเดียวกันสามารถที่จะออกแบบเป็นชั้นๆ แล้วทำให้พลังงานที่ใช้ในการกรองลดลง ก็จะช่วยประหยัดไฟ แล้วต่อมาเรายังสามารถจะทำให้แผ่นกรองมันไม่ตัน เนื่องจากสาเหตุสำคัญในประเทศอย่างเราซึ่งเป็นประเทศเขตร้อน มันจะมีเชื้อต่างๆ ไปเกาะตามแผ่นกรอง พอเกาะปุ๊บก็ทำให้รูมันเล็กลงไปเรื่อยๆ มันก็จะตันง่าย ถ้าเราใส่อนุภาคนาโนเข้าไปก็จะทำให้การตันมันตันน้อยลง 

           เพราะฉะนั้นสิ่งที่นาโนเทคทำไปเยอะมากใน Flagship Clean Water คือการพัฒนาแผ่นกรองใหม่ที่มีศักยภาพสูงขึ้น นั่นเป็นเรื่องนึง เรื่องที่สองก็คือว่า การที่แผ่นกรองมันมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมันทำให้เราไม่ต้องใช้พลังงานเยอะๆ พอไม่ใช้พลังงานเยอะๆ เครื่องกรองสมัยใหม่ที่เราทำอยู่ก็สามารถที่จะกรองโดยใช้พลังงานเช่นจากแบตเตอรี่ได้ ไม่ได้ต้องใช้ไฟแรงสูง แล้วยิ่งดีมากกว่านั้นอีกคือใช้แผงโซลาร์เซลล์ก็กรองได้ประสิทธิภาพเท่ากัน"

          ที่สำคัญในระบบการกรองนอกจากจะสามารถนำเกลือออกจากน้ำซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหน้าแล้งแล้ว ยังสามารถกรองโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาในน้ำ เช่น แคดเมี่ยม สังกะสี สารหนู ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อปริมาณน้ำลดน้อยลงด้วย

          “ประการสุดท้ายก็คือ เรื่องเซนเซอร์ที่่จะตรวจวัดคุณภาพน้ำ เรามีตัวเซนเซอร์ที่่จะบอกว่าน้ำที่ออกมามีคุณภาพดีมั้ย มีสารต่างๆ เจือปนมากเท่าไหร่ นี่ก็เป็นกรอบหลักๆ ของ Flagship Clean Water ที่ทำอยู่”

          สำหรับก้าวต่อไปในการทำให้งานวิจัยรับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่าจะต้องมีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง และมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการขยายผล 

         “ณ ขณะนี้เราได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีของไส้กรองให้เอกชนและภาคอุตสาหกรรมเข้าไปสู่กระบวนการผลิต เราคิดว่าในประเทศไทยมีผู้ที่ทำงานเรื่องตัวเครื่องกรองมาเยอะแล้ว สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือตัวไส้กรองนาโนประสิทธิภาพสูง ดังนั้นวิธีการที่จะทำตอนนี้คือเราร่วมกับบริษัทเอกชนและอุตสาหกรรมผลิตไส้กรอง แล้วเราคิดว่าไส้กรองที่ว่านี้ในที่สุดก็จะเข้าไปอยู่ในเครื่องกรองต่างๆ ทั้งเครื่องกรองที่มีอยู่แล้วและเครื่องกรองที่จะผลิตต่อไป”

          ทั้งหมดนี้คือความพยายามที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแก้โจทย์ยากเรื่องภัยแล้ง ซึ่งในมุมของนักวิทยาศาสตร์ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การวางแผนและเตรียมความพร้อมในการรับมือ ไม่ใช่ตามแก้ปัญหา ซึ่งมากกว่านั้นจำเป็นต้องเสริมความรู้สร้างศักยภาพให้กับชุมชน

         “วิทยาศาสตร์น่าจะดีในแง่ของการจัดการน้ำในระดับชุมชน ก็คือให้ชุมชนเขามีความรู้และมีข้อมูล อย่างในแต่ละปีก็แล้งไม่เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าให้ชุมชนจัดการตัวเองได้ ก็จะรู้ว่าปีต่อไปสภาวะจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วชุมชนควรที่จะสามารถเลือกเทคโนโลยีที่่เหมาะสมเข้ามาได้ โดยพอมีความรู้แล้วภาครัฐไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยจัดการในทุกครั้ง ชุมชนน่าจะเตรียมตัวได้ก่อนแล้ว” 

          ขณะเดียวกันนวัตกรรมเพื่อรับมือภัยพิบัติต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และผลักดันให้เป็นทางเลือกในการเดินออกจากวังวนของปัญหาแบบเดิมๆ