วิธีรับมือไข้หวัดด้วยธรรมชาติ

 วิธีรับมือไข้หวัดด้วยธรรมชาติ

นักวิชาการ มน. แนะ วิธีรับมือไข้หวัด อากาศเปลี่ยน ด้วยวิธีธรรมชาติชี้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง

นักวิชาการ มน. แนะ วิธีรับมือไข้หวัด อากาศเปลี่ยน ด้วยวิธีธรรมชาติชี้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง

นินนาท อินทฤทธิ์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ วิธีการรับมือไข้หวัด ด้วยวิถีธรรมชาติ จะช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเอง และสามารถเพิ่มศักยภาพในการป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง ถึงแม้อาจจะเห็นผลไม่รวดเร็วเหมือนการรับประทานยาแผนปัจจุบัน


ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในทั่วทุกภูมิภาค โรคหวัดจึงเกิดกับคนที่สภาพร่างกายปรับตัวไม่ทัน ซึ่งสามารถติดต่อโดยการไอ จามใส่กัน และที่สำคัญ คือ ติดต่อทางมือที่ไปแตะโดนเชื้อไวรัสจากคนอื่นหรือสิ่งของเครื่องใช้ ทำให้เกิดการติดเชื้อหวัดได้
อาจารย์นินนาท เปิดเผยว่า โดยทั่วไปในการป้องกันไข้หวัด ควรทำให้ร่างกายของเราอบอุ่นด้วยการดื่มน้ำอุ่น นมอุ่น หรือน้ำขิง ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด คลุมทั้งแขนและขา เพื่อให้ลมหรือความเย็นเข้าสู่ร่างกายได้ยาก นอกจากนี้คนโบราณมีวิธีในการป้องกันอาการเจ็บคอ ด้วยการกลั้วปากและลำคอด้วยน้ำเกลือเล็กน้อยบ่อย ๆ จะช่วยลดและกำจัดเชื้อโรคในลำคอได้ รวมทั้งเลือกรับประทานสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อาทิ มะขามป้อม สมุนไพรไทยผลสีเขียวอ่อน รสฝาด ซึ่งมะขามป้อมลูกเล็กๆ 1 ผล จะมีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากับส้ม 1-2 ผล หากมีอาการของหวัด มีน้ำมูกใสๆไหลออกมา


เมื่อต้องการไล่หวัดออกจากตัว ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เช่น พริกไทย ขิงสด กระเทียม เป็นต้น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหลก็จะบรรเทาลง หากไอและมีเสมหะร่วมด้วย สามารถนำมะนาวหรือมะแว้ง มาทำให้ชุ่มคอ ลดอาการไอ และขับเสมหะ โดยใช้ผลสดคั้นน้ำเข้มข้น ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย จิบหรือดื่มบ่อยๆก็ได้ หรืออาจนำเนื้อฝักแก่ของมะขามที่มีรสเปรี้ยวมาจิ้มเกลือ รับประทานพอสมควรก็ได้ เนื่องจากมะขามมีกรดอนินทรีย์เป็นส่วนประกอบ ทำให้มีฤทธิ์ระบายและลดความร้อนของร่างกาย นอกจากนี้ยังสามารถนำหอมแดงมาทุบพอประมาณ แล้วใส่ในถ้วยมาวางไว้ใกล้ ๆ เวลานอน ก็จะทำให้หายใจสะดวกมากขึ้น หากยังมีอาการไอหลงเหลืออยู่ ทั้งไอแบบแห้งๆและไอแบบมีเสมหะ สมุนไพรที่ช่วยละลายเสมหะนอกเหนือจากมะนาว มะแว้ง และเนื้อฝักมะขามแก่ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ได้แก่ ผิวเปลือกส้ม ผลดีปลี ผลบ๊วย ใบเสนียด เมล็ดเพกา เป็นต้น หลังจากที่เสมหะน้อยลงจนเหลือแต่อาการไอแห้ง ๆ จึงค่อยกินอาหารที่ช่วยลดอาการไอ เช่น เม็ดเอพริคอต แปะก๊วย จะช่วยบรรเทาอาการไอให้หายเร็วยิ่งขึ้น


อีกวิธีการหนึ่งที่แนะนำ คือ การอบไอน้ำสมุนไพรประมาณ 15-30 นาที โดยใช้สมุนไพรที่ให้น้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล ว่านน้ำ ว่านมะกรูด ตะไคร้ ใบส้มป่อย เป็นส่วนประกอบ เมื่อสูดดมเข้าไปสามารถฆ่าเชื้อโรค แก้หวัด คัดจมูก ทำให้จมูกโล่ง ระบบการหายใจดีขึ้น (การอบไอน้ำสมุนไพรห้ามทำขณะที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) ในระหว่างนี้ ควรงดเว้นอาหารมัน และหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง หากอาการติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หรืออาการเริ่มไม่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้รีบไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรหรือวิธีทางธรรมชาติในการบรรเทาหวัดอาจจะเห็นผลไม่รวดเร็วเหมือนการรับประทานยาแผนปัจจุบัน แต่สามารถเพิ่มศักยภาพในการป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ทำให้เราเจ็บป่วยน้อยลง