เพิ่มหมวดปฏิรูป

 เพิ่มหมวดปฏิรูป

แนวทางเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญมายังครม. มีทั้งหมด 11 ประเด็น หนึ่งในนั้น คือ ให้เพิ่มหมวดปฏิรูปไว้เป็นการเฉพาะ

กรณีคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดกรอบประเด็นความคิดให้กระทรวงและหน่วยงานไปพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญมายังคณะรัฐมนตรี มีทั้งหมด 11 ประเด็น ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ให้เพิ่มหมวดปฏิรูปไว้เป็นการเฉพาะเพื่อความชัดเจน 

ล่าสุด "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ออกมาเปิดเผยว่า ข้อเสนอให้มีหมวดปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญนั้น เห็นหลายฝ่ายออกมาขานรับ ซึ่งรัฐบาลจะเสนอในส่วนนี้ด้วย

และในเรื่องนี้ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็มีท่าทีขานรับ โดยให้สัมภาษณ์ว่า หากมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มเป็นหมวดปฏิรูป ก็ไม่มีปัญหาอะไร  สำหรับเหตุที่ในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น ที่กรธ.ไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้นั้น เพราะต้องรอความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะรัฐมนตรีก่อน ว่ามีความเห็นประเด็นปฏิรูปในเรื่องอะไรบ้างและมีอะไรที่เหมือนกันหรือซ้อนกันหรือไม่ 

สำหรับเรื่อง "เพิ่มหมวดปฏิรูป" ได้มีเสียงสะท้อนจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ( สปท.) ที่่น่าสนใจดังนี้  

"เสรี สุวรรณภานนท์" ประธานกมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการบรรจุหมวดปฏิรูป เนื่องจากวาระการปฏิรูปเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้ได้ทุกเวลาอย่างถาวร หากเพิ่มเป็นหมวดในเนื้อหาหลักก็จะกลายเป็นข้อผูกมัดในรัฐธรรมนูญ 

"ทั้งนี้หากจะระบุเพิ่มเติมในเรื่องนี้จริงๆ ควรบัญญัติในบทเฉพาะกาลว่าจะปฏิรูปเรื่องใดบ้าง เหมือนอย่างที่ สปท. กำลังจะเสนอ และต้องมีระยะเวลาอย่างไร เพราะเรื่องการปฏิรูปเป็นเรื่องของช่วงเวลา โดยปกติแล้วจะมีวาระการดำเนินงาน 1-2 ปี ทั้งนี้หากใช้เวลาปฏิรูปนานเช่น 20 ปี ก็ควรจะระบุลงในกฎหมายทั่วไป การที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องปฏิรูป หากแต่ต้องการให้รัฐธรรมนูญใช้ได้กับทุกกาลเวลา และสามารถอยู่ได้อย่างยาวนานและยั่งยืน หากมีการระบุเพิ่มหมวดดังกล่าวก็อาจจะทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาในภายภาคหน้าได้" 

ขณะที่"สมพงษ์ สระกวี"  สปท . บอกว่า  การจะเพิ่มหมวดปฏิรูปก็เป็นการอะลุ้มอล่วยกันระหว่าง สปท. กับ กรธ. แต่ที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็ดี สามารถแก้ไขปัญหาได้บ้างเป็นบางส่วน

"ส่วนที่สำคัญคือเรื่องปฏิรูปที่จะต้องทำให้อย่างต่อเนื่องโดยทาง กรธ.ได้รับหลักการเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการปฏิรูปก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องกัน ส่วนรูปแบบการบัญญัติ ก็ต้องระบุว่าปฏิรูปในเรื่องใดที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนบ้าง และมีระยะเสร็จภายในกี่ปี โดยปกติแล้วการดำเนินงานเรื่องต่างๆคงใช้ระยะไม่เกิน 1-2 ปี ส่วนเรื่องที่เหลือก็ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มารับช่วงต่อไป" 

"วิทยา แก้วภราดัย"สปท.ด้านการเมืองกล่าวว่า จริงๆในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีเรื่องการปฏิรูปอยู่แล้ว ซึ่งได้เว้นช่องไว้ถึง 2 เรื่องเพื่อให้ สปท. ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะหรือร่างกฎหมายเพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นการเปิดช่องไว้เพื่อรับฟัง ซึ่งสปท. ไม่ได้ผูกขาดในการเติมเรื่องนี้ลงไป แต่ว่าจะรับฟังจากภาคส่วนอื่นด้วย 

อย่างไรก็ตาม "ผู้เขียน" เห็นว่า "การปฏิรูป" เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเหตุผลหนึ่งที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ ก็เพื่อต้องการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น ควรมี "หมวดว่าด้วยการปฏิรูป" ขึ้นมาโดยเฉพาะว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้มีการเดินหน้าปฏิรูปอย่างจริงจัง