จี้ข้าราชการ6หมื่นราย เร่งคืนหนี้'กยศ.'

จี้ข้าราชการ6หมื่นราย เร่งคืนหนี้'กยศ.'

ประธาน "กยศ." จี้ทุกส่วนราชการเร่งสำรวจบุคลากรในสังกัดค้างหนี้เงินกู้กยศ. ส่งหนังสือเปิดโอกาสแสดงความจำนงเข้าชำระหนี้ภายใน 15 ก.พ.นี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกยศ. เปิดเผยว่า ตนได้ส่งหนังสือไปยังทุกส่วนราชการ ซึ่งรวมถึง รัฐวิสาหกิจทุกแห่งเพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบรายชื่อว่า มีข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดของตนเองเป็นบุคคลที่ค้างชำระหนี้เงินกู้แก่กยศ.หรือไม่ หากพบว่า มี ขอให้แจ้งบุคคลนั้นๆ เพื่อเข้ามาทำข้อตกลงในการชำระหนี้ โดยขอให้แจ้งความจำนงภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จากนั้น จะมีการลงนามทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันไม่เกินปลายเดือนมี.ค.นี้ โดยกยศ.จะให้เวลาในการเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลค้างชำระหนี้เงินกู้กยศ.จะพบว่า มีผู้ค้างชำระหนี้กยศ.จำนวนประมาณ 2 ล้านราย จากผู้กู้ทั้งหมด 4.5ล้านราย ในจำนวนผู้ค้างชำระนี้ เป็นผู้ค้างชำระที่เป็นข้าราชการทั้งหมด 6 หมื่นราย ในจำนวนนี้ประมาณ 1 พันราย เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง และ ในจำนวนข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังที่ค้างชำระหนี้ เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากรประมาณ 700 ราย

“ในฐานะที่ผมเป็นปลัดกระทรวงการคลังและเป็นประธานกยศ.ผมตั้งเป้าจะให้ข้าราชการในสังกัดที่ค้างหนี้กยศ.จำนวน 1 พันรายจะต้องไม่เป็นผู้ค้างหนี้ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในแง่การดำเนินงานติดตามหนี้เงินกู้นั้น เราก็ได้ทำปูพรมไปทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนแห่งต่างๆด้วย”

เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมายกองทุนเพื่อการศึกษา มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมหนี้กยศ. โดยกำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างที่ค้างชำระหนี้เงินกู้กยศ.เพื่อนำส่งให้กยศ.ผ่านกรมสรรพากรพร้อมกันกับการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

ปัจจุบันสถานการณ์การชำระหนี้ของผู้กู้ค้างชำระหนี้กยศ.ดีขึ้นตามลำดับ โดยปี 2556 ยอดชำระหนี้อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2557 ยอดชำระหนี้อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และ ปี 2558 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าการชำระหนี้ปี 2559 อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับจำนวนผู้กู้เงินกยศ.มีจำนวน 4.5 ล้านราย วงเงิน 4 แสนล้านบาท มีผู้กู้ที่ถึงกำหนดชำระจำนวน 3.1  ล้านราย ในจำนวนนี้ มีผู้กู้ค้างชำระ 2 ล้านราย มูลหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ผู้กู้ค้างชำระทั่วไปจำนวน 1.2 ล้านราย มูลหนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท , ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยจำนวน 1 แสนราย มูลหนี้ 7 พันล้านบาท และ ผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวน 7 แสนราย มูลหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนแผนการปล่อยกู้ปี 2559 โดยผู้กู้เป้าหมายมีจำนวน 6.7 แสนราย แบ่งเป็น ผู้กู้รายเก่า 4.7 แสนราย รายใหม่ 2  แสนราย รวมเป็นวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับผู้กู้ที่ศึกษาในระดับมัธยมปลายถึงปริญญาตรีต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยที่ 2.00 และ ต้องทำโครงการเพื่อสังคมจำนวน 36 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้กู้ที่ศึกษาในระดับอาชีวะศึกษา ไม่ต้องมีเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าว

สถานการณ์การชำระหนี้เงินกู้กยศ.ที่ดีขึ้น เป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อติดตามหนี้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งหนี้เป็นระยะ ติดตามหนี้ ออกมาตรการจูงใจในการชำระหนี้ และเพิ่มช่องทางการชำระหนี้ โดยในส่วนการเพิ่มช่องทางการชำระหนี้นั้น ในปี 2557 กยศ.ได้เพิ่มช่องทางการชำระผ่านไปรษณีย์ ปี 2558 ได้เพิ่มช่องทางชำระผ่านเคาวน์เตอร์เซอร์วิส 

เขากล่าวต่อว่า ส่วนปีนี้ มีแผนร่วมกับองค์กรนายจ้างให้หักเงินจากบัญชีเงินเดือนของลูกจ้าง เพื่อนำส่งแก่ กยศ. โดยปีนี้ จะได้นำร่องกับ 4 องค์กรนายจ้าง อาทิ ม.นเรศวร , วิทยาลัยเทคโนภาคตะวันออก เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน กยศ.ยังได้ว่าจ้างบริษัทติดตามหนี้ ซึ่งก็ถือว่า ได้ผลดี โดยปี 2557 มียอดติดตามหนี้ได้ 800 ล้านบาท ปี 2558 มียอดติดตามหนี้ได้ 1.7 พันล้านบาท สำหรับปี 2559 คงจะได้มากกว่านี้