สกว.จัดประชุมระดมความเห็นแก้ปัญหาที่ดินหาดราไวย์

สกว.จัดประชุมระดมความเห็นแก้ปัญหาที่ดินหาดราไวย์

สกว.จัดประชุมระดมความเห็นแก้ปัญหาที่ดินหาดราไวย์ แนะเบื้องต้นดูแลระบบสาธารณูปโภค เร่งรัดเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชน

ปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย เป็นอีกตัวอย่างของ “ความขัดแย้งในสังคมไทย” หลายพื้นที่ ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากการมอง “สิทธิในที่ดิน” ที่แตกต่างกันของรัฐ กลุ่มธุรกิจเอกชน และประชาชนที่เดือดร้อน จึงทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเพื่อยุติความขัดแย้งไว้ชั่วคราวแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง รวมถึงการขาดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะเป็นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งทำให้สูญเสียประโยชน์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ดังนั้น เพื่อเป็นการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างยั่งยืน ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  จึงได้จัดเวที เสวนานำเสนองานวิจัย “ทางออกปัญหาที่ดินหาดราไวย์ : การปฏิรูประบบการออกเอกสารสิทธิ์ ขึ้น โดยมี รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว.นายไพสิฐ พานิชกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดลผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดินนางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทนายคมสัน หลงละเลิง หัวหน้าโครงการวิจัยฯบ้านควน และนายกิตติพงษ์ ผลประยูร ที่ดินจังหวัดตรัง ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน

สำหรับเวทีเสวนาดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลและชุดความรู้ที่ได้จากการทำ “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” 2 โครงการ คือ 1.งานวิจัยด้านการจัดการที่ดินพื้น จ.ภูเก็ต ที่มีพื้นที่กรณีหาดราไวย์ร่วมอยู่ด้วยภายใต้ชุดโครงการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดิน/ที่อยู่อาศัยของชุมชนอย่างยั่งยืน 2.โครงการวิจัยกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

โดย รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า เรื่องของที่ดินเป็นเรื่องสำคัญอีกประการ ที่ สกว.ให้การสนับสนุนศึกษาวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยประเด็นความเลื่อมล้ำในที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมาสู่เรื่องความขัดแย้ง และก่อให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาอื่นๆตามมา นอกจากนี้ งานวิจัยก่อให้เกิดความรู้ 2 ลักษณะ คือ ความรู้แนวราบซึ่งเป็นความรู้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างพื้นที่กับพื้นที่ ชุมชนกับชุมชน และความรู้แนวดิ่ง ที่เป็นข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งผ่านการค้นคว้าข้อมูล และหลักฐานต่างๆมาประกอบเพื่อใช้ในการอ้างอิงในการแก้ปัญหาต่อไป

ด้าน ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า งานวิจัยด้านการจัดการที่ดินพื้น จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิม และการนำสู่การแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  

โดยยืนยันว่า ชาวเลเข้ามาอาศัยในหาดราไวย์อยู่มากว่า 300 ปี มีวิถีชีวิตด้านการทำประมงดั้งเดิม ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและพิธีกรรมซึ่ง “ชาวเลชุมชนราไวย์” มี 2 กลุ่มคือ มอแกน และอุรักลาโว้ย ข้อมูลจากเอกสารมีความเชื่อกันว่า บรรพบุรุษย้ายมาจากต้อนใต้ของคาบสมุทรมลายู ซึ่งปัจจุบันเป็นดินแดนของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย

แต่การพัฒนาภูเก็ตให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้สภาพทางสังคม ชุมชนบ้านราไวย์ เปลี่ยนแปลงไปด้วย เกิดปัญหาทางโครงสร้าง และมีความซับซ้อนซึ่ง สะสมมาหลายรัฐบาล ขณะที่ปัจจุบันชาวเลราไวย์เป็นผู้ไร้สิทธิในที่ดินจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน โดยการกำหนดให้เป็นไปตามเอกสารทางราชการ และถูกดำเนินการฟ้องร้องกว่า 100 ราย  

“ภายใต้ความสวยงาม ถูกซุกซ้อนความมืดมน....ชุมชนชาวเลราไวย์ กว่า 200 ครอบครัว ดำเนินชีวิตโดยไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะค่าไฟสูงกว่าค่าไฟปกติกว่า 3 เท่า หรือมากกว่านั้น บางครอบครับใช้ไฟเพียง 2 ดวง แต่ต้องจ่ายค่าไฟถึงเดือนละ 1,500 บาท ในขณะที่ห้องน้ำ สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันมีไม่ถึงร้อยละ 30”

ทั้งนี้ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เสนอแนวทางการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลราไวย์ ในเบื้องต้นว่า ให้มีการบรรเทาในเรื่องระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการเร่งรัดเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชนบางส่วน และมีมาตรการคุ้มครองพื้นที่พิธีกรรม และพื้นที่ทางจิตวิญญาณญาณ ตลอดจนการเยียวยาชาวเลราไวย์บนฐานที่ถูกกระทำมายาวนาน และการจัดระบบที่ดินเป็นพื้นที่โฉนดรวม หลังจากการเพิกถอนเอกสารสิทธ์ของเอกชน เพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเลในอนาคต

ขณะที่นายคมสัน หลงละเลิง กล่าวว่า วิธีวิจัยทำให้ชาวบ้านควนต้องมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของชุมชน การสืบค้นข้อมูลเอกสารจากการจัดตั้งตรังเป็นมณฑลเทศาภิบาลภูเก็ตตั้งแต่ ปี 2473 และได้มีคำสั่งให้สำรวจที่และการประกาศพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ทำกินของชาวบ้าน จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนนำไปสู่ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ศึกษาข้อกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การศึกษาการต่อสู้ร่วมกันของชาวบ้านควน

“18-19 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านควนผ่านกระบวนการเรียนรู้มากมาย มีการปรับกระบวนการทำงาน ปรับยุทธศาสตร์ ในการต่อสู้ ต่อรองกับผู้รับผิดชอบหรือส่วนราชการที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในตำแหน่งต้องมีการมาเริ่มทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลใหม่ ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง”

นายคมสัน กล่าวอีกว่า งานวิจัยของชาวบ้านที่ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของปัญหาเป็นนักวิจัยเองและเกิดทางออกทางคลี่คลายของปัญหาได้อย่างดี รูปธรรม คือ ชาวบ้านมีโฉนดที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของตนเอง โดยปัจจุบันสำนักงานที่ดินจ.ตรังได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ชาวบ้านแล้วจำนวน 59 ราย 176 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,574 ไร่ หรือ เท่ากับร้อยละ 45

ในส่วนของนักวิชาการ อาจารย์ไพสิฐ กล่าวว่า กรณีบ้านควนถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการเกิดความเหลื่อมล้ำของคนระดับล่างอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมในด้านสิทธิพื้นฐานที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แม้งานวิจัยจะทำให้เกิดผลที่ไม่สำเร็จ 100% แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญให้กับพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาลักษณะใกล้เคียงกันได้ และโครงการนี้ที่ทำขึ้นก็เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน รู้จักการตื่นตัวในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและเรียกร้องรักษาสิทธิที่ดินทำกันของตนเองด้วยข้อมูลความรู้ซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี งานวิจัยทั้ง 2 โครงการของ ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. น่าจะใช้เป็นต้นแบบของรัฐในแนวทางการจัดการปัญหาด้านการจัดการที่ดินทำกินที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการเรื่องที่ดีของรัฐ กับ การปฏิรูปที่ดิน และการออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อขจัดปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน