ศาลแจง'ดลฤดี'เบี้ยวหนี้กว่า 47 ล้าน ต้องมาศาลวันนัด14 มี.ค.

ศาลแจง'ดลฤดี'เบี้ยวหนี้กว่า 47 ล้าน ต้องมาศาลวันนัด14 มี.ค.

โฆษกศาลยุติธรรมระบุทพญ.เบี้ยวคืนทุนpอดหนี้กว่า47ล้านบ. ต้องมาศาลวันนัดพิจารณา14มี.ค.นี้ ตามขั้นตอน หลังม.มหิดลฟ้องศาลฯสั่งยึดทรัพย์ตามหนี้

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีล้มละลายที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ยื่นฟ้อง ทันตแพทย์หญิง ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐฯ แล้วไม่ยอมกลับมาใช้ทุนคืน  แต่กลับไปทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่สหรัฐฯ ว่า คดีดังกล่าว ม.มหิดล เป็นโจทก์ที่ 1 และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เป็นโจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้อง น.ส.ดลฤดี ผู้รับทุน เป็นจำเลย ต่อศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขดำ ล.3603/2558 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.58 โดยมีมูลหนี้ทั้งหมดให้รับผิดตามสัญญาคือ 1.สัญญาการเป็นนักศึกษา ม.มหิดล เพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทย์ศาสตร์  2.สัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมที่ต่างประเทศ และ 3.สัญญารับทุนรัฐบาล(ทบวงมหาวิทยาลัย)เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศ ซึ่งคดีล้มละลายนี้ สืบเนื่องจากเป็นคดีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว รวมยอดหนี้ทั้งสิ้น 47,853,435.88 บาท   

โดยศาลได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 14 มี.ค.นี้  เวลา 09.00 น. ซึ่งฝ่ายโจทก์และจำเลยต้องมาศาลตามนัด ซึ่งหากจำเลยเดินทางมาศาลต่อสู้คดีก็ต้อง พิจารณาไปตามกระบวนการ

แต่หากจำเลยไม่มา ศาลจะมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาและดำเนินคดีไปฝ่ายเดียว ซึ่งศาลจะนำความจริงมาพิจารณาว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ และมีหนี้สินจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทหรือไม่ 

นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อศาลพิจารณาแล้วเสร็จก็จะมีคำสั่งว่าจะพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต่อจำเลยหรือไม่ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการในเรื่องของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ซึ่งในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะมีการประชุมเจ้าหนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับการประนอมหนี้ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะมีผลย้อนหลังมาถึงวันที่พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 

หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการในเรื่องที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกำหนดเวลา 2 เดือน แล้วมีการพิจารณาคำขอชำระหนี้ไปตามลำดับ เมื่อเสร็จแล้วกระบวนการที่สำคัญคือการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยซึ่งศาลจะต้องออกหมายเรียกจำเลย ให้มาศาลเพื่อสอบถามถึงมูลเหตุที่ทำให้ตกเป็นหนี้ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่าเพราะเหตุใดถึงไม่มีทรัพย์สินในการชำระหนี้ แต่ถ้าจำเลยไม่มาศาลก็ถือเป็นการขัดขืนหมายเรียก ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้ออกหมายจับ ทั้งนี้หลังจากผ่านกระบวนการในการขอรับชำระหนี้ และศาลได้พิพากษาจนตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จากนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี 

ส่วนกรณี จะพ้นเป็นบุคคลล้มลายได้ ก็ต้องทำเรื่องประนอมหนี้หรือศาลสั่งมีคำสั่งยกเลิกเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามกฎหมายหรือศาลมีคำสั่งปลดต่อการล้มละลายหรือลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อครบ 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เว้นแต่กรณีลูกหนี้ทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับคดีล้มละลายนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล โดย นายอุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โดยนางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์และ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมเป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง น.ส.ดลฤดี จำรองราษฎร์  เป็นจำเลย ต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นหมายเลขดำ ล.3603/2558 กรณีทำผิดตามสัญญา การเป็นนักศึกษา ม.มหิดล เพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ ,สัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมที่ต่างประเทศ และ สัญญารับทุนรัฐบาล(ทบวงมหาวิทยาลัย)เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศ และขอให้ชำระเงินจำนวน 47,853,435.88 บาท

โดยคำฟ้องสรุป ว่า ม.มหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ดลฤดี จ , นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์ ,นางอารยา พงษ์หาญยุทธ ,น.ส.ภัทรวดี ผลฉาย ,นายเผด็จ พูลวิทยกิจ และน.ส.พัชนีย์ พงศ์พียะ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-6 ต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ 1364/2547 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.47 เพืี่อให้ น.ส.ดลฤดี กับพวก ชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องทั้งสอง กรณีที่ น.ส.ดลฤดี ทำผิดตามสัญญาการเป็นนักศึกษา ม.มหิดล เพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ , สัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมที่ต่างประเทศ และสัญญารับทุนรัฐบาล(ทบวงมหาวิทยาลัย)เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศ โดยสัญญาการเป็นนักศึกษา ม.มหิดล เพื่อไปศึกษาในต่างประเทศดังกล่าว มีนายประสิทธิ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และสัญญาของราชการที่ไปศึกษาหรืออบรมที่ต่างประเทศ มีนางอารยา , น.ส.ภัทรวดี และนายเผด็จ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3-5 เป็นผู้ค้ำประกัน 

ส่วนสัญญารับทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศมีน.ส.ภัทรวดี , นายเผด็จ และ น.ส.พัชนีย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4-6 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกผิดสัญญาชดใช้เงินตามสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.49 ศาลปกครองกลาง จึงมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขแดง 380/2549 ว่าให้ น.ส.ดลฤดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ และนายประสิทธิ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันชดใช้หรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 232,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้ น.ส.ดลฤดี,นางอารยา ,น.ส.ภัทรวดี และนายเผด็จ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1,3-5  ร่วมกันชดใช้หรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 1,847,206,44 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี

รวมทั้งให้ น.ส.ดลฤดี, น.ส.ภัทรวดี,นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1,4-6 ร่วมกันชดใช้หรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 116,431.05 บาท และ  666,131.71 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดนเงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ใน กทม.และในวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1,4-6 ชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือว่าวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันชำระเงิน ทั้งนี้ให้ชำระแล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดจำนวน 52,005 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1 และจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องที่ 2 

ซึ่งคดีดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด คดีจึงถึงที่สุดแล้วตามศาลปกครองชั้นต้น 

ดังนั้นหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองจึงเป็นหนี้ที่เด็ดขาดและกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ซึ่งจำเลยกับพวกจะต้องชำระให้กับโจทก์ทั้งสอง โดยนายประสิทธิ์ ได้นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เฉพาะส่วนของตนครบถ้วนแล้ว สำหรับนางอารยา , น.ส.ภัทรวดี , นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์ ได้นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้กับโจทก์ทั้งสองเพียงบางส่วน 

แต่ น.ส.ดลฤดี จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ปัจจุบันจำเลยจึงยังคงเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้กับโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 4,518,987.60 บาท (รวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่ 30 ต.ค.58) และจะต้องชำระให้กับโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 43,271,448.28 บาท (รวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่ 30 ต.ค.58 โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ต.ค.58 เท่ากับ35.596 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา)

ซึ่ง น.ส.ดลฤดี จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ทำการเร่งรัดหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะดำเนินการบังคับคดีได้อีก จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองเกินกว่า 1 ล้านบาท กรณีเข้าข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์ทั้งสองจึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและขอให้พิพากษาจำเลยเป็นบุคคลล้มละละลาย