คสช.อัด'ทักษิณ' วิจารณ์รัฐธรรมนูญ

คสช.อัด'ทักษิณ' วิจารณ์รัฐธรรมนูญ

คสช.จวก"ทักษิณ" วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ชี้สภาวะบ้านเมืองไม่ต้องการการยุแหย่ให้แตกสามัคคี ให้คนไทยใช้วิจารณญาณรับฟัง

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการเลขคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง ว่า ต้องถามว่าตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในสถานะอะไร ถ้าเรามองกันตามความเป็นจริง ก็อยู่ในสถานะผู้ต้องโทษ แต่ยังไม่มารับโทษ

เพราะฉะนั้นการออกความเห็นมานั้น คนไทยเรามีความรู้มีวิจารณญาณได้ว่าควรจะรับฟังหรือไม่ ในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ เราต้องการความร่วมมือปรองดองสมานฉันท์ เราไม่ต้องการการมายุแย่ให้เกิดความแตกความสามัคคีหรือการแบ่งแยก ดังนั้นเราต้องดูสถานะคนพูด กับคนที่กำลังทำงานอยู่ในบ้านเมืองเวลานี้ ตนว่าคนไทยกำลังเฝ้าฟังเฝ้าดู มีวิจารณญาณ ว่าควรจะฟัง หรือชะลอไว้ก่อน ในการจัดความสำคัญลำดับความเร่งด่วน

เมื่อถามถึงกรณีที่ ทหารยังกดดันคนแสดงความเห็นโดยการส่งทหารลงไปในหมู่บ้าน เข้าไปพบนักการเมือง หรือเชิญมาพูดคุยอยู่ พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ต้องมองว่าเป็นการผูกมิตรชิดใกล้ พบปะการได้เห็นกันและพูดคุยกัน อย่างน้อยเราก็จะได้รับรู้ว่าการคิดต่างเห็นต่างนั้นมองอย่างไร บางครั้งอาจคิดไม่เหมือนกันซึ่งบางครั้งรู้ว่ามีความคิดไม่เหมือนกัน แต่นะเวลานี้เราต้องการเข้าไปอธิบาย และทำความเข้าใจ ไม่ได้ไปกดดันหรือทำให้ไม่สบายใจหรือรู้สึกไม่ดี คนเราเจอกันบ่อยความรู้สึกที่ดี ได้ระบายความคิดก็จะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และถ่ายทอดซึ่งกันและกัน เรารับฟังความคิดเขา เขารับฟังความคิดเรา มันก็จะนำไปสู่ในสิ่งที่เราทำร่วมกัน บางครั้งหนักไปก็ถ่อยมา เบาไปก็เพิ่มไป   

เมื่อถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่ทาง คสช. จะแก้ประกาศเพื่อเปิดโอกาสให้ทางนักการเมือง ได้มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นของร่าง ธธน. หรือไม่ พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า แต่ละฝ่ายให้ความคิดเห็นผ่านหลายช่องทางที่เรากำหนดมาแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้รับฟังรับรู้แล้วนำไปประมวลซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ปิดกั้นอะไร เพียงแต่สิ่งใดนำไปสู่การบิดเบือน หรือปลุกระดมขอให้ชะลอยุติก่อน ส่วนการจัดเสวนาร่างรัฐธรรมนูญในสถานศึกษาจะทำได้หรือไม่นั้น

คิดว่าสิ่งที่อยู่ในกรอบกำหนดนั้นทำได้ไม่ได้ห้าม องค์ความรู้ในสถาบันการศึกษา หรือนักวิชาการ ว่าเป็นองค์ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ ได้มาก ซึ่งความจริงแล้ว ครู อาจารย์ได้ให้ความรู้กับการทำงานของ รัฐบาล และคสช. มาตลอด เพียงแต่ว่าในเวลานี้มีความเหมาะสมกับบ้านเมืองเราหรือไม่ ซึ่งหากประเด็นใดใช้กับการแก้ปัญหาของประเทศได้ก็หยิบเอามาใช้ อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนานั้นก็อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือสิ่งที่เรามองว่า จะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดีในอนาคตหรือไม่ เราไม่ได้มองว่าหากจัดเชียร์รัฐธรรมนูญจัดได้ หากไม่เชียร์จัดไม่ได้ คงไม่ใช้อย่างนั้น