คสช.ยันไม่ชี้นำร่างรธน. แค่รณรงค์ให้คนลงประชามติ

คสช.ยันไม่ชี้นำร่างรธน. แค่รณรงค์ให้คนลงประชามติ

คสช.ยันไม่ชี้นำรับร่างรธน. แค่รณรงค์ให้คนลงประชามติ ระบุนศท.อยู่ในคูหาเลือกตั้ง แค่ช่วยกกต.ในกรอบกม.หลังมีการอบรม

คสช.ยัน “รด.จิตอาสา” ไม่ชี้นำรับ ร่าง รธน. แค่รณรงค์ให้คนลงประชามติ

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงกรณี คสช.ถูกวิจารณ์การใช้นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ชี้นำการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ว่า การใช้นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) หรือ รด. ตามโครงการ “รด.จิตอาสา”เพื่อเชิญชวนประชาชนให้ศึกษาร่าง รธน. เพื่อไปลงประชามติเป็นตามนโยบายของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการมาก่อนเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งการคัดเลือก รด.จิตอาสา จะมาจาก นศท.ที่สมัครใจ และ ผู้ปกครองให้ความยินยอม โดยมีการจัดตั้งฝึกอบรมให้ความรู้ ดำเนินการ และ ติดตามผล  

สำหรับการจัดตั้งโครงการนี้ นศท.จะทำงานใน 5 ภารกิจ คือ 1.การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. การช่วยเหลือประชาชนเมื่อลงไปในพื้นที่ตามขีดความสามารถของตัวเอง 3.การบรรเทาสาธารณภัย 4. การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ได้แก่ โรดแม้ป คสช. ประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล และ คสช. รวมถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจ ร่าง รธน. 5. การเสริมสร้างการปรองดองสมานฉันท์ ที่ผ่านมาหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน( นรด.) ได้ทำข้อตกลงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความรู้กับ นศท.ที่ได้จัดตั้งขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 8 หมื่นคน -1 แสนคน จากจำนวนทั่วประเทศที่มีอยู่ 3 แสนคน และขณะนี้ยังมีข้อตกลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ นศท.ได้นำความรู้ ขั้นตอน การดำเนินงานไปประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ 

"อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าให้น้องๆ ไปชี้นำหน้าหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งความจริงแล้วเราให้พี่น้องประชาชนใช้วิจารณญาณเอง และ ในข้อกฎหมายที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุไว้ว่าส่วนไหนที่จะละเมิดกฎหมาย นำไปสู่การผิดกฎหมายเองมีการฝึกชี้แจงอบรม อันไหนที่ผิดกฎหมาย นศท.ก็ต้องไม่กระทำ เพราะถือว่าเราเป็นตัวแทน หากไปทำผิดกฎหมายก็จะทำให้ความเชื่อถือจากประชาชนหมดลงไป ซึ่งเราได้ปลูกฝังว่าจะไม่มีการชี้นำ เราต้องการเพียงการให้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวต่อร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาและให้ข้อคิดเห็น ซึ่งในขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นก่อนนำมาแก้ไข" พ.อ.ปิยพงศ์ 

ทีมโฆษก คสช. กล่าวอีกว่า การที่เราต้องใช้ นศท.เพราะกระบวนการสร้างการรับรู้ ต้องใช้คนรุ่นใหม่มีความถนัดในโลกออนไลน์ และ โซเชี่ยลมีเดีย ที่จะใช้เครื่องมือในการสื่อสารไปถึงคนที่อยู่วัยเดียวกันว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปฏิรูป ทุกคนจึงต้องช่วยกันออกมาศึกษาข้อดี และ จุดอ่อนของร่าง รธน.นี้ ซึ่งในกลุ่มวัยรุ่นเราเชื่อว่าสามารถกระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว การที่ นศท.ลงไปในพื้นที่แต่ละครั้งอาจจะต้องถูกตั้งคำถาม หากคิดว่าตัวเองตอบคำถามไม่คลอบคลุมเขาก็ต้องกลับมาสอบถามจากผู้มีความรู้และลงไปในพื้นที่อีกครั้งเพื่อชี้แจง สำหรับการลงไปทำกิจกรรมต่างๆ ของ นศท.ครั้งนี้ จะใช้เวลาในห้วงของการฝึกซึ่งจะมีเครื่องหมายที่ไหล่ด้านซ้ายที่เขียนว่า “รด.จิตอาสา” ด้วย  

พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในกรอบเดือน มิ.ย. ตามตารางข้อตกลงระหว่าง นรด.และ กกต. จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับความเข้าใจของ ร่าง รธน. กระบวนการกรรมวิธีในการออกเสียงประชามติ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ รด.จิตอาสา ว่าทำอะไรได้บ้างอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในวันลงประชามติ ก็จะมี นศท.ไปอยู่ที่คูหาเลือกตั้ง โดยทำเฉพาะในกรอบงาน โดยได้เน้นย้ำให้น้องๆ ทำหน้าที่เชิญชวน ไม่ได้ให้ไปชี้ว่า ร่าง รธน.นี้ดีหรือไม่ดี รับหรือ ไม่รับ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อวิจารณ์ในรายละเอียอของร่าง รธน.นั้น นศท.คงไม่ถึงขั้นไปวิพากษ์วิจารณ์รายละเอียด ทั้งนี้ร่าง รธน.เป็นสมบัติส่วนกลางของประชาชน ที่ทุกคนสามารถมีข้อคิดเห็นได้ ข้อวิจารณ์ของนักการเมือง หรือนักวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องการคือจากทุกภาคส่วนและสาขาเพื่อนำไปสู่การปรับใช้ ร่างรธน.นี้ให้เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุด