กทม.เผยผลตรวจตึกเพลิงไหม้ พบโครงสร้างเสียหาย5%

กทม.เผยผลตรวจตึกเพลิงไหม้ พบโครงสร้างเสียหาย5%

กทม.เผยผลตรวจตึกเพลิงไหม้ ถนนนราธิวาสฯ พบโครงสร้างเสียหาย 5% ชี้เพลิงไหม้อย่างรวดเร็ว เพราะภายในตกแต่งจากไม้สัก

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคารสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า จากการร่วมตรวจสอบอาคารสูงที่เกิดเพลิงไหม้ถนนนราธิวาสฯ ซอย 18 กับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ไม่พบว่าอาคารหลังนี้มีการต่อเติมนอกเหนือจากที่มีการขออนุญาตไว้ แต่ในวันเกิดเหตุที่เพลิงได้ไหม้อย่างรวดเร็วเพราะภายในของอาคารมีการตกแต่งจากไม้สักเป็นส่วนใหญ่ โดยจากการตรวสจสอบพบว่าโครงสร้างอาคารเสียหายแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ อาจจะมีเหล็กโผล่ขึ้นมาในบริเวณพื้นของโครงสร้าง ซึ่งทางเจ้าของอาคารยังสามารถดำเนินการซ่อมแซมได้ แต่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศกรรมรวมถึงกทม.ได้อนุญาตในการซ่อมแซมอาคาร หลังจากนั้นเมื่อเจ้าของอาคารซ่อมแซมอาคารแล้วเสร็จต้องให้กองควบคุมอาคารเข้าไปทดสอบความแข็งแรงว่าเป็นอย่างไร

นายไทวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับอาคารที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคาร ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารพ.ศ.2548 มีทั้งหมด 9 ประเภท ประกอบด้วย 1.อาคารสูง เป็นอาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของ ชั้นสูงสุด 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่ อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่หนึ่งหมื่นตารางเมตรขึ้นไป 3.อาคาร ชุมชนคน เป็นอาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการ ชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่หนึ่งพันตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป

นายไทวุฒิ กล่าวอีกว่า 4.โรงมหรสพ เป็นอาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม 5.โรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่แปดสิบห้องขึ้นไป 6.อาคาร ชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบ ครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป 7.อาคารโรงงานที่สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป 8.ป้าย สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป และ 9.สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

นายไทวุฒิ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบอาคารทั้ง 9 ประเภทนี้ ผู้ตรวจสอบอาคารต้องเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรรมที่ได้รับใบอนุญาตจากรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าไปตรวจสอบ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความมั่นคงแข็งแรง 2.อุปกรณ์ป้องกันภัย 3.ทดสอบระบบอุปกรณ์ป้องกันภัย และ 4.ตรวจสอบการบริหารจัดการภายในอาคาร ซึ่งในกรุงเทพฯยังมีจำนวนอาคารกว่า 11,300 แห่งที่เจ้าของอาคารต้องยื่นความจำนงให้มีการตรวจสอบ ถ้าสำนักงานเขตตรวจสอบพบการต่อเติมจะมีคำสั่งให้แก้ไข หากเจ้าของอาคารยังไม่แก้ไขจะออกคำสั่งระงับการใช้อาคารทันที ซึ่งส่วนหนึ่งในกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ได้ระบุให้ทุกอาคารทั้ง 9 ประเภทต้องติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยไว้ด้วย

"ที่ผ่านมากองควบคุมอาคารได้แจ้งไปยังเจ้าของอาคารให้มีการตรวจสอบอาคารจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ซึ่งต้องมีการยื่นให้ตรวจสอบอาคารทุกปีเพื่อความปลอดภัย แต่ยังมีอาคารอีกกว่าพันแห่งที่ยังไม่ยื่นให้มีการตรวจสอบเข้ามา เพราะยังมีเจ้าของอาคารหลายแห่งยังไม่เข้าใจถึงกฎกรวง แต่อยากให้เจ้าของอาคารตระหนักในทรัพย์สินของตัวเอง เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วจะไม่คุ้มค่า”นายไทวุฒิ กล่าว