วิพากษ์ 'ร่างรธน.' ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

วิพากษ์ 'ร่างรธน.' ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

เปิดประเด็น วิพากษ์ "ร่างรธน." ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ?

“รัฐธรรมนูญ” นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ต้องยอมรับว่าไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าฉบับไหนคือฉบับที่ดีที่สุด หรือว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด

มีเพียงแค่ เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมากที่สุดเท่านั้น เพราะแต่ละฉบับนั้นต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป

และอยากให้ทำความเข้าใจเสียด้วยว่า ระบอบประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งนั้น ไม่สามารถที่จะนำไปใช้กับอีกประเทศหนึ่งได้อย่างสมบรูณ์แบบตามที่ตัวเองต้องการได้

เพราะธรรมชาติทางการเมืองของแต่ละประเทศ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมของประเทศนั้นๆ มีความแตกต่างกันออกไป

 จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ก็ต้องผ่านการวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” กลับปรากฎมุมของการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการทำประชามติ อีกทั้งขณะนี้ก็อยู่ในช่วงของการรับฟังความเห็น

เพราะเมื่อมีผู้ออกมาเสนอความเห็นเข้าจริงๆ กลับกลายเป็นว่าถูกห้าม เช่น กรณีของ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานนปช. ที่โดยเรียกไปพูดคุยที่กองทัพภาคที่1ทันที

 รวมถึงกรณีล่าสุดที่คสช.ไม่อนุญาตให้คณาจารย์ของสถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ หรือนิด้า จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรธ. ปฏิรูปได้จริงหรือ?” โดยให้เหตุผลว่า ขออนุญาตไม่ถึง7วัน

ดังนั้น คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า รัฐบาลหวั่นไหวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ จึงพยายามปิดกั้นกลุ่มคนที่แสดงความเห็นสวนทางกับสิ่งที่คสช.และรัฐบาลพยายามอธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ตอบโจทย์ของประเทศอย่างแท้จริง

ซึ่งถ้าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจริงแล้ว ก็คงไม่ต้องกลัวคนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นาๆ เลย รัฐบาลสามารถใช้สื่อที่มีอยู่ในมือได้อย่างเต็มที่ในการอธิบายให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว

การปิดกั้นหรือสกัดกั้นกลุ่มคนที่เห็นต่างนั้น รังแต่จะยิ่งทำให้การลงคะแนนประชามติมีปัญหาในเรื่องของความชอบธรรมเพราะปัจจุบันประชาชนมีพัฒนาการทางการเมืองเกินกว่าที่อำนาจใดๆ จะชี้ให้ซ้ายหันขวาหันโดยปราศจากเหตุผลได้อีกแล้ว

ดังนั้น รัฐบาลต้องระวังเรื่องของกระแสตีกลับให้ดี เพราะอาจจะกลายเป็นการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้นขึ้นมา และถูกเอาไปตีกินว่า ประชาชนไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นได้

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ รัฐบาลจะใช้กลไกของรัฐในการรณรงค์เผยแพร่ก็ทำไป แต่ไม่ควรที่จะปิดกั้นกลุ่มที่เห็นแตกต่าง และไม่ควรใช้อำนาจกดดันกลุ่มคนที่เห็นต่างให้หันมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ข้อเสนอที่จะให้นักศึกษาวิชาทหารไปยืนที่หน้าหน่วยลงคะแนนประชามติด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเลิกคิดทันที เพราะหากทำแบบนั้นก็เท่ากับว่า

รัฐบาลจะถูกมองว่าในช่วงของการรณรงค์ก็ใช้อำนาจเต็มรูปแบบ ในวันลงคะแนนประชามติก็ยังให้นักศึกษาวิชาทหารไปยืนที่หน้าหน่วยลงคะแนนอีก กลายเป็นว่ารัฐบาลต้องการมัดมือชกเข้าไปอีก

จริงอยู่ว่า ทันทีที่กลุ่มนปช.ประกาศจุดยืนในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น การเคลื่อนไหวย่อมจะยากลำบาก แต่ก็ยังเห็นความพยายามทำอย่างสุดความสามารถ ให้ประชาชนเห็นถึงผลเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เพราะวันนี้กลุ่มนปช.เองมองไปที่สนามรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนเป็นอันดับแรก ยังไม่ได้มองไปถึงจุดที่ว่า สุดท้ายแล้วร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือว่าไม่ผ่านประชามติ

ที่สำคัญ การทำประชามติครั้งนี้อยู่ในสายตาของคนทั่วโลก ดังนั้น หากมีกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ย่อมจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไปด้วย

เพราะภูมิภาคอาเซียนในวันนี้ ประเทศไทยและพม่าถูกมองว่ากำลังเดินสวนทางกัน กองทัพของพม่ากำลังถอยออกจากอำนาจ สัญญาณในทางบวกจึงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ขณะที่ประเทศไทยนั้น กองทัพกลับถูกมองว่ากำลังจะถลำลึกลงไปในอำนาจมากขึ้นทุกที ดังนั้น เชื่อว่าสายตาของชาวโลกในเวลานี้ จ้องมองมาที่ทั้ง2ประเทศด้วยความรู้สึกที่แตกต่างจากในอดีตไปแล้ว

 การลงคะแนนประชามติครั้งนี้จึงสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์การเมืองของไทย อย่าให้ถูกมองว่าวัตถุประสงค์ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา เพียงเพื่อต้องการวางกับดักไว้รอนักการเมืองบางคน บางพรรค รัฐบาลต้องคิดและตระหนักให้ดีว่า การใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตนั้น ไม่ให้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการเสมอไป