ทีมวิศวฯเผยตรวจอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ซ.นราธิวาสฯ18

ทีมวิศวฯเผยตรวจอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ซ.นราธิวาสฯ18

นายกวิศวกรรมฯ-กทม. นำคณะตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ภายในซอยนราธิวาสฯ18 ชี้ เผยโดยรวมอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถซ่อมแซมกลับมาใช้ได้ปกติ

ที่อาคารสูง10ชั้น บ้านเลขที่2204/5 ซอยนราธิวาสฯ18 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตยานาวา กทม. เมื่อเวลา13.00. วันที่ 7 กุมภาพันธุ์ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมาณมาศ เลขาสภาวิศวกร นายวัสวัตติ์ กฤชศิริธีรภาคย์ เลขาสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยของอาคาร และนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกทม. เข้าตรวจสอบภายในอาคารที่เกิดเหตุ เพื่อหาเตรียมทำมาตราฐานความปลอดภัยภายในอาคาร

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุอาคารดังกล่าว อาคารที่เกิดเหตุนั้น ในทางวิศวกรรมสามารถแบ่งความเสียหายเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.เสียหายระดับรุนแรง คือ ความเสียหายเกินกว่า 8 ชั่วโมง โดยสังเกตได้จาก ฝ้ายุบตัวลง ผนังเอียง เป็นต้น 2.เสียหายระดับเฝ้าระวัง คือ อาคารที่ถูกไฟไหม้ไม้เกิน 3-4 ชั่วโมง สังเกตได้จากพื้นอาคารแอ่นตัว คอนกรีดที่ติดกับผิวเหล็กในจุดที่ไม่ได้รับน้ำหนักมาก กะเทาะร่อน เป็นต้น และ3.เสียหายระดับที่ต้องตรวจสอบเชิงลึก คือ อาคารที่ถูกไฟไหม้ไม่เกิน 30 นาที สังเกตได้จากจะมีรอยแตกร้าว และเขม่าควัน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ก่อนจะเข้าไปตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ตนได้นำทีมวิศวกรรมลาดกระบัง พร้อมเครื่องมือเข้ามาตรวจสอบตัวอาคาร ว่าความเสียหายมากน้อยเพียงใด ซึ่งในการตรวจสอบก็จะประเมินด้วยสายตา จากต้นกำเนิดเพลิง เช่น เสาคอนกรีต พื้นมีรอยแตกร้าวมากน้อยเพียงใด แล้วจะทำโครงสร้างแบบแผนขึ้นมาว่าตัวอาคารที่เกิดเหตุจะต้องปรับปรุงแก้ไข หรืออันตราย หรือทุบทิ้งทำลาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.)ได้เข้ามาตรวจสอบสาเหตุแล้ว ต่อไปจะต้องเป็นหน้าที่ของวิศวกรรมที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบอาคารดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ต่อมา ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้ขึ้นไปตรวจสอบบนตึกดังกล่าวกว่า 30นาที ก่อนจะลงมาให้รายละเอียดแก่ผู้สื่อข่าวว่า จากกระประเมินด้วยสายตา เบื้องต้นพบต้นเพลิงมาจากบริเวณชั้น3 ด้านทิศตะวันตก ใกล้กับห้องครัว โดยไฟรุกลามอย่างรวดเร็วไปทางบันไดชั้น4-7 และพบว่าชั้น7 มีความเสียหายรุนแรงที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่วิบัติ หรือคานมีรอยร้าวชัดเจน จึงไม่สามารถใช้การได้เหมือนเดิม ซึ่งจากการตรวจสอบสามารถระบุได้ว่า ชั้น1-2 สามารถซ่อมแซม ปรับปรุง และอยู่ได้ตามปกติ ส่วนชั้น3-7 ควรจะได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ เนื่องจากคอนกรีตร่อน และเริ่มเห็นเหล็กข้างใน และชั้น8เป็นชั้นที่จะต้องควบคุม เพราะได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบนั้น คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบถึงโครงสร้างต่างๆายในอาคารไม่เกิน 7 วัน จากการตรวจสอบ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในอาคาร ไม่พบสปริงเกอร์ ถังดับเพลิง สัญญาณเตือนไฟ บันไดหนีไฟ เครื่องจับควัน เป็น เนื่องจากอาคารดังกล่าวสร้างตั้งแต่ปี2534 ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมอาคารออกมา

ด้านศ.ดร.อมร กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจสอบทางสายตา โดยมุ่งเน้น พื้นที่ต้นเพลิง พบว่าเสา และคานไม่มีความเสียหายมาก ซึ่ง ร้อยละ5 ของพื้นมีการกระเทาะ เหล็กเส้นยังไม่เสียรูป ส่วนความสมดุลของอาคาร สามารถรับน้ำหนักได้ ส่วนการซ่อมแซมนั้น อาจทำได้ด้วยการปูพื้นใหม่

ขณะที่ นายภัทรุตม์ กล่าวว่า โดยรวมอาคารมีความมั่นคง แข็งแรง สภาพสามารถซ่อมแซม และกลับมาใช้งานได้ปกติ ส่วนการเข้มงวดกับเจ้าของอาคารนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเจ้าของอาคารมาโดยตลอด ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างความตระหนักให้กับทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบตัวอาคารนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาคอยรักษาความปลอดภัย และห้ามไม่ให้สื่อมวลชนขึ้นไปทำข่าว เนื่องจากว่าอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ มีความเสียหายหลายส่วน และคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในการตรวจสอบ