แนะ 'กรธ.' ควรแยกแยะความเห็นที่สร้างสรรค์

แนะ 'กรธ.' ควรแยกแยะความเห็นที่สร้างสรรค์

"จุรินทร์" รองหน.ปชป. แนะ กรธ. ควรแยกแยะความเห็นที่สร้างสรรค์ เพื่อ "รธน." ออกมาดีที่สุดต่อส่วนรวม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ Aoodda” ว่า การออกมาแถลงของ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในช่วงวันสองวันนี้ว่าพร้อมจะนำความเห็นของฝ่ายต่างๆไปปรับแก้ในประเด็นการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน ไม่น้อยไปกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 กับการแสดงท่าทีจะเร่งรัดการร่างกฎหมายลูกให้เสร็จตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแม็พ ถือได้ว่าเป็นการ “ส่งสัญญาณที่ดี” ว่า กรธ. ยังพร้อมรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อยู่และไม่ได้มีลักษณะปิดกั้นไปเสียทั้งหมด ส่วนท่าทีด้านลบของ กรธ. ต่อฝ่ายการเมืองที่มีออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้งนั้น ตนก็ขอให้ข้อคิดว่าควรจะได้มีการแยกแยะไตร่ตรองว่าความเห็นใดเป็นความเห็นในทางอคติ ความเห็นใดเป็นความเห็นในทางสร้างสรรค์ของฝ่ายปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนความปรารถนาดีโดยประสงค์ให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ซึ่งหาก กรธ. สามารถแยกแยะและพร้อมรับฟังในส่วนที่เป็นความเห็นในทางสร้างสรรค์ก็จะช่วยให้รัฐธรรมนูญเข้ารูปเข้ารอยและเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น

ซึ่งประเด็นที่คิดว่าควรจะได้มีการปรับปรุงและเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในฐานะฝ่ายปฏิบัติก็คือเรื่องของ “การตรวจสอบถ่วงดุล”ระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ ซึ่งเห็นว่าหากสามารถออกแบบให้เป็นระบบที่สามารถถ่วงดุลกันได้อย่างมีดุลยภาพแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่ง จากการทำหน้าที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกันของแต่ละฝ่าย ยกตัวอย่างเช่นในประเด็นที่ เคยเสนอและได้รับการบรรจุไว้ในร่างของนายบวรศักดิ์แล้วกรณีให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องมาจากฝ่ายค้านด้วย ไม่ใช่เป็นของรัฐบาลทั้งหมดทั้งประธานและรองประธานสภาทั้ง 2 คนเหมือนในอดีต ซึ่งมีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของทั้งประธานและรองประธานหลายครั้ง เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในสภา จึงได้เกิดแนวคิดว่ารองประธานสภาคนหนึ่ง ควรจะมาจากฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลในการปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภา

ดังเช่น ในบางประเทศที่พัฒนาแล้วทางประชาธิปไตยเขาก็ทำกัน ซึ่งการจะสร้างระบบถ่วงดุลเช่นนี้ได้ จะต้องไปปรับปรุงแก้ไขในมาตรา 101 ที่ระบุห้ามสมาชิกพรรคแกนนำฝ่ายค้านที่มีหัวหน้าพรรคเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ไปเป็น ประธานสภา หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการปิดทางไม่ให้พรรคแกนนำฝ่ายค้านซึ่งมีความสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารไม่ให้สามารถไปทำหน้าที่รองประธานสภา หรือประธานสภาได้ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดการถ่วงดุลในการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมดังกล่าวแล้ว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น กรณีที่พรรคแกนนำรัฐบาลต้องกลับมาเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านและมีสมาชิกเป็นประธานหรือรองประธานสภาอยู่ในสภาเดิม หัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลเดิมก็จะไม่สามารถมาทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน”ในสภาได้

นอกจากต้องให้สมาชิกของพรรคลาออกจากตำแหน่งประธานสภาและหรือรองประธานสภาเสียก่อนเท่านั้น นอกจากนั้น ยังเห็นว่าประธานกรรมาธิการชุดสำคัญที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินและตรวจสอบการทุจริตในรัฐบาล ควรจะได้ประธานกรรมาธิการที่มาจากฝ่ายค้านด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีผลในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้มากขึ้น เป็นต้น