ปชป.จี้ 'รัฐบาล-คสช.' เปิดกว้างวิจารณ์ร่างรธน.ได้เต็มที่

ปชป.จี้ 'รัฐบาล-คสช.' เปิดกว้างวิจารณ์ร่างรธน.ได้เต็มที่

พรรคประชาธิปัตย์ จี้ "รัฐบาล-คสช." เปิดกว้างให้วิจารณ์ร่างรธน.ได้เต็มที่ พร้อมชู5จุดเด่นปราบโกง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเรียกข้องรัฐบาลและคสช.ควรเปิดกว้างให้สามารถวิพากย์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพิจารณาและเห็นเนื้อหาอย่างรอบด้าน จากมุมมองของกลุ่มต่างๆ รวมถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะได้นำจุดเด่นจุดด้อยมาปรับปรุงแก้ไขให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดความสมบูรณ์ และประชาชนจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจะสร้างกระแสตื่นตัวและส่งผลให้เกิดความสนใจในการลงประชามติ ดีกว่าปิดกั้นหรือหาทางทำให้ความสนใจร่างรัฐธรรมนูญลดลง ดังนั้น รัฐบาลและคสช.ควรปูทางด้วยบรรยากาศที่สร้างสรรค์ตั้งแต่ตอนนี้เพื่อจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นกลางปี 2560

นายองอาจ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นมีจุดเด่นและจุดด้อยพอสมควร ส่วนที่เด่นที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ คือ เรื่องการป้องกันและปรามปรามทุจริต ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้บัญญัติไว้ในหลายมาตรา ได้แก่ 1.ในม.47 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย โดยต้องไม่ร่วมมือ สนับสนุนในทุกรูปแบบ และในม.59 รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้ประชาชนถึงอันตรายของการทุจริต ทั้งในภาครัฐ เอกชน และต้องจัดให้มีมาตราการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ 2.โครงสร้างรัฐสภาและนิติบัญญัติ ได้บัญญัติไว้หลายมาตราอย่างเข้มข้นในการกลั่นกรองบุคคลเข้าทำหน้าที่ รวมถึงยังเข้มงวดในการพิจารณางบประมาณ การเงินการคลังของสมาชิกรัฐสภามากขึ้น 3.กลั่นกรองบุคคลเข้าทำหน้าที่ในโครงสร้างการบริหารภาครัฐเข้มงวดขึ้น มีโอกาสถูกตรวจสอบจากหลายช่องทาง 4.หลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่น ให้มีอำนาจในการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และ5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มักถูกวิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใส แต่ร่างฉบับนี้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจุดเด่น5ประการนี้จะทำให้การคอร์รัปชั่นเบาบางลง แต่การจะปฏิบัติให้สำเร็จได้อยู่ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงขอฝากกรธ. หวังว่าจะทำกฎหมายดังกล่าวให้ศักดิ์สิทธิ์ เข้มข้น สอดคล้องร่างรัฐธรรมนูญ

นายองอาจ กล่าวว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจ และหากกรธ.ปรับแก้ไขจะเป็นประโยชน์มากกว่าปล่อยให้บังคับใช้ต่อไปในอนาคตคือ ไม่ควรให้อำนาจประธานรัฐสภาพิจารณาข้อกล่าวหา กรณีมีการร้องเรียนกรรมการป.ป.ช. ว่าร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง เพียงคนเดียว ก่อนนำหลักฐานอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ส่งถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานศาลฎีกา แต่ควรให้พิจารณาเป็นองค์คณะ

“เราไม่ควรให้ประธานรัฐสภาคนเดียวมีหน้าที่พิจารณาเรื่องข้อกล่าวหากรรมการป.ป.ช.ว่ามีความผิดตามกฎหมายข้อใด ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรให้มีการพิจารณาเป็นองค์คณะจากภาคส่วนต่างๆ กรธ.อาจพิจารณาเป็น 3หรือ5คน น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะถ้าให้ประธานรัฐสภาพิจารณาคนเดียว เบื้องต้นกว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานศาลฎีกา อาจมีการวิ่งเต้นให้ประธานรัฐสภาพิจารณาว่า กรรมการป.ป.ช.ที่ถูกกล่าวหาไม่มีหลักฐานเพียงพอเสียตั้งแต่ต้น ประธานรัฐสภาคนเดียวอาจวินิจฉัยเบื้องต้นได้เลยว่า ที่ส.ส. ส.ว. หรือประชาชน ลงชื่อกล่าวหากรรมการป.ป.ช. ว่าไม่มีมูล ก็จบไม่ต้องส่งต่อให้ใครทั้งสิ้น..

"ผมคิดว่ามันไม่น่าจะถูกต้องที่ให้คนคนเดียวมาพิจารณา เพราะประธานรัฐสภาที่ขึ้นมาเป็นได้เพราะมีเสียงข้างมากในสภา เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ทำให้สามารถมองต่อไปได้ว่า ถ้าคนของรัฐบาลถูกกล่าวหา ส่งเรื่องไปป.ป.ช. และป.ป.ช. ก็กำลังถูกกล่าวหาเช่นเดียวกัน อาจจะมีการฮั้วหรือสมรู้ร่วมคิดกันที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาข้อกล่าวหานั้นด้วยความเป็นธรรมได้ กรธ.จึงควรพิจารณาปรับแก้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตรงนี้ถือเป็นหัวใจของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” นายองอาจ กล่าวและว่า ส่วนการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องพิจารณาร่างฉบับสมบูรณ์ที่จะออกมาในวันที่ 29มีนาคมนี้ ถึงตรงนั้นจะชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ร่างจะผ่านประชามติหรือไม่