ปปง.เผยผลประชุมที่โมนาโก เร่งปรับกม.แก้ภัยก่อการร้ายสากล

ปปง.เผยผลประชุมที่โมนาโก เร่งปรับกม.แก้ภัยก่อการร้ายสากล

เลขาฯป.ป.ง. เผยผลประชุมข่าวกรองทางการเงินที่โมนาโก เน้นให้ทุกประเทศเร่งปรับกฎหมายแก้ภัยก่อการร้ายสากลที่มีแนวโน้มรุนแรง ขยายพื้นที่ก่อเหตุ

พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยถึงผลประชุมหน่วยข่าวกรองทางการเงินสากล (Egmont Working Group Meeting) ณ ราชรัฐโมนาโก ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-5 ก.พ.โดยในประเด็นสำคัญในการประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นเรื่องภัยคุกคามด้านก่อการร้าย เพราะปัจจุบันถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงระหว่างประเทศ ทั้งกลุ่มอัลไกด้า (Al-Qaida) ,ISIL และกลุ่มพันธมิตรหัวรุนแรง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มการก่อการร้ายสากลมีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที ตุรกี อียิปต์ เลบานอน มาลี อินโดนีเซีย และฝรั่งเศส ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นและคาดว่าจะขยายพื้นที่ก่อเหตุมากขึ้น รวมถึงประเด็นเรื่องนักรบต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters : FTFs) ซึ่งพบการชวนเชื่อในเยาวชน หนุ่มสาว ทั่วโลกเข้าร่วมการฝึกเป็นนักรบต่างชาติและกลับมาเพื่อเผยแพร่ความเชื่อด้านการก่อการร้าย  

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า ผลการประชุมได้มีการเน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกเร่งรัดการดำเนินการปรับแก้กฎหมายภายในและดำเนินการทำงานเชิงรุกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายให้มีความรวดเร็วและพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงข้อมูลทางการเงินและการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการขนเงินข้ามพรมแดน เพื่อใช้ในการสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยทั้งนี้ หน่วยข่าวกรองทางการเงินประเทศสมาชิก (FIU) ต้องมีกฎหมายพร้อมเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองทางการเงินและความสามารถในด้าน IT อย่างมีประสิทธิภาพ เฝ้าระวังและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางการเงินของบุคคลหรือการเคลื่อนไหวทางการเงินในพื้นที่เสี่ยง หรือการเคลื่อนไหวทางการเงินไปเขตพื้นที่เสี่ยง ท้ายที่สุดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกรองกรองที่ FIUs ได้มาควรต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบในการขยายผลการสืบสวนต่อไป 

ขณะที่ผลการประชุมระดับปฏิบัติการกลุ่มย่อย มีดังนี้ 1.ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีการสรุปโครงการที่ต้องผลักดันในกลุ่มประเทศสมาชิกหน่วยข่าวกรองทางการเงินต้องเร่งปฏิบัติให้มีมาตรฐานเดียวกันดังนี้ พัฒนากระบวนการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างประเทศสมาชิกให้มีความรวดเร็วมากขึ้นโดยมุ่งเน้นเรื่องก่อการร้ายเป็นประการสำคัญและการทำความเข้าใจและการรับมือกับความเสี่ยงในระบบการชำระหนี้หรือระบบการโอนเงินในรูปแบบใหม่ๆ 2.ด้านส่งเสริมประเทศสมาชิกโดยมุ่งเน้นในการพัฒนาและช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้มีระบบกฎหมายด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงินและเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการปราบปรามและการยับยั้งการฟอกเงินในมาตรฐานสากลเดียวกัน   

3.ด้านฝึกอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางการเงิน โดยมีโครงการพัฒนาประสิทธิภาพ ทั้งในรูปแบบการอบรมออนไลน์ e-learning และการอบรมในโครงการต่อเนื่องระยะยาวในด้านพัฒนาบุคคลากรเพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดแก่หน่วยงานภายในประเทศต่อไป 4.ด้านนโยบายและวิธีปฏิบัติมีโครงการปรับปรุงแก้ไขกฎบัตรและแนวทางปฏิบัติโดยให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามเพื่อให้การดำเนินงานของ FIU ในแต่ละประเทศสอดคล้องกับมาตรฐานสากล (FATF Standard) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของ FIU ในการต่อต้านการต่อต้านการก่อการร้าย ปรับปรุงการรับรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย จากผู้มีหน้าที่รายงานให้มีคุณภาพมากขึ้น และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง FIU