เผยสถิติคนไทยเจ็บป่วยช่วงตรุษจีน'ปวดท้อง-อาหารเป็นพิษ'

เผยสถิติคนไทยเจ็บป่วยช่วงตรุษจีน'ปวดท้อง-อาหารเป็นพิษ'

สพฉ.เผยสถิติคนไทยเจ็บป่วยช่วงตรุษจีน "ปวดท้องเฉียบพลัน-อาหารเป็นพิษ"

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (เลขา สพฉ.) เปิดเผยสถิติิการเจ็บป่วยฉุกเฉินของคนไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2558 ที่ผ่านมาว่า ช่วงเดือน ก.พ.ปีที่แล้วการแพทย์ฉุกเฉินไทยหมายเลข 1669 ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษมากที่สุดกว่า 8,595 คน  ส่วนใหญ่ปวดท้องแบบบิดๆ คลื่นไส้อาเจียน  อุจจาระเป็นน้ำ  มูกหรือมูกเลือดสลับกับอาการปวดท้องอาจจะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางรายมีอาการไข้สูงด้วย ซึ่งข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวขณะปวดท้องหรือคลื่นไส้อาเจียน ไม่ควรกินอาหารหรือดื่มน้ำเพราะอาการจะรุนแรงขึ้น  ที่สำคัญคือไม่ควรกินยาหยุดถ่ายท้องเพราะการท้องเสียจะช่วยขับเชื้อและสารพิษออกจากร่างกาย ควรจิบน้ำหรือดื่มเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและรีบพบแพทย์ทันที อยากฝากถึงประชาชนให้ระมัดระวังการกินอาหารช่วงตรุษจีน โดยเฉพาะอาหารที่เสร็จสิ้นจากการไหว้เจ้า  ซึ่งอาหารบางอย่างเมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีภาชนะที่ปิดไว้ให้มิดชิดอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคได้

เลขาฯสพฉ.กล่าวต่อว่า นอกจากข้อควรระวังข้างต้นแล้ว ประชาชนต้องระวังเรื่องของเหตุเพลิงไหม้ ไฟลวกเหตุจากความร้อนสารเคมีที่เผาทำลายและการจุดประทัด รวมถึงเหตุไฟฟ้าช็อต เนื่องจากช่วงเดือน ก.พ.ปี 2558  มีผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวมากถึง 185 คน ซึ่งการจุดประทัดสำหรับการไหว้เจ้านั้น เราไม่ควรจุดครั้งละจำนวนมากเพราะแรงระเบิดจากประทัดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะการจุดประทัดที่มีสายชนวนสั้น เมื่อจุดไม่ติดก็ไม่ควรจุดซ้ำ ที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคน ทั้งนี้ประทัด พลุและดอกไม้ไฟ เป็นวัตถุอันตรายที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย 3 ทาง คือ 1.ทางผิวหนัง คือเกิดแผลไหม้จากแรงระเบิด 2.ทางนิ้วมือ คืออาจทำให้นิ้วมือ หรืออวัยวะขาด เนื่องจากแรงระเบิด และ 3.ทางตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบางที่สุด คืออาจทำให้ตาดำไหม้ ขุ่นมัว เลือดออกช่องหน้าม่านตา และอาจทำให้ตาบอดถาวรได้

สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดนั้น ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12–18 ชม. ส่วนการบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที และหาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือกรณีฉุกเฉิน ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง