ส.อ.ท.ยื่น 3 ข้อเสนอแก้ปัญหาขยะ 57 ล้านตัน

ส.อ.ท.ยื่น 3 ข้อเสนอแก้ปัญหาขยะ 57 ล้านตัน

"ส.อ.ท." ยื่น 3 ข้อเสนอ แก้ปัญหาขยะ 57 ล้านตันอย่างยั่งยืน ชี้ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน 3 ประเด็น คือ ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการจัดการขยะ เพื่อสร้างการยอมรับกับชุมชน, คัดเลือกเทคโนโลยีกำจัดขยะที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ และปรับโครงสร้างการทำงานให้มีการประสานงานกันระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ลงทุนให้มีเอกภาพในการทำงานมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนรวมประมาณ 57 ล้านตัน เป็นขยะที่เกิดขึ้นใหม่ปีละประมาณ 27 ล้านตัน และเป็นขยะเก่าที่สะสมอยู่เดิมมากกว่า 30 ล้านตัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีกำจัดขยะโดยบ่อขยะเปิดที่มีมลพิษสูง (Open dump site) มากถึง 2,024 แห่ง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

นายธีระพล กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้คัดแยกขยะ ทั้งเชิงพฤติกรรมการบริโภค วินัยการคัดแยกขยะ สภาพภูมิอากาศ วงจรการเก็บรวบรวมขยะ รวมถึงยังไม่มีการส่งเสริมการจัดการขยะตามหลักสากล ซึ่งควรส่งเสริมการจัดการขยะตามหลัก 3R เป็นลำดับแรก และนำขยะมูลฝอยชุมชนมาเผาร่วมในเตาเผาอุตสาหกรรม หรือเตาเผาขยะแล้วค่อยกำจัดที่บ่อฝังกลบตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขนส่งขยะสดข้ามเขตไปพื้นที่ห่างไกลหรือข้ามจังหวัดที่ไม่มีมาตรการป้องกันที่ดี ทำให้ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงโรงกำจัดขยะได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากปัญหากลิ่นขยะรบกวนและปัญหาน้ำขยะหกล้นระหว่างการขนส่ง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมูลค่าของขยะที่เกินความเป็นจริง ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ

แม้รัฐบาลปัจจุบันมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยชุมชน โดยกำหนดให้การแก้ปัญหาขยะเป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศและให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทยจัดทำโรดแมปการจัดการขยะ แต่ยังมีปัญหาในการสร้างการยอมรับให้กับชุมชนรอบโรงขยะ โดยยังมีความล่าช้าในการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและมาตรฐานโรงไฟฟ้าจากขยะ หรือโรงจัดการขยะอื่น ๆ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยและยังต่อต้านโรงไฟฟ้าจากขยะ อีกทั้งนโยบายการส่งเสริมโครงการขยะก็ไม่มีการพิจารณาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่