รัฐบาลดึงค.ต.ป. ร่วมตรวจสอบโครงการรัฐ

รัฐบาลดึงค.ต.ป. ร่วมตรวจสอบโครงการรัฐ

รัฐบาลปรับทัพจับโกงดึง"ค.ต.ป." ร่วมตรวจสอบโครงการรัฐ หลังพบปัญหาเสนอขอเงินแต่ทำแล้วล่ม ด้าน"สุวพันธ์"แจงประเมินขรก.แบบใหม่มีก.พ.-ก.พ.ร.ร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการจัดการสัมมนาเรื่อง "การชี้แจงแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ(ค.ต.ป.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) โดยมีผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. คณะกรรมการ ค.ต.ป. ค.ต.ป.กลุ่มจังหวัด ค.ต.ป.ประจำกระทรวง และค.ต.ป.กลุ่มกระทรวง  

สำหรับการชี้แจงแนวทางการตรวจสอบและการประเมินผลภาคราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นั้น เป็นการปรับการทำงานของ ค.ต.ป.ทั้งหมดที่ล้วนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ทั้ง 20 กระทรวง ที่เกษียณอายุราชการแล้วแต่เข้ามาช่วยทำงานด้านตรวจสอบและประเมินการทำงานของกระทรวงและจังหวัดในสังกัดของตัวเอง โดยในการสัมมนาดังกล่าว ผศ.ดร.ประวิตร นิลสุวรรณกุล กรรมการ ค.ต.ป. และนายณรงค์ บูญโญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ สำนักงานก.พ.ร. เป็นผู้ชี้แจงแนวทางการทำงานของค.ต.ป.ใน ปีงบประมาณ 2559

โดยระบุว่า จะเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่ ค.ต.ป. มีภารกิจ 5 ด้านคือ 1.การตรวจราชการ 2.การตรวจสอบภายใน 3.การควบคุมภายในฯ 4.การปฏิบัติราชการตามคำร้อง และ 5.รายงานการเงิน เปลี่ยนมาเป็นการทำงานใน 3 ภารกิจคือ 1.การติดตาม 2.ตรวจสอบ และ 3.ประเมินผลโครงการ ในกลุ่มโครงการ 3 ประเภท ที่รัฐบาลกำหนดให้ โดยจะต้องวางแผนการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล เก็บข้อมูลประเมินความเหมาะสมของโครงการ ลงพื้นที่ติดตามโครงการและประเมินผลโครงการ สรุปผลการประเมินและให้ข้อเสนอแนะ และจัดส่งรายงานให้ ค.ต.ป.ใหญ่ เพื่อรายงานให้รัฐบาลทราบ  

ซึ่งภารกิจใหม่ของค.ต.ป.จะเข้าไป"ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล" ในกลุ่มโครงการ 3 ประเภท คือ 1.ประเภทโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงและจังหวัด ที่มีงบประมาณโครงการต่ำกว่า 100 ล้านบาท (เนื่องจากโครงการที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ(คตร.) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตรวจสอบอยู่แล้ว) และโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 18 โครงการ คือ 1.การเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2.การพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ 3.การบูรณาการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4.การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

5.การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 6.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 7.การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 8.การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ 9.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 10.การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต 11.การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 12.การฟื้นฟู ป้องกันและจัดการภัยพิบัติ 13.การบริหารจัดการขยะสิ่งแวดล้อม 14.การป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 15.การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน 16.การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาที่ดินทำกิน 17.การจัดระเบียบการค้าในที่สาธารณะ 18.การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2.ประเภทโครงการสำคัญตามที่ ค.ต.ป.กำหนด คือ โครงการแผนงานบูรณาการด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ 3.ประเภทโครงการตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลและโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ 

นางกิตติยา คัมภีร์ ที่ปรึกษาพัฒนาระบบราชการ สำนักงานก.พ.ร. กล่าวว่า การสัมมนาวันนี้ เพื่อชี้แจงประเด็นสำคัญ ซักซ้อมความเข้าใจการตรวจสอบและการประเมินราชการโดยให้ ค.ต.ป. เป็นผู้ตรวจสอบ และเพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อนปฏิบัติงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการตรวจสอบ ให้กลไกของ ค.ต.ป.รับทราบโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ค.ต.ป.จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลให้สำเร็จ โดยค.ต.ป.ได้ทำงานแตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา มุ่งเน้น ตรวจสอบ ประเมินผลโครงการที่สำคัญของรัฐบาล   

ด้าน ดร.ประวิตร นิลสุวรรณกุล กรรมการค.ต.ป. กล่าวตอนหนึ่งในการชี้แจงภาพรวมแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลฯว่า ตนมีโอกาสลงพื้นที่ พบว่าศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อปหลายที่ศูนย์ร้าง หญ้าขึ้นรก รวมถึงพบโครงการที่มีการเสนอทำโครงการตลาดน้ำ โดยที่ตอนเขียนโครงการเขียนอย่างดี ร้านโอท็อปก็เขียนอย่างดี สะพานก็ขอสร้างเพื่อให้เรือนำสินค้ามาที่ตลาด จะมีบูธหรือร้านค้าอยู่ริมน้ำ ซึ่ง ค.ต.ป. ไปตรวจเมื่อปีก่อน และปีนี้ผ่านไปแถวนั้น พบว่าช่องที่จะวางขายของไม่ได้ใช้ หญ้าขึ้น จึงเข้าไปสอบถามว่าทำไมเกิดอย่างนั้น ปรากฏว่าการบริหารจัดการรับช่วงต่อโดยเทศบาล ที่เปลี่ยนชุดบริหารเกิดปัญหาไม่ได้สนใจ

"เลยทำให้เกิดความคิดขึ้นว่าโครงการที่เคยไปตรวจสอบแล้วตอนทำเสร็จที่มีการถ่ายรูป มีผู้มีชื่อเสียงมาเปิดงาน ว่าโครงการประสบความสำเร็จ แต่ผ่านไปก็ไม่มีใครไปดูแล้วก็เกิดเป็นอย่างนี้ ซึ่งมีตัวอย่างอีกหลายเรื่องที่เป็นแบบนี้ ทำให้งบประมาณเสียโดยเปล่าประโยชน์ โดยไม่มีใครไปดู และยังมีผลกระทบไม่ดีที่เกิดสภาพสิ่งแวดล้อมไม่ดีในชุมชนด้วย จึงเป็นแนวความคิดว่าปีนี้ถึงเพิ่มประเภทโครงการของการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ที่จะเริ่มทำในเรื่องนี้ คิดว่าการทำการตรวจสอบจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะที่ผ่านมาเคยมีรายงานว่าโครงการดีก็จบแค่นั้น แต่ปีต่อมาก็เสนอโครงการแบบนี้ก็ให้งบไปอีก จากนี้ก็จะได้พิจารณารอบคอบยิ่งขึ้น และถ้าเราดูแต่เอกสารเปเปอร์ แต่ของจริงเป็นตามนั้นหรือไม่เราไม่รู้ แต่ถ้าเราเห็นพื้นที่ สอบถามคนในพื้นที่ ปัญหาอุปสรรคจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้นต้องลงพื้นที่ รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ประเมินผล จัดทำรายงาน"ผศ.ประวิตร กล่าว  

ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตรวจสอบและประเมินผลดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการประเมินการทำงานของข้าราชการตามคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานก.พ. และสำนักงานก.พ.ร. ซึ่งตนคิดว่าคำสั่งดังกล่าวเน้นเรื่องการประเมินผลงานของข้าราชการ และทำให้ระบบการประเมินผลรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยการให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเขตจังหวัดของตัวเองเข้าไปร่วมประเมินผลด้วยซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีการกำหนดหัวข้อการประเมินชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อก่อนระบบของราชการคือรัฐมนตรีประเมินหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าส่วนราชการก็ประเมินระดับรองลงไปตามกรอบระเบียบ

"แต่การประเมินข้าราชการแบบใหม่จะมุ่งประเมินผู้บริหารระดับกระทรวง กรม หรือผู้บริหารระดับสูง เพราะระบบราชการมีตำแหน่งนักบริหารระดับสูง ผู้อำนวยการระดับสูง ผู้อำนวยการระดับต้น เพราะส่วนนี้มีผลต่อการขับเคลื่อน" นายสุวพันธุ์ กล่าว  

นายสุวพันธุ์ กล่าวถึงตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ปรับการทำงานของค.ต.ป.ว่า ปีที่ผ่านมาและปีต่อไปเรามาในทิศทางที่ถูกต้อง คือการปรับบทบาทและตรวจสอบโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังคิดในเรื่องของการบริหารนั้นรัฐบาลใช้หลักคิดประชาชนเป็นศูนย์กลางก็มีการดำเนินการโครงการประชารัฐ ทั้งนี้ประชารัฐเกิดมานานมีคนทำมานานแต่ถูกใช้ในทิศทางที่ไม่ใช่ประชารัฐ ซึ่งการที่รัฐบาลนี้นำประชารัฐเข้ามาใช้บริหารจัดการที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจำนวน 6 ด้าน ที่กำลังร่างทำให้สมบูรณ์ และแผนพัฒนาชาติฉบับที่ 12 และแผนปฏิรูปประเทศ

ดังนั้นการนำประชาชนเป็นศูนย์กลางแล้วนำแผนต่างๆจะมาซึ่งนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นนี่คือโครงสร้างใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากเห็นการบูรณาการโครงการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยมี 3 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลวางกรอบให้เกิดแผนปฏิบัติการในทุกส่วนราชการ ให้เกิดการบูรณาการงาน 11 ด้าน ดำเนินการเรื่องที่เป็นความสำคัญเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งท่านนายกฯพูดในที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าอยากเห็นการวางงบประมาณที่เหมาะสม งานประจำต้องไม่ทับซ้อนกับงานที่สำคัญเร่งด่วน และต้องให้น้ำหนักที่เรื่องของความสำคัญเร่งด่วน 4 ด้านของรัฐบาล ไม่ควรซ้ำซ้อนกัน 

นายสุวพันธุ์ กล่าวอีกว่า อยากให้สำนักงานก.พ.ร. คิดระบบตรวจสอบและประเมินผลที่ทำอย่างไรให้ระบบนี้ยั่งยืนอยู่ได้ และทุกรัฐบาลต้องใช้ต้องทำจากระบบนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เดินหรือไม่เดินก็ได้ แล้วแต่นายกฯท่านใดอยากจะทำหรือไม่ทำ คิดว่าช่วงนี้เราควรจะดูว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากแผนการปฏิรูปประเทศ การบริหารราชการแผ่นดินที่อาจจะเขียนเรื่องการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมีส่วนที่จะช่วยให้ระบบการตรวจสอบมีความยั่งยืนได้หรือไม่ ซึ่งการประชุมวิปสามฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าควรมีหมวดปฏิรูปอยู่ในรัฐธรรมนูญ