'เบนเข็ม' สู่ 'นอกบ้าน 'สนามทำเงิน 'อมตะ'

'เบนเข็ม' สู่ 'นอกบ้าน 'สนามทำเงิน 'อมตะ'

'เมืองแห่งความสมบูรณ์แบบ' โมเดลลงทุน 'ซีแอลเอ็มวี' บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน 'วิกรม กรมดิษฐ์' ลดการลงทุนในบ้าน หันหน้าสู่ 'เวียดนาม' และ 'พม่า'

หลายปีที่ผ่านมา บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ ของ 'ตระกูลกรมดิษฐ์' ต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยลบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบทางการเมือง การบริโภคภายในประเทศและส่งออกหดตัว รวมถึงเศรษฐกิจโลกถดถอย
สะท้อนผ่านยอดขายที่ดินที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 บริษัทอาจสร้างยอดขายที่ดินได้เพียง 800-1,000 ไร่ ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าหมายเมื่อช่วงต้นปีก่อนที่ทีมบริหารเชื่อมั่นว่า จะมียอดขายที่ดินระดับ 'พันไร่' 

ทว่าเมื่อการทำธุรกิจหลักในประเทศอาจไม่สามารถพลิกฟื้นยอดขายที่ดินได้ในเร็ววัน ตระกูลกรมดิษฐ์ ตัดสินใจ 'เบนเข็ม' การสร้างเงินไปในบริษัทในเครือที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2558

ภายใต้ชื่อ บมจ.อมตะ วีเอ็น หรือ AMATAV (AMATA ถือหุ้นใหญ่ 36.40%) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ด้วยการถือหุ้นบริษัท อมตะ เวียดนาม ในสัดส่วน 89.99% ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ เบียนหัว และอมตะ ซิตี้ ลองถั่น ประเทศเวียดนาม

'วิกรม กรมดิษฐ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มอมตะ คอร์ปอเรชัน ควงแขนน้องชาย 'วิบูลย์ กรมดิษฐ์' กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด AMATA และน้องสาว 'สมหะทัย พานิชชีวะ' กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AMATAV ตอกย้ำยุทธศาสตร์นี้ ผ่านงานฉลองครบรอบ 40 ปี

ภายใต้คอนเซปต์ 'THE FUTURE IS HERE' ซึ่งถูกเนรมิตขึ้นภายใน 'ปราสาทอมตะ คาสเซิล' มูลค่า 2 พันล้านบาท ที่ตั้งอยู่ในสนามกอล์ฟ อมตะ สปริงค์ คันทรี คลับ จังหวัดชลบุรี ปราสาทหรูแห่งนี้เกิดขึ้น จากการสเก็ตช์ภาพวาดบนกระดาษสามแผ่นของ 'วิกรม' เมื่อสิบปีก่อน

'เราจะนำโมเดลการทำธุรกิจในเมืองไทยไปเป็นต้นแบบการลงทุนในต่าง ประเทศ ภายใต้แนวความคิด เมืองแห่งความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfect City' 'วิกรม กรมดิษฐ์' กรรมการผู้จัดการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน มีความคิดเช่นนั้น

ในปี 2559 กลุ่มอมตะ ตั้งงบประมาณไว้ระดับ 5 พันล้านบาท โดยจะเน้นการลงทุนใน บมจ.อมตะ วีเอ็น เป็นหลัก เพราะจากประสบการณ์การทำงานในเวียดนามที่มีมานานกว่า 20 ปี เชื่อว่า จะทำให้กิจการขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 'สิบเท่า' ภายใน 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อมีความเชื่อเช่นนั้น บริษัทจึงกล้าที่จะประกาศว่า 'จะเติบโตมากในเวียดนาม เราทำมานานแล้ว ไม่ใช่เด็กน้อยแบเบาะ'

'งบการลงทุนหลักๆ จะอยู่ในต่างประเทศ 80% และในประเทศ 20% แต่ในแง่ของรายได้ยังคงอยู่ในประเทศ 90% และต่างประเทศ 10%' 

ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามได้ชักชวนให้เราเข้าไปทำ 'นิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ' หลังประสบความสำเร็จจากการทำนิคมอุตสาหกรรมทางตอนใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศมาแล้ว

คำเชิญครั้งนี้ ถือเป็นตอกย้ำว่า ทางการเชื่อมั่นในฝีมือการทำงานของเรา ถามว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้เมื่อไร เรายังตอบเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุย

เมื่อถามถึง 'ข้อดี' ของประเทศเวียดนาม ข้อแรก มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงกว่าประเทศไทยมาก โดยในปีที่ผ่านมาคาดว่าจะอยู่ที่ 7% ซึ่งประเทศเวียดนามและเกาหลี ถือเป็นประเทศหลักที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจโรงไฟฟ้า
ข้อสอง เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement :TPP) ขณะเดียวกันยังได้สิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเรามองว่าสองเรื่องนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของเวียดนามมีการขับเคลื่อนที่ดีขึ้น และยังทำให้มีต้นทุนสินค้าต่ำกว่าประเทศอื่นในแถบอาเซียนด้วย

ส่วนแผนการเติบโตของ 'อมตะ วีเอ็น' เรามองว่า ปีนี้น่าจะทำได้ในระดับ 40-50% เมื่อเทียบกับปี 2558 หลังบริษัทจะมียอดขายที่ดินเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการขายที่ดินในแขตนิคมอุตสาหกรรม และเขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย

การขายในเขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ถือว่าทำได้ดีในแง่ของราคา เนื่องจากราคาขายต่างกับการขายในเขตนิคมอุตสาหกรรมถึง 'ห้าเท่า' ฉะนั้นปีนี้เราจะเปิดขายส่วนนี้เพิ่มเติมอีก ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าสองราย คือ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์

สำหรับ 'จุดเด่น' ของ 'อมตะ วีเอ็น' คือ 1.บริษัทดำเนินธุรกิจแบบไม่มีหนี้สิน 2.บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยกระแสเงินสดมาโดยตลอด เริ่มต้นจากเงินทุนเพียง 12 ล้านเหรียญ (อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท)

3.อมตะเวียดนาม เป็นเด็กดีที่จ่ายภาษีและเงินปันผลให้พันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เรามีเงินไปขยายธุรกิจในเขตพื้นที่ที่เป็นมาสเตอร์พีซของเวียดนามได้มากถึง 2 เท่า

๐'พม่า-ลาว-กัมพูชา' สตอรี่ใหม่

'ชายวัย 63 ปี' เล่าต่อว่า ตอนนี้บริษัทกำลังศึกษาการลงทุนในประเทศพม่า,สปป.ลาว และกัมพูชา แต่อาจได้เห็นการลงทุนในพม่าเป็นประเทศแรก ซึ่งทำเลของประเทศดังกล่าวอยู่ติดเมืองจีนและไทย ขณะเดียวกันพม่ายังติดกับมหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ

อธิบายง่ายๆ ตอนเราเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะเห็นว่าประเทศอยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ ฉะนั้นการเข้าไปลงทุนในพม่าเราก็มองในโมเดลเดียวกัน คือ มองความสะดวกสบายในการขนส่งสินค้าของลูกค้าเป็นหลัก

เมื่อถามถึงการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) นายใหญ่ แสดงความเห็นว่า เวียดนามยังคงเป็นเบอร์ 1 ในแง่ของการลงทุน เพียงแต่วันนี้ภาพใหญ่ของเวียดนามยังไม่ชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมหลักของประเทศนี้คืออะไร เป็นต้น

ไม่เหมือนเมืองไทยที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่อันดับต้นๆของโลก หรือ ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย ส่วนตัวมองว่า ในอนาคตเวียดนามอาจเด่นเรื่อง 'อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์ และสินค้าอุปโภคบริโภค' เป็นต้น

'ความคืบหน้าในการสร้างนิคมฯ ติดชายแดน จังหวัดกาญจนบุรี เรายังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องการรอให้พม่าจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อน คาดว่าภายในเดือนเม.ย.นี้ อาจมีความชัดเจน'

๐ยอดขายที่ดินปีนี้โต 20%

'วิบูลย์ กรมดิษฐ์' กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน บอกว่า ในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายที่ดินเฉลี่ย 10-20% ส่วนในแง่ของรายได้ยังไม่สามารถประเมินได้ต้องขึ้นอยู่กับราคาที่ดินในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับแผนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทย เราวางไว้ที่ระดับ 2 พันล้านบาท โดยจะนำไปลงทุนในระบบสาธารณูปโภค หลังเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น และจีน

สะท้อนผ่านการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งสัญญาณที่ดีนี้เกิดขึ้น หลัง 'ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมาประกาศว่า 'ปีนี้จะเป็นเป็นปีแห่งการลงทุน' 

'นโยบายการลงทุนของรัฐบาลชุดนี้ อาจทำให้มีโรงงานเปิดใหม่ในสองนิคมอุตสาหกรรมของอมตะไม่ต่ำกว่า 102 โรงงานต่อปี ฉะนั้นแผนงานที่ว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า (2559-2563) เราจะมีโรงงานครบ 2 พันโรงงาน คงไม่ใช่เรื่องยาก' 

ปัจจุบันนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่น 60% และประเทศจีนประมาณ 10% ที่เหลือเป็นนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ สำหรับนักลงทุนจากเมืองจีนที่เริ่มหันมาลงทุนในนิคมฯเมืองไทยมากขึ้น เช่น ธุรกิจจำหน่ายสายไฟฟ้า และธุรกิจจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น อาจเป็นเพราะต้องการกระจายความเสี่ยง หลังหลายๆอุตสาหกรรมในเมืองจีน เริ่มมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมาย

สำหรับสัดส่วนรายได้ของบริษัทในปีนี้จะมาจากธุรกิจขายที่ดิน 65% และธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค 35% แต่ในอนาคตสัดส่วนการขายจะมาจากธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค 80% และธุรกิจขายที่ดิน 20% เนื่องจากในอนาคตรายได้จากสาธารณูปโภคจะทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

'ช้าแต่มั่นคง' เคล็ดลับ 'วิกรม'

'วิกรม กรมดิษฐ์' บอกว่า ตลอดการทำธุรกิจในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีทรัพย์สินแตะระดับ 2 หมื่นล้านบาท กำไรสะสม 9 พันล้านบาท ขณะเดียวกันยังทำให้มีที่ดินในเมืองไทย 1.5 หมื่นไร่ และที่ดินในเวียดนาม 4 หมื่นไร่ ส่วนในแง่ของอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) จากนี้เราจะพยายามรักษาไว้ไม่ให้เกินระดับ 1 เท่า 

สำหรับความแตกต่างระหว่างนิคมฯอมตะกับนิคมฯอื่นๆ คือ 1.ถนนในนิคมฯอมตะมีขนาดกว้างนิคมฯอื่นๆ 2.บริเวณรอบนิคมฯจะเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว 3.ระบบการบริหารจัดการของเสียของอมตะมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่น

4.บอกตัวเองมาตลอดว่า เราไม่ใช่ 'นิคมอุตสาหกรรม' แต่เป็น 'เมือง' ฉะนั้นจะหยุดแค่การมีระบบน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ไม่ได้ แต่ต้องสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่อยู่ภายในนิคมฯด้วย

'ไม่มีนิคมฯแห่งไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบเท่าอมตะ'

วันนี้เราสามารถพูดได้เลยว่า ลูกค้าที่อยู่ในนิคมฯของอมตะ จะเห็นความแตกต่างเกิดขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งในอนาคตอมตะก็ยังจะขายความแตกต่างให้กับลูกค้าทุกคน โดยสิ่งที่เห็นวันนี้ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของในอนาคต บริษัทมี 'ความฝัน' อยู่อย่างหนึ่งว่า

'การเปลี่ยนแปลงของอมตะจะไม่มีวันยุติ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบนั้นเรายังมีความฝัน' 

'เคล็ดลับ' ความสำเร็จของอมตะ ข้อแรก 'การมีวินัยทางการเงิน' ต้องรู้จักบริหารจัดการกำไรและหนี้สิน เมื่อได้กำไรจงนำไปลงทุน หรือไม่ใช้เงินลงทุน แต่จะนำที่ดินที่มีอยู่ไปเป็นเงินลงทุน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการเงินยั่งยืนกว่า

ข้อสอง 'ต้องมองให้ไกล' คือ มองล่วงหน้าไม่ใช่แค่ 10 ปี หรือ 20 ปี แต่หมายถึงต้องมองข้ามไปมากกว่านั้น และ ข้อสาม 'ต้องมองเป็นขั้นเป็นตอน' คือ จะทำอะไรต้องมีการวางแผน และค่อยๆ ก้าวเดิน เราเป็น 'เรือเกลือที่ค่อยๆ เดิน แต่มั่นคง' ซึ่งแผนพัฒนาของอมตะได้ถูกวางไว้ล่วงหน้า 30 ปีแล้ว

'เราคือผู้กำหนดอนาคต ด้วยการมองการณ์ไกล'