'เอดีบี'มอบเงินให้เปล่าไทย126ล้าน

'เอดีบี'มอบเงินให้เปล่าไทย126ล้าน

"เอดีบี"มอบเงินให้เปล่า 126 ล้าน สนับสนุนให้ไทยศึกษาบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ พร้อมหนุนศึกษาแนวทางให้คนจนเข้าถึงการบริการแบงก์รัฐ

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร หนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี สนับสนุนเงินแบบให้เหล่าจำนวน  3.5 ล้านดอลลาร์ (126ล้านบาท) ผ่าน 2 โครงการใหญ่ แบ่งเป็น  เงินให้เปล่าจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ ( 72 ล้านบาท) ในโครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมและการป้องกันภัยพิบัติในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และเงินให้เปล่าอีก 1.5 ล้านดอลลาร์ (54 ล้านบาท) ในโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อช่วยให้สถาบันทางการเงินเฉพาะกิจสามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่ไม่อยู่ในระบบธนาคารได้ โดยทั้ง 2 โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนญี่ปุ่นเพื่อลดความยากจน ซึ่งบริหารจัดการโดยเอดีบี

นายเจมส์ นูเจน ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอดีบี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 รัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินมาตรการควบคุมอุทกภัยขั้นสูงหลายวิธี โครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัตินี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชน เช่น การเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม การตอบสนองและการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

ส่วนโครงการที่สองนี้เป็นการสนับสนุนการเงินแบบองค์รวมเพื่อช่วยลดความแตกต่างของความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบเต็มรูปแบบ  ชุมชนชนบทและชุมชนเมืองที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 5 แห่ง จะถูกเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องในการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้การเตรียมการป้องกันอุทกภัยในอนาคตและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างฉับพลัน

ภายใต้โครงการนี้ จะจัดให้มีการอบรมและสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถแบบครบวงจร ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ตั้งแต่มกราคม 2559 ถึง ธันวาคม 2560 

ส่วนโครงการที่สองนั้น จะสนับสนุนหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีบทบาทหลักในการขยายการให้บริการทางการเงินแก่คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ ความช่วยเหลือดังกล่าวจะดำเนินการผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ และการวางแผนธุรกิจให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

สำหรับโครงการนี้คาดว่า จะช่วยให้สถาบันการเงินเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถให้บริการได้ อย่างครบวงจร หน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ จะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการทำหน้าที่กำกับดูแล และการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าเมื่อพบการกระทำผิดทางการเงินเพื่อป้องกันผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ ระดับต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน มีสหกรณ์ออมทรัพย์ ในประเทศไทยทั้งสิ้น  8,000 แห่ง และมีสมาชิกจำนวน 11.5 ล้านคน โดยมีสินทรัพย์ คิดเป็นประมาณ 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันทางการเงิน  โครงการนี้ยังรวมถึงการจัดเสวนาเพื่อแบ่งปันความรู้จากต่างประเทศในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเป็นการนำเสนอบทเรียนตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กำกับดูแลภาคการเงินของญี่ปุ่น และกระทรวงการคลังของไทย

ด้านนายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ยังมีชุมชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกว่า 100 ตำบล ที่ผ่านมากรมพยายามที่สร้างแนวทางการป้องกันความเสี่ยง และลดกระทบให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง โดยเงินที่ได้จากเออีบีจะมาช่วยสนับสนุนแนวทางการศึกษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนด้านอุกทกภัยในระยะยาว