ธ.โลกชี้เสถียรภาพการเมืองฉุดลงทุนประเทศ

ธ.โลกชี้เสถียรภาพการเมืองฉุดลงทุนประเทศ

ผู้บริหารธนาคารโลกชี้เสถียรภาพการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการดึงดูดนักลงทุน ด้าน"ปลัดคลัง"เผยต่างชาติสนใจลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์

นายXavier Forneris senior Invesment Policy Officer,Trade & Competitiveeness ธนาคารโลก กล่าวถึงแนวนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน ในงานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนปี 2559 ซึ่งจัดโดยกระทรวงการคลังว่า ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล คือ สิ่งที่นักลงทุนกลัว โดยเฉพาะเรื่องการปฏิวัตินั้น แม้ว่า คนในประเทศจะมองว่า ไม่ได้เรื่องที่น่ากลัว แต่ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนกลัวมาก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการขาดเสถียรภาพทางด้านนโยบายการลงทุน ขณะเดียวกัน ปัญหาการคอร์รัปชั่น และ ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน 

สำหรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนนั้น นักลงทุนกลับมองว่า ไม่ใช่เรื่องหลัก ขณะที่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และ ผลิตผลของแรงงาน ยังเป็นประเด็นที่นักลงทุนมองว่า เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีปัญหาเรื่องเหล่านี้ และ ยังมีช่องว่างในการพัฒนาอีกมาก

ทั้งนี้ ในแง่การจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจสำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ได้ถือว่า แย่เกินไปหากเทียบกับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ พม่า แต่หากเราลดหย่อนก็มีโอกาสถูกข้ามไปได้ เพราะขณะที่ ประเทศไทยชะลอ แต่ประเทศอื่นพัฒนาตามปกติก็จะทำให้ประเทศอื่นข้ามไทยไปได้

เขากล่าวว่า หากมองภาพรวมการลงทุนต่างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึง ไทยด้วย จะพบว่า มีการเคลื่อนไหวด้านการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นทางการ และ รวมถึง การส่งเสริมการส่งออกเป็นหลัก กลยุทธ์นี้ ถือว่า ได้ผล เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาก และ จะได้ประโยชน์จากการลงทุนต่างชาติมากขึ้น เมื่อเกิดการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจ เพราะหมายถึงตลาดการค้าที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน

แม้การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะไม่สมบูรณ์ แต่จากข้อมูลการดึงเม็ดเงินลงทุนจะพบว่า ในปี 2557 ไทยมีสัดส่วนเงินลงทุนราว 10% จากเม็ดเงินลงทุนในอาเซียนทั้งหมด ก็ถือว่า เหมาะสมดี เพราะอาเซียนมี 10 ประเทศ ถือว่า เฉลี่ยๆกัน แต่ไม่สูงเท่ากับสิงคโปร์ที่การลงทุนทะลุเพดาน และ ไม่สูงเท่ากับศักยภาพของไทยที่มี ปัจจุบันไทยมีจีดีพีราว 16% ของอาเซียน แต่จากปัญหาการเมืองในประเทศ และ วิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้การลงทุนมีการขึ้นๆลงๆ

สำหรับการลงทุนต่างชาติในปี 2558นั้น ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูล คาดได้รับข้อมูลครบกลางปีนี้ แต่จากการที่ได้พูดคุยกับบีโอไอและข่าวสารที่ออกมาว่า การอนุมัติยอดการลงทุนจะน้อย ก็ประเมินว่า ปี 58 ไม่ใช่ปีแห่งการลงทุนที่ดี  คำถามคือ ปีนี้ จะเป็นอย่างไร จะตกต่ำต่อไหม หรือ จะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งใน 20 ปี เราก็หวังว่า ปีนี้ การลงทุนน่าจะดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดี คำถามคือ ถ้าไทยไม่มีเสถียรภาพการเมือง นักลงทุนจะเห็นประเทศอื่นน่าสนใจลงทุนมากกว่า ถือว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนของไทย

"ขณะนี้ พม่ามีการเลือกตั้ง นักลงทุนอาจสนใจเข้าลงทุนมากกว่าไทยหรือเปล่า ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่จะบอกว่า ไทยควรส่งเสริมให้กิจการในประเทศมีความมั่นคงน่าเชื่อถือ"

เผยต่างชาติสนใจลงทุนกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศได้แสดงความสนใจเข้าลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จำนวนมาก โดยช่วงที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปพบประธานส่งเสริมการลงทุนและส่งออก ที่ดูแลกองทุนความมั่งคั่งของประเทศโอมาน ซึ่งกองทุนนี้ เป็นผู้บริหารทรัพย์สินของสุลต่านจำนวนมาก ได้ให้ความสนใจลงทุน และ ทางอิหร่านก็ให้ความสนใจลงทุนกองทุนนี้ รวมถึง กองทุนของประเทศจีน (ซีไอซี) China Investment Corporate นับว่าเป็นสัญญาณบวกสำหรับกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์

ทั้งนี้ กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ จะพร้อมเปิดให้นักลงทุนทั้งรายย่อย สถาบัน ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมลงทุนในพ.ค.-มิ.ย.นี้ แต่ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ จะเป็นผู้ใส่เงินประเดิมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินองกองทุน 1 แสนล้านบาท โดยแผนการลงทุนของกองทนฯ จะลงทุนทั้งโครงการเก่าและใหม่ ทั้งนี้ กบข. และ ประกันสังคม ก็สนใจเข้าลงทุนกองทุนนี้ด้วยเช่นกัน

เขากล่าวว่า เหตุที่นักลงทุนสนใจลงทุนกองทุนดังกล่าว เพราะมองว่า ประเทศไทยมีโอกาส เนื่องจากระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการลงทุนไม่มากนัก จึงมีโอกาสขยายการลงทุนได้อีกมาก ดังนั้น ใครมาก่อนก็ได้ก่อน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ก็มีแผนชัดเจนว่า จะเริ่มลงทุนเมื่อไรและโครงการใดจะเป็นการลงทุนแบบพีพีพี ทำให้นักลงทุนเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการลงทุน

จับตาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

ด้านนายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับจากธนาคารโลกให้เป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ทั้งนี้ จากการสำรวจ 50 ประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market โดยพิจารณาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นกฎหมายที่เอื้อ และ การคุ้มครองสิทธิ์ของการลงทุน 

สำหรับปีนี้ รัฐบาลตระหนักว่า จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการลงทุน จึงได้ออกมาตรการสางเสริมหลายด้าน เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาคการส่งออกเราได้รับผลกระทบ ขณะที่ การกระตุ้นการบริโภคทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

ถามว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลขณะนี้ ถือว่า เพียงพอหรือไม่ เขากล่าวว่า ต้องดูสิ่งแวดล้อมสำคัญ โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะเป็นไปลักษณะฮาร์ดแลนด์ดิ้ง หรือซอฟท์แลนด์ดิ้ง หากเป็นแบบฮาร์ดแลนด์ดิ้ง ก็ต้องดูว่าจีนอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม แต่หากเป็นซอฟท์แลนดิ้ง ก็ถือว่า เศรษฐกิจจีนสามารถปรับตัวได้ดี

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผลของมาตรการกระตุ้นลงทุนของภาครัฐจะเกิดราวไตรมาสสามหรือสี่ของปีนี้ โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากตัวเลขการส่งเสริมบีโอไอที่เพิ่มขึ้น

สคร.เผย3เดือนแรกรสก.เบิกจ่ายลงทุนต่ำกว่าเป้า

นายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กล่าวว่า สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งรวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้วย ในปี 2559 นั้น มีแผนลงทุนทั้งสิ้น 5.93 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 1.3 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้รวดเร็วขึ้น  สำหรับในปี 2558 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไว้ 2.7 แสนล้านบาท แต่เบิกจ่ายได้จริง 2.19 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการลงทุนระบบขนส่งและคมนาคมขนาดใหญ่ ของกระทรวงคมนาคมนั้น มีวงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาท กระทรวงคมนาคมได้กำหนดลงทุนในช่วงปี 2559-2566  โดยแบ่งแหล่งของเงินลงทุน เป็นสัดส่วนดังนั้น  5 % มาจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล, 70% มาจากแหล่งเงินกู้ และ 2 0% เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน ที่เหลือมาจากแหล่งอื่นๆ