ร่างรธน.ฉบับปราบโกง 'ยังไม่โหดจริง'

ร่างรธน.ฉบับปราบโกง 'ยังไม่โหดจริง'

"ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ถึงขั้นติดดาบให้สตง. มีอำนาจแค่การเสนอให้ยับยั้ง ไม่ได้มีอำนาจยับยั้ง ไม่ได้โหดอย่างที่หลายฝ่ายคิด”

ประเด็นร้อนทางการเมืองขณะนี้ คือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่"มีชัย ฤชุพันธ์" ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บอกว่าเป็นฉบับปราบโกง  ได้พูดคุยกับสองผู้มีประสบการณ์ในงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยตรง คือ"วิชา มหาคุณ" อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ"พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปราบโกงได้จริงไหม?

วิชา : ในแง่ปราบโกงนั้น มีประเด็นน่าสนใจ คือการตรวจสอบนโยบายก่อนเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ทั้ง ป.ช.ช, สตง. หรือคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถที่จะเสนอยับยั้งได้ หากมองเห็นว่านโยบายที่พรรคการเมืองเป็นประชานิยม ที่อาจจะก่อความเสียหายกับบ้านมือง อย่างกรณีจำนำข้าว เราก็ไม่อยากให้เกิดกรณีอย่างนั้นขึ้นอีก  

กระบวนการตรวจสอบต่อไปนี้จะเป็นในแง่ของการเฝ้าระวัง เพราะลำพังการปราบปรามคงกำจัดการทุจริตไม่ได้ผล เนื่องจากคนโกงจะพยายามหาช่องว่างอยู่เสมอ ทั้งนี้ที่ฮ่องกงเองก็ประสบความสำเร็จในการปราบคอรัปชั่นโดยตรวจสอบเชิงป้องกันในทุกหน่วยงาน และอุดช่องโหว่ ส่วนที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีดีกรีความรุ่นแรงในการปราบโกงมาน้อยเพียงไหนนั้น คิดว่ายังเพียงครึ่งๆ เพราะจะต้องดูด้วยว่าการปฏิบัตินั้นจะเอาจริงไหม และผู้ปฏิบัติจะมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้อย่างที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์หรือไม่  

พิศิษฐ์ : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป้าหมายให้ความสำคัญกับการปราบการทุจริตอย่างมาก หากเราดูประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา แม้ว่าในรัฐธรรมนูญปี 2540 จะกำหนดให้มีองค์กรอิสระมากมายในการปราบทุจริต แต่เวลาผ่านไปก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล อย่างไรก็ดีในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ให้ความสำคัญกับ สตง. ด้วยการให้อำนาจในการตรวจสอบได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน ซึ่งการทำหน้าที่ของเราไม่ได้มีเพื่อจับผิด หากแต่เฝ้าระวังรักษาผลประโยชน์เงินของแผ่นดิน  

แต่บางครั้งเราเจอการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม สร้างความเสียหายให้ประเทศ เราก็มีหนังสือแจ้งเตือน เขาก็เฉยๆซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุว่า ถ้า สตง. เห็นว่าโครงการนี้จะสร้างความเสียหาย สมควรจะเสนอระงับยับยั้ง โดยให้มีการพูดคุยกับทาง ป.ป.ช. และ กกต. และส่งเรื่องไปยัง รัฐสภา  

แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังไม่ถึงขั้นติดดาบให้ สตง. เพราะการให้สตง. ร่วมกับ ป.ป.ช.และ กกต. เสนอให้สภาให้มีการยับยั้งโครงการเป็นเพียงแค่การเสนอให้ยับยั้งเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจยับยั้ง ซึ่งไม่ได้โหดอย่างที่หลายฝ่ายคิดเลย ทั้งนี้ทาง กรธ. ก็ต้องออกกฎหมายสอดรับกับส่วนนี้ และต้องคุ้มครองบทบาทหน้าที่ของเราโดยต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องของอำนาจ หากแต่เป็นบทบาทที่เราต้องรับภาระส่วนนี้  

ประเด็นที่ยังขาดในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขจัดการทุจริต?

วิชา : ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุให้ประชาชนมีสิทธิที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐ และได้รับการคุ้มครอง กล่าวคือพวกเขาจะไม่ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท ในการให้ข้อมูลเบาะแส หรือตั้งข้อสงสัยต่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ลำพังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างครบถ้วน โดยปราศจากประชาชนในพื้นที่ช่วยส่งข้อมูลและเบาะแสซึ่งผมเคยพูดเสมอว่า การต่อต้านทุจริตจะต้องให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูล โดยไม่ต้องขอ หมายความว่ารัฐรู้อะไรประชาชนก็ต้องรู้ออย่างนั้น อย่างเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการโครงการต่างๆ จะต้องลงเว็บไซต์หมด เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ และจะต้องอัพเดทข้อมูลเสมอ  

อยากจะเห็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ อย่างในกรณีสอบข้อเท็จจริงปมทุจริตสนามฟุตซอล ในโรงเรียนภาคอีสาน ซึ่ง ป.ป.ช. เองก็ได้ดึง สตง. เข้ามาร่วมด้วย โดยร่างรัฐธรรมนูญก็มีเขียนถึงเรื่องนี้บ้าง แต่อยากให้ระบุชัดเจนกว่านี้เพื่อการตรวจสอบ ไม่เกี่ยงว่าใครมีหน้าที่อะไร หรือแบ่งแบกกันทำ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างองค์กร หรือเข้าถึงข้อมูลระหว่างกัน โดยที่ไม่มีข้อจำกัด  

กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเราอ่อนที่สุด แม้จะเขียนกฎหมายดีเพียงไร แต่ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องแก้ไขปัญหาร่วมกับองค์กรอื่นๆ ผมจึงอยากเขียนชัดเจนว่าประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมเป็นเหมือนแขนขาขององค์กรในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องขอบคุณพวกเขาเวลาที่ส่งข้อมูลมาด้วยซ้ำ คือต้องสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องนี้  

พิศิษฐ์ : ที่ผ่านการดำเนินการส่วนใหญ่จะไปเน้นเรื่องที่เกิดความเสียหายขึ้นมาแล้ว ถ้าร่างรัฐธรรมนูญจะเติมต่ออีก ควรให้สามารถยับยั้งในการบริหารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงขั้นทุจริต  

ในหลักการหลายๆส่วนของร่างรัฐธรรมนูญดีแล้ว ไม่ใช่ดีเพราะว่าเพิ่มอำนาจให้กับ สตง., ป.ป.ช และกกต. ในการยับยั้งโครงการ ความจริงแล้วส่วนนี้ไม่ใช่อำนาจอะไรเลย หากแต่เป็นหน้าที่ในการตรวจสอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน และการที่บอกว่าจะส่งผลกับคนที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อไปนั้นถ้าคิดว่าพร้อมที่จะทำเพื่อบ้านเมือง ก็ต้องยอมรับการตรวจสอบได้ ไม่ใช่โอดครวญว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการตรวจสอบก็คือกระบวนการหนึ่งในระบอบประชาธิไตย ที่ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของสิทธิและเสรีภาพเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีมาตรการเชิงบังคับอย่างมาตรา 44 ที่สามารถระงับการบริหารได้ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องเสียหายไปเรื่อยๆ กว่าเราจะตรวจสอบเสร็จก็เสียหายไปมาก  

สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ?

พิศิษฐ์ : อยากให้ลองดูว่าหากระบวนการยับยั้งไปอยู่ที่สภา แล้วถ้ามีสภาผัวเมียกับคณะรัฐบาล จะทำอย่างไร หรือจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เรื่องที่ส่งไปยังสภา แล้วค้างและหายไปอย่างในอดีต ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากนี้ยังอยากให้มีโอกาสระงับยับยั้งในการบริหาร ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ หากว่าผู้มีอำนาจยังบริหารแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย หรือประชาชนมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ควรให้ใครบางคนที่มีอำนาจยับยั้งการดำเนินงานไว้ก่อนพื่อพิสูจน์กันก่อนที่จะดำเนินการต่อ ไม่เช่นนั้นการปล่อยไปก็จะทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นเรื่อยๆ อยากให้การลงทุนแก้ไขครั้งนี้ เมื่อลงทุนสูงแล้ว จะต้องได้ผลอย่างจริงจัง รวมถึงต้องมีมาตรการคุ้มครองให้ประชาชนที่ติติงผู้มีอำนาจในการทำหน้าที่อย่างไม่โปร่งใสด้วย  

วิชา : เมื่อมีการถูกตรวจสอบแล้ว ผู้มีอำนาจต้องยุติการทำงานชั่วคราว อย่างกรณีของข้าราชการยังให้พักงานได้ แต่ฝ่ายการเมืองเราไม่มีมาตราการนี้ ถ้าเพิ่มส่วนนี้ประชาชนก็จะมองเห็นแสงสว่างว่าจะมีการไต่สวนเกิดขึ้นเมื่อมาร้องเรียน และสามารถระงับโครงการนั้นได้ โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบด้วยซึ่งเรื่องนี้เป็นการรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ใช่ทางอาญาหรือทางแพ่ง แม้ว่ายังไม่ได้พูดกันว่าจะต้องรับผิดชอบอย่างไรแต่ในเบื้องต้นให้รู้ว่า เมื่อคุณทำโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้ถูกยังยั้งก่อนได้ นอกจากนี้เรื่องของการให้พ้นจากตำแหน่งให้ระบุชัดเจนกว่านี้ เพราะเคยมีกระบวนการหลบเลี่ยง เช่นในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงถูกตรวจสอบ ก็จะมีการย้ายคนนั้น หรือเปลี่ยนคนใหม่ เพื่อให้คนที่ถูกตรวจสอบอยู่ไม่ได้รับผลกระทบจากคำตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะเขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ส่วนนี้ก็น่าจะระบุให้ชัดเจนว่าให้ติดตัวไปเลย แล้วก็ไม่สามารถเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองได้ แม้ว่าคดียังไม่สิ้นสุด