แล้ง.. ต้องรอด!

แล้ง.. ต้องรอด!

สถานการณ์ ‘แล้งสุดขั้ว’ ที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญ และหลายฝ่ายกำลังร่วมหาทางรอด

แน่ใจหรือว่า ไม่เกี่ยวข้องกับชาวเมืองทั้งหลาย ในเมื่อไม่ว่าใครต่างก็ต้อง กิน

ฤดูเพาะปลูกปี 2557/2558 กลายเป็นความโกลาหลครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากพื้นที่เกษตรกว่า 150 ล้านไร่ ของประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

เกษตรกรพบปัญหาฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ต้นฤดูการเพาะปลูก ทำให้ต้องหันไปพึ่งพิงน้ำจากระบบชลประทาน และแหล่งน้ำธรรมชาติจนเริ่มแห้งขอด รัฐบาลออกประกาศลดการระบายน้ำเพื่อการเกษตร จนต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีชั่วคราว เนื่องจากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักอย่าง เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อย ในช่วงวิกฤติเหลือใช้ไม่ถึง 30 วัน

หลังจากนั้น สงครามแย่งน้ำขนาดย่อมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เครื่องสูบน้ำต่างถูกพาดลงตามลำคลอง ระดมสูบน้ำเข้าไปเลี้ยงกล้าข้าวที่กำลังยืนต้นตาย น้ำบาดาลถูกใช้เป็นอีกตัวช่วยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จนในที่สุด ถนนเลียบชายคลองหลายสายเริ่มแตกร้าว และทรุดตัวลงจากชั้นดินที่ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง

ระหว่างที่ปัญหาการขาดน้ำกำลังลุกลาม ข่าวลือว่า น้ำประปาขาดแคลนก็แพร่สะพัดถึงกรุงเทพมหานคร ผู้คนเริ่มกักตุนน้ำ พร้อมๆ กับแคมเปญรณรงค์ให้ประหยัดน้ำถูกทยอยปล่อยออกมาเพื่อขอความร่วมมือ สถานการณ์น้ำลุกลามบานปลายอยู่ราว 2 เดือน กระทั่งฝนแรกหล่นเม็ดลงมาช่วยกู้วิกฤติ แต่ก็ได้เพียงชั่วคราว

ถ้ายังจำรสชาติความโกลาหลกันพอได้ ก็ขอให้ทำใจ เพราะอย่างไรปีนี้.. ประเทศไทยจะประสบภัยแล้งเข้าขั้น สาหัสชนิดหนักกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน!

 

โลกร้อน นาแล้ง

รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2559 จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า มีปริมาณน้ำกักเก็บทั้งประเทศอยู่ที่ 38,040 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 54% ของความจุ และเป็นน้ำใช้การได้จริงเพียง 14,537 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่อ่างเก็บน้ำหลัก 4 อ่าง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือรวมกัน 10,119 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 41% โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริงเพียง 3,423 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ถือเป็นผลจากความรุนแรงของสภาพอากาศเช่นนี้ คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ต่างฟันธงว่า “ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ โลกร้อน”

ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยอมรับว่า สภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ และภัยแล้งของประเทศไทยทั้งหมด เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลต่อความรุนแรงของปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศผันผวนในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน หรือ เอลนีโญ่ โดยผลการวิจัยของศูนย์พยากรณ์ภูมิอากาศ สหรัฐอเมริกาพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในปี 2015 ถือว่ามีรุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกได้ในประวัติศาสตร์

เรื่องนี้ ถ้าจะบอกว่า โลกร้อน และเอลนีโญ่ เป็นผู้ร้าย ระบบการจัดการน้ำที่ล้มเหลว ก็หนีไม่พ้นข้อหา “สมรู้ร่วมคิด”

มุมมองทางวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นไปแบบไร้ทิศทาง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับน้ำล้วนผูกติดอยู่กับการคาดการณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำวิจัยพบว่า น้ำในลำธารหรือแม่น้ำที่มีอยู่มาจากป่าต้นน้ำถึงร้อยละ 90 โดยมาจากน้ำฝนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

..ไม่ว่าความผิดจะตกที่ใคร เกษตรกรไทยก็ยังต้องก้มหน้ารับสภาพต่อไป

ขณะที่ผลวิจัยโดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวนาทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 600 ราย โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 16.10 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.64 และภาคกลาง ร้อยละ 65.25 ระหว่างวันที่ 15-30 ธันวาคม 2558 ในหัวข้อ “ชาวนากับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2559” ก็พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ชาวนาร้อยละ 93.83 ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยในที่นี้ร้อยละ 50.87 บอกว่า สถานการณ์รุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้น โดยร้อยละ 74.00 พบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “รายได้” ที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนในการดูแลสูงขึ้น นั่นย่อมหมายถึงปัญหา “หนี้สิน” ที่ตามติดมาเป็นลูกโซ่

เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เอ่ยยอมรับว่า แม้จะยังมีพื้นที่ที่เสียหายไม่มาก แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่า ไม่สามารถใช้ในการสนับสนุนการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น นาปรังได้

แน่นอนว่า ความคิดเห็นของชาวนาราวราวครึ่งหนึ่งจากการสำรวจของแม่โจ้โพลล์ ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ‘งดปลูกข้าวนาปรัง’

เหตุผลก็เดาได้ไม่ยากเพราะ..ถ้าไม่ปลูกข้าว แล้วจะเอาอะไรกิน!?

 

ต้องสู้ ถึงจะชนะ

แม้ไม่อยาก แต่ก็คงเลือกอะไรมากไม่ได้ เพราะอย่างไร ชีวิตยังต้องเดินต่อไป แล้งรอบนี้จึงได้เห็นเกษตรกรจำนวนไม่น้อยดิ้นหาทางออกด้วยสองมือและสองขาของตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นชาวลำปางที่ฝากความหวังไว้กับ ถั่วลิสง พืชใช้น้ำน้อยอีกชนิดที่ให้ผลผลิตเร็ว โดยสิ่งที่เกษตรกรกำลังเร่งทำกันมากๆ ตอนนี้ก็คือ การขุดเจาะบ่อน้ำเพื่อเก็บไว้ในยามที่แล้งกว่านี้ ส่วนชาวนาที่อุตรดิตถ์กว่า 1,000 คน ตัดสินใจหันไปพึ่ง “บ่อพลาสติก” เพื่อเลี้ยงปลาดุก ทดแทนนาปรังที่มีอยู่ พร้อมปลูกพืชผักสวนครัวแซมตามคันนาแก้ขัดไปพลางๆ วิธีนี้ทำให้มีรายได้ขั้นต่ำคนละ 10,000 บาท จากพื้นที่บ่อ 8 ตารางเมตร ใช้เวลาในการเลี้ยง 3-4 เดือน

และหลังจากลำน้ำยมแห้งขอดจนมองเห็นผืนทราย คำรณ เสือไว เกษตรกรชาวพิจิตร ก็หันหาแหล่งน้ำใต้ดินจาก บ่อบาดาล มานำมาเลี้ยงต้นข้าวกว่า 10 ไร่ แม้จะต้องแลกกับต้นทุนค่าน้ำมันมากถึง 1,000 ลิตร ก็ตาม

ลงมาที่เมืองปากน้ำโพ ตอนนี้นอกจากจะมีโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ แล้วยังมีโครงการส่งเสริมเกษตรกร ปลูกพืชใช้น้ำน้อย แยกเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักสด ข้าวโพดหวาน งา และยังไม่ลืมที่จะปลูกพืชตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างมะนาวแป้น ชะอม มะกรูด ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน อีกเสียงโดย ทวาย กรวยทอง เกษตรกรชาวสวนมะลิ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ที่บอกว่า แล้งนี้ต้องปรับตัวอย่างมากเนื่องจากในพื้นที่ไม่มีน้ำเลย ประกอบกับประสบภัยหนาวรุนแรง ส่งผลให้มะลิไม่ออกดอก ต้องหันไปปลูกถั่วฝักยาวแทน เพราะทนแล้งได้ดีกว่า

หรือ ทวี อนุสนธิ ชาวนาจากบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี วัย 55 ปี ก็เลิกปลูกข้าวหันมาปลูกพืชสวน เพราะนอกจากปีนี้น้ำจะน้อยแล้ว ข้าวที่เพาะปลูกยังถูกหนูนากัดกินเสียหาย ซ้ำยังมีเพลี้ยกระโดดรบกวน พืชสวนผสม จึงเป็นคำตอบสุดท้าย โดยเลือกปลูกพืชอย่างมะนาว มะเขือ ชะอม มะละกอ ฟัก แฟง พร้อมกันนี้ยังชวนเพื่อนๆ ชาวนาว่า มาปลูกพืชสวนครัวระยะสั้นเพื่อเอาตัวรอดจะดีกว่า แทนที่จะเสี่ยงปลูกข้าวและคอยน้ำจนยืนต้นตาย

ด้าน กาหลง เปี่ยมชม อายุ 50 ปี คนบ้านเดียวกัน ก็หันไปปลูก ดาวเรือง ปรากฏว่า แค่ 30 วันก็ติดปุ่มติดดอก 45 วัน ก็ตัดดอก ได้ผลผลิตไว เขาจึงทดลองปลูกอีกในนาเช่า 2 ไร่ ใช้เงินทุนไป 30,000 บาท มีเถ้าแก่นำต้นกล้ามาขายในราคาต้นละ 2 บาท และรับซื้อดอกดาวเรืองในราคาร้อยละ 60 บาท

ส่วนเกษตรกรปทุมธานีก็ไม่สู้ไม่ถอย เข้าร่วมโครงการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และหันมา เลี้ยงไก่ เป็ด กว่า 2,500 ครัวเรือน เลี้ยง “ปลาดุก” บ่อดินและบ่อพลาสติกกว่า 3,000 ครัวเรือน ปลูกพืชผัก เห็ด สมุนไพร ร่วม 2,000 ครัวเรือน และยังมีที่หันไป เลี้ยงกบ อีกเกือบ 1,500 ครัวเรือน

โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาดุกและกบนั้น ต้องถือว่า กำลัง “ฮิต” มากในภาคกลาง โดยเป็นอาชีพเสริมของชาวท่าวุ้ง ลพบุรีเช่นกัน หลังจากน้ำในคลองชัยนาท-อยุธยา หรือ คลองมหาราช ได้แห้งขอดลงตลอดทั้งสาย

ฟากสุพรรณบุรีที่ปีก่อนเคยทดลองปลูกพืชน้ำน้อยไปแล้วได้ผล ปีนี้ก็ยังคงเดินหน้าหว่านเมล็ดตามนโยบายของรัฐ โดยพืชที่มาแรงมากๆ ก็คือ เมล่อน และแตงโม ขณะที่บางคนยังไม่ตัดสินใจปลูกพืชทดแทน เพราะเห็นว่า อย่างไรก็ต้องใช้น้ำ และต้องใช้เวลาถึง 40-60 วันจึงจะได้ผลผลิต เลยหันไปเลี้ยงสัตว์อย่าง นกกระทา และไก่ แทน

การดิ้นรนของเพื่อนเกษตรกรไทยทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อที่พวกเขาจะฝ่า “แล้ง” หนนี้ไปให้ได้

แต่ในเมื่อ “น้ำกิน” และ “น้ำใช้” ต่างก็ไหลมาจากตาน้ำเดียวกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่ภาระของเกษตรกรผู้ใช้น้ำต่างลมหายใจเพื่อยังชีพเท่านั้น แต่ “คนเมือง” ที่ใช้น้ำอุปโภคบริโภคก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบด้วย

เพราะถ้าน้ำในนา “แห้งขอด” ก็ย่อมสะเทือนถึงราคาข้าวในจานระหว่างมื้อ

เรื่องทำนองนี้มีให้เห็นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ระหว่างที่คันดินบนท้องนากำลังแตกระแหงเพราะขาดน้ำ ร่องสวนก็กำลังเดือดร้อนเพราะปัญหาการรุกของน้ำเค็ม จนสะเทือนถึงกระจาดผลไม้ เพราะพื้นที่ปลายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และเพชรบุรี ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และนครปฐมบางส่วน ต่างก็ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร จนทำให้สวนผลไม้เสียหายกันหมด

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวิกฤติแล้งขยายวงกว้างขึ้น ในที่สุด น้ำประปาก็จะกลายเป็นประเด็นกับผู้คนในเมืองใหญ่ทันที

อย่าลืมว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้น้ำของคนกรุงอยู่ที่ราว 200 ลิตร ต่อคนต่อวัน เมื่อคำนวณกับจำนวนชาวกรุงกว่า 8 ล้านคน เท่ากับว่า กรุงเทพมหานครต้องมีปริมาณน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านลิตร หรือราว 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

เมื่อเราต่างใช้น้ำจากแหล่งเดียวกัน ประหยัดน้ำจึงถือเป็นภารกิจระดับชาติที่ทุกคนต้องช่วยกันอย่างแท้จริง