บนถนนแห่งความ “ผลิบาน”

บนถนนแห่งความ “ผลิบาน”

ตามหลักจิตวิทยา “สีเขียว” เป็นสีในวรรณะเย็นที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย โปร่ง โล่ง สบาย และเป็นสีที่หมายถึง “การพักผ่อน” อย่างแท้จริง

ทว่า ไม่ได้มีแค่เพียงสีเขียวเท่านั้นที่ช่วยบำบัดจิตใจ หากแต่ยังมี “สีสัน” อื่นๆ ที่พร้อมมอบความรู้สึกที่ “แตกต่าง” ให้กับทุกๆ คนที่พบเจอได้เหมือนกัน

................


ดูข่าวพยากรณ์อากาศแล้วฉันก็ค่อยๆ พับเสื้อกันหนาว 3 ตัว กับผ้าพันคออีก 2 ผืน เพิ่มลงไปในกระเป๋าเดินทางใบเขื่อง เพราะเชื่อแน่ว่า เชียงใหม่ จะต้องหนาวเหมือนที่ “เขา” ว่าไว้แน่ๆ


แต่...


อุณหภูมิ 19 องศาฯ กำลังเย็นสบาย ไม่ถึงกับหนาว เพราะฉะนั้นเสื้อกันหนาวที่เราเตรียมมาจึงยังคงนอนนิ่งอยู่ในกระเป๋าเดินทางเหมือนเดิม
ตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงกลางคืนหนาวก็จริง แต่พอตกกลางวันแล้วร้อนอบอ้าว เพราะเชียงใหม่มีสภาพเป็นเหมือนแอ่งกระทะที่มีภูเขาล้อมรอบ ความร้อนจึงไม่สามารถกระจายออกไปได้ เวลาใครมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วเจออากาศร้อนๆ แบบนี้ก็อยากจะหนีขึ้น “ดอย” ทุกรายไป


เราเองก็เช่นกัน ครั้งนี้ปักหมุดการเดินทางไว้ที่ทางหลวงหมายเลข 1096 ถนนสายแม่ริม-สะเมิง หรือที่หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ “ถนนสายโรแมนติก”


...................


ต้นเค้าความโรแมนติกของถนนสายนี้เริ่มต้นที่ พระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ประทับของ “เจ้าดารารัศมี” พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเสมือนดวงใจของชาวล้านนาทั้งปวง ด้วยเพราะเป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองเหนือที่ถูกส่งมาถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าหลวงจนเป็นที่โปรดปราน


เมื่อครั้นเสด็จฯ กลับมาประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ก็ยังเป็นที่รักใคร่ของชาวเชียงใหม่ทุกคน เพราะท่านทรงงานหนักหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเกษตร ซึ่งนอกจากจะทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกแล้ว เจ้าดารารัศมียังทดลองปลูกพืชด้วยองค์เองที่พระตำหนักในอำเภอแม่ริม และ “กุหลาบ” ก็เป็นไม้ดอกที่พระราชชายาโปรดปรานมาก ถึงขนาดเลือกกุหลาบสายพันธุ์หนึ่งที่มีกลีบดอกสีชมพูสวย กลิ่นหอม ดอกใหญ่ ที่สำคัญเป็นกุหลาบไร้หนาม ทรงตั้งชื่อว่า “จุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระสวามี และนี่เองที่เป็นหลักฐานแห่งความรักและความภักดีที่เจ้าดารารัศมีมีต่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 5


แค่พระตำหนักเจ้าดารารัศมีเพียงแห่งเดียวก็รวบรวมความหมายของถนนสายนี้ไว้หมดแล้ว เพราะนอกจากความโรแมนติก บนถนนสายแม่ริม-สะเมิง ยังเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พื้นที่ปลูกพืชผักของโครงการหลวง และแน่นอน มีแปลงกุหลาบขนาดใหญ่ที่ส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศด้วย


……………….


เราค่อยๆ ไล่เรียงดูจากจุดเริ่มต้นของถนนสายนี้ จะพบว่ามีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย แต่ที่ชวนประทับใจที่สุดคงเป็น สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อยู่ติดกับถนนแม่ริมนี่เอง


สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เพื่อการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ ศึกษาวิจัย พร้อมกันนี้ยังให้บริการความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นศูนย์บริการการศึกษาและทัศนนิเวศน์ด้วย


หลายคนอาจรู้จัก “สวนเทิดพระเกียรติ” ที่ประดับตกแต่งด้วยพรรณไม้ดอกไม้ประดับหลากสี หลายสายพันธุ์ หรือบ้างก็ติดอกติดใจกับ “กลุ่มอาคารเรือนกระจก” ที่รวบรวมพรรณไม้ในเขตป่าดงดิบจากทุกภูมิภาคของทวีปเอเชียมาไว้ที่เดียว ส่วนเรือนกระจกอื่นๆ ก็มีของดีให้ชม ทั้งพืชทะเลทราย พรรณไม้น้ำ เฟิร์น กล้วยไม้ ฯลฯ


“อุทยานขิง-ข่า” ที่รวบรวมพืชตระกูลขิง-ข่าไว้มากที่สุดในโลก คือมากกว่า 180 ชนิด อาจเป็นโซนใหม่ที่เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย แต่ถ้าถามผู้คนในโลกโซเชียล ณ เวลานี้ Canopy Walkway หรือ ทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ คือไฮไลท์ของสวนพฤกษศาสตร์ฯ ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


ความสูงราว 25 เมตรอาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อมองลงไปข้างล่าง ความสูงระดับนี้ก็ทำให้ฉันขาสั่นได้ไม่ยาก “ทางเดินเหนือเรือนยอดไม้” แห่งนี้มีความสูง 25-35 เมตร และยาว 504 เมตร ตั้งอยู่ทางขวามือก่อนถึงสวนเทิดพระเกียรติและกลุ่มอาคารเรือนกระจกเพียงเล็กน้อย ที่นี่เป็นแหล่งศึกษาเรือนยอดไม้ของป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย


ฉันเดินตาม เมธี วงค์หนัก นักวิชาการระดับ 7 ศูนย์อนุรักษ์พรรณไม้ที่สูงเขตร้อน ไปเรื่อยๆ เพื่อรับความรู้มาประดับการชื่นชมความงดงามของพืชพรรณ แต่ยังไม่ทันไปไหนไกล ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมจึงมีรูป “กิ้งก่าบินปีกสีส้ม” แปะอยู่ทั่วไป


อ.เมธี บอกว่า กิ่งก่าบินปีกสีส้มเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของที่นี่ เพราะพบเพียงแห่งเดียวคือในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ หากนักท่องเที่ยวลองสังเกตก็จะพบว่ามี “ป้ายสื่อความหมาย” ที่คอยให้ข้อมูลเรื่องกิ้งก่าบินกับนักท่องเที่ยวไปตลอดทาง


จริงๆ ทางเดินเหนือเรือนยอดไม้แห่งนี้จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุ 84 พรรษา แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 แล้ว


อ.เมธี บอกว่า ทางเดินเหนือเรือนยอดไม้เป็นโครงสร้างเหล็กกลวงที่ทำบนพื้นที่ป่าดิบแล้ง ซึ่งเป็นรอยต่อของป่าดงดิบและป่าผลัดใบ โดยมีไม้ยางเป็นตัวชี้วัด ส่วนต้นสนที่เห็นอยู่ทั่วไปเป็นต้นไม้ที่นำมาปลูกไว้เมื่อครั้งที่ต้องการฟื้นฟูป่าจากการเป็นไร่เลื่อนลอยราว 30 ปีก่อน


ความตั้งใจในการสร้างทางเดินเหนือเรือนยอดไม้คือต้องการให้เป็นพื้นที่ศึกษาระบบนิเวศน์เหนือเรือนยอดไม้ของนักเรียนนักศึกษาเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีการจัดหลักสูตรในการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งนักเรียนแต่ละระดับชั้นก็จะได้รับความรู้ที่แตกต่าง เช่น เด็กเล็กๆ มาเพื่อรู้จักกิ่ง ก้าน ดอกใบ ส่วนที่โตมาหน่อยก็อาจจะศึกษาชื่อต้นไม้ พรรณไม้ และในระดับมหาวิทยาลัยก็ควรเรียนรู้เรื่องวงศ์ไม้ เพื่อจัดหมวดหมู่ของพืชแต่ละชนิดว่ามีญาติพี่น้องเป็นอะไรบ้าง


“ตรงนี้คือหัวใจของสวนพฤกษศาสตร์ เรียกว่า เป็นการจัดระบบแบบอนุกรมวิธาน แนวคิดหลักในการจัดสวนพฤกษศาสตร์ เป็นการจัดระบบหมวดหมู่ทางพืช เอาพืชหมวดเดียวกันมาไว้ด้วยกัน ส่วนป่าธรรมชาติก็อยู่ในส่วนของธรรมชาติ ไม่ไปแตะต้องมัน”


เราเดินไปเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ พบว่ามีต้นไม้หลากหลายชนิด ทั้งแคหัวหมู หรือแคหางค่าง, แคบิด, ฝาละมี หรือจำปาทอง, มังตาน หรือทะโล้, กระดึงช้าง เป็นไม้เถา, ยมหอม แต่ที่มีมากคือ “ตะแบกเปลือกเรียบ” ซึ่ง อ.เมธี ว่า เป็นไม้ที่หลักที่ถูกเลือกมาปลูกเพื่อสร้างสีสันให้ทางเดินเหนือเรือนยอดไม้น่าชมมากขึ้น


“ในประเทศไทยมีตะแบกอยู่ประมาณ 22 ชนิด เราเลยเลือกมาปลูกทั้งแบบต้นใหญ่และต้นเล็ก อีก 3-5 ปี ดอกตะแบกก็จะออกดอกสีม่วงสวยงาม จริงๆ เรามีวงศ์ไม้ที่อนุรักษ์มากมาย และอยากให้คนที่มาได้เห็นสีสันของพรรณไม้ คือในรอบ 1 ปี คุณจะเห็นความสวยงามของพื้นที่นี้ต่างกันไป”


อ.เมธี ไล่เรียงให้ฟังว่าถ้ามาในช่วงมกราคม-มีนาคม จะพบกับดอกเสี้ยวขาว คำมอกหลวง พยอม เต็ง รัง ช่วงเมษายน – พฤษภาคม ดอกตะแบกสีม่วงจะบานเต็มไปหมด ส่วนเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงของการชื่นชมดอกเสลาสีขาว แต่ถ้าเข้าหน้าฝนราวเดือนสิงหาคม-กันยายน อ.เมธีอยากให้ชื่นชมความเขียวขจีของป่ายามเมื่อได้รับน้ำที่ชื่นฉ่ำใจ


ปลายๆ กันยายนมาต่อจนถึงต้นหนาวราวเดือนพฤศจิกายน คนที่ชอบทะเลหมอกต้องมา เพราะที่นี่สามารถชมทะเลหมอกเหนือเรือนยอดไม้ได้อย่างสวยงาม และพอเข้าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมแล้วก็จะได้พบกับดอกไม้สีขาวอย่างเสี้ยวเครืออีกครั้ง


แต่นอกจากนี้ก็ยังมีกล้วยไม้ป่าอย่างฟ้ามุ่ย และไม้ผลัดใบสีส้ม สีเหลือง อีกมากมาย เรียกว่ามาแล้วเดินจนเพลินไม่อยากกลับเลยทีเดียว


“ในอนาคตเรามีโครงการจะทำสะพานแขวนด้วย คือไม่ต้องให้คนเดินย้อนกลับมา ซึ่งสะพานแขวนจะไปผ่านสวน 77 พรรษา แต่ถ้าใครไม่อยากเดินต่อก็สามารถย้อนกลับมาทางเดิมได้”


เวลา 1 ชั่วโมงน้อยไปทันทีเมื่อเรามี “กูรู” ด้านพฤกษศาสตร์เป็นผู้นำทาง แต่เมื่อถึงเวลาต้องไปก็ต้องไปแบบจริงจัง เราจึงถือโอกาสลาและสัญญาว่า จะกลับมาศึกษาเรือนยอดไม้ใน “ฤดูที่แตกต่าง” อีกครั้ง


....................


มองผ่านกระจกรถตู้ออกไป ฉันพบว่ามีป้าย “ไร่สตรอว์เบอร์รี่” มากมายเรียงรายอยู่ระหว่างทางเต็มไปหมด มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มจอดรถแล้วลงไปซื้อ หรือบ้างก็ถือตะกร้าหายเข้าไปในไร่ กิจกรรมเก็บสตรอว์เบอร์รี่จึงถือเป็นหนึ่งใน “กิจกรรมชวนหวาน(ซ่อนเปรี้ยว)” ของนักท่องเที่ยวได้ดี


ฉีกออกจากถนนเส้นนี้ไปเล็กน้อย เราตรงไปที่ ม่อนแจ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อำเภอแม่ริม สถานที่ที่ได้รับการขนานนามว่า “โรแมนติกที่สุด” เพราะนอกจากจะสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้แบบ 360 องศาแล้ว ภายในม่อนแจ่มยังประดับประดาไปด้วยดอกไม้ พรรณไม้ที่สวยงาม จนใครเห็นเป็นต้องยิ้มตามเลยทีเดียว


ภูเบศวร์ เมืองมูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย บอกว่า ม่อนแจ่ม เป็นเหมือนห้องรับแขกของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย เพื่อใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาระบบเกษตรของโครงการ ทุกวันนี้จึงมีทั้งบ้านพัก และร้านอาหารให้บริการ ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างดีเสมอมา


หัวหน้าศูนย์ฯ บอกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่เกษตร จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกฝิ่นและขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ ก็ให้หันมาปลูกพืชผักเมืองหนาว โดยใช้ระบบโรงเรือน เพื่อลดการบุกรุกทำลายป่า และปัจจุบันก็สามารถรักษาพื้นที่ป่าที่ควรเป็นสมบัติชาติเอาไว้ได้


สำหรับพืชผักที่ปลูกเน้นพืชเมืองหนาว เพราะบนดอยนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,300 เมตร เหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาว จึงส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกหลายอย่าง ที่เป็นผลไม้ก็เช่น สตรอว์เบอร์รี่, พลัม, อะโวคาโด, พลับ, มัลเบอร์รี่, เคปกูสเบอร์รี่, องุ่นแดงไร้เมล็ด, องุ่นดำไร้เมล็ด


ส่วนที่เป็นผักก็มีทั้งผักกาดหอม, ผักกาดหงส์, ซาโยเต้, เรดโครอล, ซูกินี, พริกหวาน, คะน้าฮ่องกง, บัตเตอร์เฮด ฯลฯ หัวหน้าศูนย์ฯ บอกว่า มีผักบางชนิดที่ให้ร้านสุกี้ชื่อดังปีละไม่ต่ำกว่า 6 ตันเลยทีเดียว


“รายได้จากผักประมาณ 38,000 ล้านบาท ส่วนผลไม้ประมาณ 3,600 ล้านบาท ที่นี่เกษตรกรจะมีรายได้ต่อหัวสูงหน่อย คือราวปีละ 3 แสนบาท และมีที่มากกว่า 1 ล้านบาทอยู่ประมาณ 5 ราย”


ฟังแล้วน่าอิจฉา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย หลังดื่ม “ชาสมุนไพรสด” ที่เป็น Welcome Drink ของโครงการหลวงจนหมด เราก็ออกเดินทางต่อ แต่ก็ยังอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1096 เช่นเดิม


………………………..


อาจไม่มีกลิ่นหอมเย้ายวนใจ แต่กุหลาบกลีบสวยที่อยู่ในโรงเรือนของ สถานีเกษตรหลวงปางดะ ในอำเภอสะเมิง ก็เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลความโรแมนติกอย่างเราได้เป็นอย่างดี


“เรามีกุหลาบตัดดอกที่ทำการวิจัยอยู่ 53 สายพันธุ์ และก็มีแนวคิดที่จะทำกุหลาบปลอดภัย คือกุหลาบกินได้ อาจจะทำเป็นแยม, ชา หรือทำกุหลาบทอดแบบที่เรียกว่า “เทมปุระ” แต่ก็ยังอยู่ในช่วงของการคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ” วิพัฒน์ ดวงโภชน์ หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงปางดะ ให้ข้อมูล


ไม่ว่าจะเป็นดอกกุหลาบสีแดง สีขาว สีส้ม สีชมพู ฯลฯ ทุกสีล้วนมีความสวยงามน่ารักในตัว หัวหน้าฯ บอกว่า กุหลาบของที่นี่มีบางส่วนที่ส่งเข้า “วัง” ซึ่งจะได้รับประกันราคาดอกละ 25 บาท เพราะฉะนั้นไม่ว่ากุหลาบจะถูกแค่ไหนหรือแพงเท่าไร กุหลาบปางดะก็จะมีราคาคงที่แบบที่เกษตรกรยิ้มได้เสมอ


หัวหน้าฯ วิพัฒน์ บอกว่า สถานีเกษตรหลวงปางดะ เน้นการทำงานด้านการวิจัยควบคู่ไปกับการบำรุงสายพันธุ์ งานสาธิต ทดสอบ และส่งเสริมเกษตรกร โดยมีพืชเขตร้อนเป็นพืชหลัก อย่างเด่นๆ ตอนนี้ก็มี ข้าวโพดหวานสองสี, กีวีฟรุ้ท, มะเดื่อฝรั่ง, แบล็คเบอร์รี่ ฯลฯ


ส่วนพริกก็ถือเป็นทีเด็ดเหมือนกัน เพราะสถานีเกษตรหลวงปางดะมีการทดลองปลูกพริกที่เผ็ดที่สุดในโลกที่ชื่อ “พริกพิโรธ” ไว้ด้วย ซึ่งพริกพิโรธนี้เป็นพริกจากแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ถือเป็นพริกที่เผ็ดที่สุดในโลก โดยมีความเผ็ดอยู่ที่ 1,000,000 Scoville Heat Units (SHU) เผ็ดขนาดไหนก็ลองเทียบกับพริกขี้หนูบ้านเราที่ความเผ็ดอยู่ที่ประมาณ 60,000 Scoville Heat Units (SHU) ที่นี่ทดลองปลูกในระบบปิด ซึ่งมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับแควันอัสสัม และพบว่าปลูกได้ดี ผลผลิตก็ออกมาน่าภูมิใจ จึงเน้นผลิตให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และยาเป็นหลัก


ใช่ว่าจะเป็นสถานีวิจัย ทดสอบ สาธิต และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรเพียงอย่างเดียว ภายในสถานีฯ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ดีมากๆ อีกที่หนึ่ง แถมข้างในยังมีบ้านพัก มีห้องประชุม สามารถจัดกิจกรรมสันทนาการ และจัดงานเลี้ยงต่างๆ ได้


……………………


ชื่นชมกุหลาบกลีบงามจนพอใจ เราเดินทางปิดท้ายทริปกันแบบเรียบง่ายที่ ไร่นภ-ภูผา ของ คุณไก่-นิศานาถ กาวินนะ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสะเมิง อำเภอที่ได้ชื่อว่ามีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และละครดังๆ ก็เคยมาใช้ไร่นี้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “กลรักสตรอว์เบอร์รี่” ที่มีชมพู่-อารยา และเคน-ธีรเดช แสดงนำ


ก่อนแสงตะวันจะลับขอบฟ้า เราพากันเดินถือตะกร้าและร่มแดงที่ทางไร่มีให้บริการแล้วเดินเข้าไปเลือกเก็บลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ต้องการออกมาชั่ง นักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่ไม่เน้นเก็บผลไม้ แต่เน้นถ่ายรูป เราเองก็เป็น เพราะพื้นที่เขียวๆ แบบนี้ เมื่อตัดกับลูกสตรอว์เบอร์รี่สีแดง และ “จ้อง(ร่ม)” แบบทางเหนือแล้ว ดูสวยงามสบายตาที่สุด


แต่อย่าเพลินกับการถ่ายรูปหรือเก็บสตรอว์เบอร์รี่จนลืมกฎเหล็กของที่นี่ก็แล้วกัน เพราะเขาแปะป้ายบันทึกข้อความไว้ชัดเจนว่า ห้ามทานสตรอว์เบอร์รี่ในแปลงโดยเด็ดขาด เพราะถ้าเห็นจะปรับ 20 เท่า แน่นอนว่า ทางร้านมีกล้องวงจรปิด ซึ่งสตรอว์เบอร์รี่ที่เก็บได้จะต้องนำมาชั่งเพื่อคำนวณราคา เวลาอยู่ในแปลงก็ห้ามกระโดดข้ามแปลง และขอให้เก็บเฉพาะลูกสีชมพู-แดงเท่านั้น


เราทำตามกฎแบบเป๊ะๆ จนเมื่อตะวันลาลับขอบฟ้าไปนั่นแหละถึงยอมพาตัวเองออกมาจากไร่ มองกลับไปยังเห็นหนุ่ม-สาวคู่หนึ่งยกมือขึ้นเพื่อถ่ายภาพแนว “เซลฟี่” กับไร่สตรอว์เบอร์รี่ ถือเป็นภาพที่ดูน่ารักชวนโรแมนติกไม่น้อย


......................


เมื่อตะวันลับฟ้าความเย็นที่ตามหาก็เริ่มคืบคลานเข้ามาพบปะแล้ว ฉันกลับไปที่รถเพื่อหยิบเสื้อคลุมตัวใหญ่และผ้าพันคอลายเก๋ออกมา นึกขอบใจสภาพอากาศที่ไม่ทำให้เรา “พลาด” ความตั้งใจ


ลมเย็นๆ พัดพลิ้วไหว ใครหลายคนเริ่มใช้ถนนสายโรแมนติกในการเดินทางกลับบ้าน ฉันเองก็เช่นกัน


...................


การเดินทาง


จากเชียงใหม่แนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 อาจแวะชมพระตำหนักดาราภิรมย์ก่อนก็ได้ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1096 ที่อำเภอแม่ริม ถนนเส้นนี้เรียกว่าเส้น “แม่ริม-สะเมิง” เป็นเส้นตรงไปเรื่อยๆ ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งจนไปสุดปลายทางที่อำเภอสะเมิง


สอบถามเส้นทางและรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5324 8604-5 หรือ www.tourismchiangmai.org