กินอินทรีย์ อยู่สุนทรีย์ ที่ 'คุ้มเจ้าบุ'

กินอินทรีย์ อยู่สุนทรีย์ ที่ 'คุ้มเจ้าบุ'

สายลมอ่อนพัดโชยกลิ่นดอกไม้หอมรวยรินอยู่บนเรือนไม้หลังใหญ่ที่มีนามว่า คุ้มเจ้าบุ ลำปาง

พบภายหลังว่ากลิ่นหอมนั้นมาจากดอกไม้เล็กๆ สีขาวที่รอวันเติบโตกลายร่างเป็นส้มโอหวานอร่อย นั่นคือเสน่ห์แรกพบเมื่อไปเยือนคุ้มเจ้าแห่งนี้


ท่ามกลางแมกไม้ รอบๆ ตกแต่งด้วยไม้ดอกยืนต้นใหญ่น้อยแสนร่มรื่น ขึ้นบันไดบ้านไปพบกับความโอ่โถงของห้องนั่งเล่น เดินไปตามพื้นแผ่นไม้ใหญ่ขัดมันบ่งบอกถึงความขลังของคุ้มเจ้าที่สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2476 เป็นเรือนทรงปั้นหยา ศิลปะแบบไทยผสมอินโดนีเซีย ที่เข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 กลายเป็นศิลปะล้านนาแบบผสมผสาน ว่ากันว่าคุ้มเจ้าบุแห่นี้เป็นที่อยู่ของเจ้านายที่เหลือเพียงหลังเดียวในจังหวัดลำปาง แถมยังเป็นคุ้มเจ้าที่ลูกหลานสืบสายเลือดยังใช้ชีวิตอยู่


ต้อม-นิตยา ศรีบุญเรือง เจ้าของคุ้มเจ้าบุเล่าว่า โครงสร้างหลักของบ้านยังคงอยู่ ทว่ามีการปรับปรุงเล็กน้อยให้เหมาะกับการเป็นที่พัก หรือโฮมสเตย์ ต้อนรับผู้มาเยือน เช่นเจาะหน้าต่างเพิ่ม เพื่อทำให้ตัวบ้านดูโปร่งสบายยิ่งขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนคุ้มแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ห้องโถงใหญ่บางจุดปิดทึบ


“คุ้มก็คือที่อยู่ของเจ้านายสมัยก่อน เจ้าบุ คือชื่อของคุณยาย สืบเชื้อสายนามสกุล ณ ลำปาง ตอนนั้นมีข้าทาสบริวารมากมาย มีไร่นานับพันๆ ไร่ มียุ้งฉางเก็บข้าวใหญ่มาก ฤดูเก็บเกี่ยวมีเกวียนมาส่งข้าวเปลือกไม่ขาดสาย เรียกว่าทยอยขนข้าวกันมาใช้เวลาเป็นเดือน เราก็ต้องทำอาหารเลี้ยงผู้คนจำนวนมาก พอลูกๆ ของเจ้าบุเติบโต ก็แบ่งมรดกที่ดินให้กับลูกหลาน และยกบ้านนี้ให้กับคุณแม่ สำหรับตัวเองเดิมรับราชการอยู่กรมอนามัย ตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาพื้นที่สูง ห้างฉัตร ลำปาง คิดว่าเกษียณแล้วเราจะทำอะไรดี ก็เลยคิดว่าทำโฮมสเตย์ดีกว่า เราเองจะได้มีอะไรทำไม่เหงา ก็เลยเริ่มทำบ้าน นี่ก็เพิ่งเกษียณเมื่อเดือนกันยายน ปี 2558 ที่ผ่านมา”


เรื่องของการตกแต่งบ้านเป็นงานของ เล็ก-ธราภพ แสงเล็ก (สามีของคุณต้อม) ซึ่งทำงานด้านตกแต่งภายในอยู่แล้ว ปรับปรุงสถานที่เตรียมพร้อมรองรับแขกผู้มาเยือน จากนั้นทั้งสองคิดเปิดร้านกาแฟเล็กๆ และห้องอาหารเบลล่า ไว้รองรับแขกผู้มาเยือน


คุณเล็กเล่าว่า “ทีแรกคิดว่าจะเอาแค่เมล็ดกาแฟมาขาย ช่วยคุณพ่อบลูโนที่โบสถ์แคทอลิก ซึ่งคุณพ่อเขานำเมล็ดกาแฟจากดอยสูงแจ้ห่มของชาวบ้านที่แม่แจ๋ม รับประกันความหอมกลมกล่อมด้วยรางวัลเหรียญทองจากอิตาลี มาจำหน่ายหารายได้เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กยากจนบนดอย ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนหนังสือ ก็เลยสร้างที่เดิมที่เคยเป็นยุ้งเก็บข้าวซึ่งเราเอาไม้ไปเสริมทำห้องหมดแล้ว เหลือแต่ฐานปูน สร้างต่อเป็นอาคารสไตล์ทอสคานา มีร้านกาแฟ และร้านอาหารชื่อ Bella Banana ไหนๆ ก็ไหนๆ สร้างห้องพักด้านบนอีก 2 ห้อง แล้วก็สร้างบ้านริมน้ำอีก 2 หลัง รวมทั้งหมดเรารองรับแขกได้แค่ 15 คน แบ่งเป็นห้องพัก 4 คน 3 คน และ 2 คน”


สำหรับห้องอาหารเบลล่า คุณเล็กบอกว่าเปิดบริการเฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ รับแขกแค่กรุ๊ปเดียว และต้องโทรจองล่วงหน้า เนื่องจากพ่อครัว(คุณเล็ก)ต้องแสดงฝีมือเอง อีกอย่างจะได้วางแผนเรื่องการจ่ายตลาดเพื่อซื้อวัตถุดิบ เสิร์ฟอาหารเป็นคอร์ส จะมีการพูดคุยถามไถ่กันก่อนว่าต้องการ ไก่ หมู หรือ เนื้อปลา จะเลือกซุปบล็อคโคลี ซุปเห็ด หรือซุปฟักทอง


เมนูเด็ดก็จะมี คินุบราวซอส กับ สลัดผักออแกนิคปลูกเอง ส่วนจานหลักที่ขึ้นชื่อก็คือ สเต็กไก่ซิกเนเจอร์ ที่นี่ไม่รับแขกเยอะเนื่องจากปลูกผักเสิร์ฟเอง รองรับคนไม่ได้มาก ส่วนอาหารเช้าของโรงแรมเป็นแบบง่ายๆ เช่น ข้าวต้มทรงเครื่อง ข้าวต้มกุ้ง กาแฟ ปาท่องโก๋ ขนมเค้กที่คุณต้อมทำเอง
บนเรือนเป็นห้องใหญ่จัดแบบ 4 คน มีห้องน้ำส่วนตัว ราคา 2,200 หากมากันเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก หรือเพื่อนๆ กลุ่มสี่คนก็สามารถพักห้องเดียวกันได้ ถ้ามา 3 คน มีห้องพักราคา 1,800 และห้องแบบ 2 คนราคา1,500 ทั้ง 3 ห้องนี้อยู่บนเรือนใหญ่ หากมาแล้วเหมาทั้งคุ้ม 3 ห้อง คิดราคาแค่ 5,000 บาท ส่วนห้องพักที่เบลล่า ราคา 2,000 บาท ทั้งหมดรวมอาหารเช้า และฟรีไวไฟ


สำหรับบรรยากาศของห้องพัก โซนห้องด้านหน้าจะมีหน้าต่างเยอะหน่อย ห้องด้านหลังเดิมเป็นห้องนอนและห้องเก็บของ ปรับปรุงใหม่เป็นห้องพักแบบครอบครัว คุณต้อมกล่าวว่า สโลแกนของคุ้มเจ้าบุก็คือ “กินอินทรีย์ อยู่สุนทรีย์” เพราะปลูกพื้ชผักไว้รับประทานเอง บรรยากาศการพักผ่อนเงียบสงบ หลังอาหารเช้าออกไปเที่ยววัดชมเมืองได้สบายๆ วัดที่แนะนำเช่น ปู่ผาแดง ที่อำเภอแจ้ห่ม เป็นวัดอันซีนไทยแลนด์ วัดพระธาตุลำปางหลวง และ วัดไหล่หิน อยู่ที่เกาะคา ก็น่าสนใจหรือจะไปช้อปที่บ้านสวนเซรามิคและที่อื่นๆ ก็มีอยู่หลายร้าน


ภายในอาณาบริเวณ 10 ไร่ จัดแต่งเป็นสวนป่าและสวนกล้วยที่แสนร่มรื่นริมบึงใหญ่ 2 บึง แขกที่มาพักสามารถชักชวนกันเดินเล่นตามอัธยาศัย ดูเป็ด ห่าน ลงเล่นน้ำ แวะเก็บไข่ไก่จากเล้า หรือจะเดินเข้าไปในกระโจมใหญ่เพื่อเก็บผักสดปลูกแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ปั่นจักรยานออกกำลังกายชมนกชมไม้ หรือจะปั่นจักรยานไปวัดลำปางหลวงห่างไปแค่ 10 กิโลเมตร


ส่วนเส้นทางมายังคุ้มเจ้าบุ หากมาจากกรุงเทพฯ ถนนสายเอเซียเลยอำเภอเกาะคามา 7 กิโลเมตรให้เข้าทางชุมชนบ้านฟ่อน ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำตรงมาหาไม่ยาก หรือจะใช้จีพีเอสก็หาง่าย GPS N18”15.569’

.............


ที่ตั้ง: บ้านป่ากล้วย ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ. ลำปาง
จุดเด่น: เป็นคุ้มเจ้าแห่งเดียวในจังหวัดลำปาง สงบ สบาย
ราคา: 1,500-2,200 บาท
ติดต่อ : โทร. 08 1882 0963 และ 08 1783 6035 www.khumjaobu-lampang.com FB:คุ้มเจ้าบุ