แดงได้ “ใจ”

แดงได้ “ใจ”

อย่างที่รู้ๆ สีมงคลของชาวจีน โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนคือ “สีแดง”

เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังมาถึง “เสาร์สวัสดี” ขอเก็บสิ่งที่มี “สีแดง” ระหว่างเดินทางไปเชียงใหม่มาให้ผู้อ่านได้ชื่นใจกันสักนิด


สตรอว์เบอร์รี : ช่วงนี้ใครมีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือ คงจะเห็นผลไม้สีแดงชนิดนี้วางขายทั่วไป แต่ถ้าต้องการไปชมและชิมให้ถึงไร่ต้องที่อำเภอสะเมิง เพราะที่นี่เป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รี่คุณภาพดีของเมืองไทย โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก ตั้งแต่ปีพ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา) เป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ Royal Queen


นอกจากนี้ก็มีพันธุ์พระราชทาน 16 พันธุ์พระราชทาน 20 พันธุ์พระราชทาน 50 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำเข้ามาคัดเลือกโดยการผสมตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพอากาศเย็นปานกลาง ทรงพุ่มปานกลางถึงค่อนข้างแน่น ผลผลิตมีคุณภาพดีโดยเฉพาะใกล้สุกเต็มที่ น้ำหนักต่อผล 12 -18 กรัม รูปร่างเป็นลิ่มสีแดงถึงสีแดงเข้มค่อนข้างแข็ง ไม่ต้านทานต่อไร แต่ต้านทานราแป้งได้ดี


พันธุ์พระราชทาน 70 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ใบมีลักษณะกลมใหญ่ และสีเขียวเข้มไม่ทนต่อราแป้ง แต่ทนต่อโรคเหี่ยว ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง น้ำหนักต่อผล 11.5 – 13.0 กรัม ผลมีลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอม มีความฉ่ำและรสชาติหวาน เปอร์เซ็นต์ความหวาน 9.6° Brix


พันธุ์พระราชทาน 72 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ TOCHIOTOME ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 น้ำหนักต่อผล 14 กรัม เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่มีความหวานน้อยกว่าคือ 9.3° Brix มีกลิ่นหอมเมื่อเริ่มสุก เนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิว ผลทนต่อการขนส่งมากกว่าพันธุ์อื่น และพันธุ์ 329 (Yale) เป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูก เป็นพันธุ์ที่มาจากประเทศอิสราเอล


ส่วนใครชอบรสชาติแบบไหน ตั้งแต่หวานอมเปรี้ยวไปจนถึงหวานฉ่ำต้องไปชิมด้วยตัวเอง


กุหลาบพันปี : ได้ชื่อว่าเป็นดอกไม้หายาก แต่คุ้มค่าที่จะออกตามหา สำหรับกุหลาบดอยสีแดงสดที่จะบานสะพรั่งในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธุ์ของทุกปี แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกุหลาบ (วงศ์ ROSA) โดยตรง เพราะกุหลาบพันปี เป็นไม้ในวงศ์ ERICACEAE แต่ด้วยความที่มีดอกสีแดงเหมือนกุหลาบ และลำต้นที่มีมอสเกาะคล้ายกับมีอายุเป็นพันปี จึงถูกเรียกจนติดปากว่า กุหลาบพันปี โดยมีชื่อท้องถิ่นว่า “คำแดง” ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Rhododendron arboreum subsp. delavayi ( Franch.) Chamberlain


ใครอยากเชยชมคำแดง ต้องออกแรงปีนดอยกันนิดหน่อย จุดที่จะพบเห็นแบบชัดๆ ถนัดตาอยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน บานสะพรั่งอวดโฉมนักท่องเที่ยวกันตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าเบ่งบานไปจนถึงสิ้นเดือนแห่งความรัก


ทว่า กุหลาบพันปีไม่ได้มีเฉพาะสีแดง ที่พบในเมืองไทยยังมีสีขาวอีก 2 ชนิด คือ “คำขาว” หรือ กุหลาบป่า ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Rhododendron moulmeinene Hook ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ดอกสีขาว พบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป


อีกชนิดคนท้องถิ่นเรียกว่า “กายอม” หรือ กุหลาบขาว ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Rhododendron veitchianum Hook มีลำต้นสูง 2 - 3 เมตร อาศัยเกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ ซอกหิน หรือโขดหิน ที่มีความชุ่มชื้นสูง จะพบได้ตั้งแต่พื้นที่ป่าดิบเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ออกดอกในช่วงเริ่มเข้าฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงมีนาคม


กุหลาบแดง : โครงการหลวงหลายๆ แห่งส่งเสริมให้ปลูก ทั้งสถานีเกษตรหลวงปางดะ, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ซึ่งแห่งสุดท้ายนี้มีการเปิด “ม่อนกุหลาบ” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว โดยมีกุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ ให้ชื่นชมมากกว่า 20 สายพันธุ์


ส่วนกุหลาบแดงนั้นถือเป็นสียอดนิยม ส่วนสายพันธุ์ที่ปลูกก็มีทั้ง Red Express, Royal Baccara, Gladiator, Avalanche, Reve lation, Miniature ฯลฯ ใครถูกใจแดงเฉดไหน หรือรูปทรงกลีบดอกอย่างไร เลือกชื่นชมได้กันตามสะดวก


ปิดท้ายกันด้วย ป๊อบปี้แดง : หลายคนรู้จักกันในชื่อ “ฝิ่น” ซึ่งเดิมพื้นที่ภูเขาแถบนี้เป็นไร่ฝิ่นที่ชาวม้งปลูกไว้ในเชิงพาณิชย์ ต่อเมื่อในหลวงเสด็จฯ เข้ามาทอดพระเนตร จึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แล้วพื้นที่ที่เต็มไปด้วยดอกไม้ที่มอมเมามนุษย์ก็กลายเป็นพื้นที่ปลูกผักที่สุดแสนอัศจรรย์


ที่ม่อนแจ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่รับแขกของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยมีดอกป๊อบปี้สีแดงให้ชมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักดอกไม้สีสวยแต่มีพิษร้าย และได้ตระหนักรู้ว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยมี “ฝิ่น” มากมายมาก่อน