"ที่พักขนาดเล็ก" ธุรกิจเติมเต็มฝันคนรุ่นใหม่

"ที่พักขนาดเล็ก" ธุรกิจเติมเต็มฝันคนรุ่นใหม่

เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่อยากทำงานที่ออกแบบชีวิตเองได้ ที่มาของธุรกิจ "ที่พักขนาดเล็ก" ซึ่งไม่ได้ให้แค่เงินแต่ยังให้ทางเลือกในชีวิต

    จะมีธุรกิจไหนที่ “คนทุกคน” สามารถทำได้ ไม่ว่าจะทุนหนา หรือทุนน้อย เรียนสูง หรือเรียนต่ำ อยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดแสนห่างไกล

หนึ่งในอาชีพใกล้ตัวที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง ก็คือ “ธุรกิจที่พักขนาดเล็ก” หรือ บูทีคโฮเต็ล ซึ่งกำลังเติบโตรับตลาดท่องเที่ยวเมืองไทยอยู่ในวันนี้

“ธุรกิจนี้มีคุณสมบัติสองข้อที่บอกว่า ทุกคนทำได้ ข้อแรก คุณเป็นคน และสองคุณมีบ้าน”

“วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์” ผู้ก่อตั้งโครงการเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูทีคโฮเต็ล บอกโอกาสธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ระหว่างแบ่งปันประสบการณ์บนเวที “เปลี่ยนแล้วรวย” โดย TCDC ที่ผ่านมา กับหัวใจการทำธุรกิจที่ตั้งต้นจากแค่ “คน” กับ “บ้าน” เพราะการลงทุนอาจเริ่มจาก คนหนึ่งคน แปลงบ้านเก่าของตัวเองมาเป็นที่พักรับนักท่องเที่ยว

ทำไมธุรกิจนี้ถึงหอมหวาน และคนรุ่นใหม่ก็ดูจะใฝ่ฝันเอามากๆ หนึ่งเหตุผลคือ “ผลตอบแทนจากการลงทุน” ที่ไม่ได้มีแค่ตัวเงิน หากทว่ายังหมายถึง เงิน+ทางเลือกในชีวิต

“คุณอาจลงทุนเพื่อเงิน แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามีทั้งเงินและทางเลือกในชีวิตด้วย ทางเลือกที่คุณจะได้อยู่กับคนที่รัก ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้อยู่ในที่ที่อยากอยู่ ได้เอาจุดขายของตัวเองมาเป็นจุดขายของโพรดักส์ นี่เป็นการลงทุนที่จะนำคุณไปสู่ทางเลือก และคุณค่า ในแบบที่คุณออกแบบได้เอง เล่นในเกมของคุณเอง” เขาบอกความหอมหวาน

ที่พักทั่วไปอาจขายความสบายในการเข้าพัก แต่กับบูทีคโฮเต็ล พวกเขาขาย “ประสบการณ์” ซึ่งประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งสวยงามเสมอไป วรพันธุ์ บอกว่า อาจมาในโหมด น่าเกลียด ก็ได้ เพราะนิยามของคำว่าประสบการณ์ก็แค่

 “เห็นและจำ จนวันตาย”

หน้าที่ของผู้ลงทุนก็แค่ ต้องแปลงประสบการณ์เหล่านั้น มาเป็น “จุดขาย” เพื่อสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ

หัวใจของการทำธุรกิจบูทีคโฮเต็ล เขายกให้ 3 เรื่อง คือ Creativity ความคิดสร้างสรรค์, Profit ผลกำไร และ Sustainability ความยั่งยืน

เริ่มจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ปลุกปั้นธุรกิจที่พัก ที่แตกต่าง และไม่เหมือนใคร

“คนมักถามว่า คีย์ซัคเซสของธุรกิจนี้คืออะไร ผมบอกได้แค่ว่า คีย์สู่ความล้มเหลวมีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรก ถ้าคุณทำอะไรตามๆ กัน คุณจะเจ๊ง และสอง ถ้าคุณเอาใจทุกคน คุณจะเจ๊ง” เขาสรุปสั้นๆ สะท้อนจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และต้องโฟกัสกลุ่มเป้าหมายให้ชัด ไม่ใช่เหวี่ยงแห หวังลูกค้าทั้งน่านน้ำ

ทว่าความคิดสร้างสรรค์มีมากมาย แล้วต้องเลือกใช้แบบไหน เขาว่า คิดง่ายๆ อะไรไม่เข้าท่า ตัดออก ความคิดไหนไม่นำมาสู่ “ผลกำไร” ก็ตัดทิ้ง

 “อย่างการประหยัดพลังงาน เป็นแนวคิดที่ควรทำ เพราะจะทำให้คุณประหยัดต้นทุน หรือการเอาท์ซอร์สควรทำ เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายประจำลง และการกระจายรายได้” เขายกตัวอย่างการคิดสร้างสรรค์ที่ไปด้วยกันกับ ผลกำไร

ปิดท้ายกับ “ความยั่งยืน” หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ

“ธุรกิจนี้เป็นการลงทุน โดยเอาทุนที่มีอยู่แล้วรอบๆ ตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น แสงแดด สายลม ชุมชน ตลอดจนทุนมนุษย์ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เอาทุนรอบตัวมาใช้ นั่นแปลว่าคุณสามารถลงทุนน้อยลงได้ แต่การทำธุรกิจก้าวแรกที่คุณทำ คุณรบกวนสังคม ดังนั้นพื้นฐานเลยคือ ต้องคิดเรื่องสังคมให้มาก” เขาบอกโจทย์ที่จะลืมคิดไม่ได้

ทฤษฎีแน่น ลองมาดูตัวอย่างคนสำเร็จกันบ้าง ที่ถูกพูดถึงมากๆ ในโลกโซเชียล ต้องยกให้กรณีศึกษาของหนุ่มเบส “วิโรจน์ ฉิมมี” สถาปนิกอนาคตไกลที่ทิ้งงานในเมือง ไปเปิดฟาร์มสเตย์น่ารักน่าชังชื่อ “บ้านไร่ ไออรุณ” อยู่ใน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง โดยใช้วิชาสถาปนิกไปสร้างสรรค์ที่พักชิคๆ ด้วยสองมือ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน และได้ทำตามความเชื่อของตัวเอง

 “บ้านไร่ ไออรุณ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท แต่ประเด็นคือ ไม่มีเงินกู้เลย เขาค่อยๆ ทำ ขายผักได้ก็เอามาลงทุน ส่วนหนึ่งก็รับออกแบบไปด้วย ค่อยๆ สร้างฝันขึ้นมา ทำบ้านพักทีละหลัง ที่น่าสนใจคือ ที่พักของที่นี่ขายประมาณ คืนละ 2 พันบาท แต่ที่พักที่ลงทุนมากกว่าหลายสิบเท่าซึ่งอยู่ในตัวเมือง ขายได้แค่ห้องละ 1 พันบาท ถ้ามองในแง่การลงทุน เขาลงทุนน้อยกว่า อยู่ในทำเลที่แย่กว่า แต่ให้ผลตอบแทนมากกว่าถึง 2 เท่า”

เขาบอกความน่าสนใจของการทำที่พัก ที่เริ่มจากพลิกจุดเด่น เฟ้นจุดขายของตัวเอง จนสามารถสกัดจุดอ่อนการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มาเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวอยากไปเยือนได้

นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ต้องการประสบการณ์ใหม่ รวมถึงการได้สัมผัสพื้นที่ใหม่ๆ ส่งอานิสงห์ให้ “ลันเจีย ลอดจ์” ที่พักที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งและลาหู่ ใน จ.เชียงราย ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวอย่างท่วมท้น ทั้งที่ที่นี่ ไม่มีทีวี ไม่มีไวไฟ ไม่มีแอร์ แม้แต่พัดลมก็ยังไม่มี อยู่ในห้องแสนเรียบง่าย แต่สามารถขายห้องได้ถึงหัวละ 4-5 พันบาท!

“ดูราคาถ้าคูณขนาดพื้นที่ อาจได้เท่าๆ กับโรงแรมแถวสุขุมวิทด้วยซ้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะยุโรป และแถบสแกนดิเนเวีย มากันเยอะมาก บางช่วงถึงขนาดต้องจองกันเลย”

เขาบอกความสำเร็จของที่พักที่หลายคนอาจส่ายหน้าให้กับคำว่า “ไม่มีอะไร” แต่กลับเป็นเป้าหมายที่คนมากมายอยากไปหา วรพันธุ์บอกว่า เราต้องมั่นใจในจุดขาย และยืนหยัดให้ถึงที่สุด และต้องกล้าดีไซน์จุดขายที่สามารถ ‘เลือกลูกค้าได้’

อีกหนึ่งความน่าสนใจของธุรกิจที่พักขนาดเล็ก คือ เราสามารถออกแบบกฎอย่างที่เราชอบได้ด้วย เช่น โฮมสเตย์ใน อ.ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน ของชาวเขามูเซอดำ ที่ดีไซน์โมเดลธุรกิจไม่ใช่แค่ให้ที่นอน ที่พัก ทว่าแขกที่มายังต้องจ้างไกด์ท้องถิ่นด้วย

“โอภาส ลิมปิอังคนันต์” นายกสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและธุรกิจโรงแรม บอกว่า ธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ไม่เพียงเป็นรายได้ เป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่เท่านั้น หากทว่ายังสามารถช่วยพัฒนาประเทศ ชุมชน และศักยภาพคนของเราได้

“วันนี้โลกเปลี่ยน ธุรกิจโรงแรมไม่ได้อยู่ที่ ที่นอน หมอน มุ้ง หรือ มาร์จิ้นเล็กๆ น้อยๆ ต่อห้อง ต่อคืนเท่านั้น แต่พูดกันไปถึงเรื่อง การอนุญาตใช้สิทธิ (Licensing) อนาคตรายได้หลักอาจมาจากค่าไลเซนซิ่ง โดยที่ไม่ต้องขายที่นอน หมอน มุ้ง แต่ขายแบรนด์ ซึ่งถ้าเราทำได้ วันหนึ่งเราอาจขายแบรนด์ให้ประเทศเพื่อนบ้านไปทำ ถึงตอนนั้นมูลค่าก็จะยิ่งทวีคูณ” เขาบอกโอกาสที่ยังมีอีกมาก ในธุรกิจที่พักขนาดเล็ก  

ขอแค่คิดสร้างสรรค์ ลงทุนเหมาะสม คำนึงถึงผลกำไร และหาทางให้กิจการยั่งยืนไว้ ความฝันของคนรุ่นใหม่ ก็จะกลายเป็นชีวิตจริงที่ “แฮปปี้” ได้

................................................................

Key to success

โอกาสธุรกิจที่พักขนาดเล็ก

๐ ใครก็ลงทุนได้ แค่มีบ้าน

๐ ไม่ได้ขายที่พัก แต่ขายประสบการณ์

๐ ผลตอบแทนคือ เงิน และทางเลือกในชีวิต

๐ ทำดีๆ รายได้อาจมากกว่า โรงแรมใหญ่ ทุนหนา

๐ แม้อยู่ห่างไกล ก็เป็นจุดหมายนักท่องเที่ยวได้

๐ ช่วยพัฒนาประเทศ ชุมชน และศักยภาพของคน

๐ มีโอกาสขายไลเซนส์ในอนาคต