'หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน' พระสุปฏิปันโนแก่นแท้แห่งพระกรรมฐาน

'หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน' พระสุปฏิปันโนแก่นแท้แห่งพระกรรมฐาน

"หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน" หรือ พระธรรมสิงหบุราจารย์ พระสุปฏิปันโนแก่นแท้แห่งพระกรรมฐาน

พุทธศาสนิกชนชาวไทยต้องพบกับความโศกเศร้า เมื่อต้องสูญเสียพระวิปัสสนาจารย์และพระนักพัฒนาที่เป็นเลิศในทางธรรม อย่าง "พระธรรมสิงหบุราจารย์" (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ที่ละสังขารอย่างสงบด้วยอาการอาพาธปอดอักเสบที่โรงพยาบาลศิริราช

“พระธรรมสิงหบุราจารย์ ภาวนาปฏิภาณโกศล โสภณธรรมานุสิฐ พิพัฒน์กิจสุนทร มหาคณิสสรบวรสังฆารามคามวาส ณ วัดอัมพวัน” เป็นพระราชทินนาม “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม” หรือ “หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน” ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านกรรมฐาน สติปัฏฐาน 4 ท่านมีลูกศิษย์มากมายที่มาเรียนมาศึกษาการนั่งกรรมฐานเพื่อแก้กรรม ในหมู่นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ต้องรู้จัก “สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดอัมพวัน”

หลวงพ่อจรัญได้พูดถึงประโยชน์ของกรรมฐานว่า “ชีวิตของคนเรานั้นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย บางคนหาทางออกได้ แต่สำหรับบางคนหาทางออกไม่ได้ กรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถล่วงรู้กรรมในอดีตของเราได้ เราก็จะสามารถแก้กรรมที่เกิดขึ้นกับเราได้”

“ถ้าเรามีสติดี มีกรรมฐาน ผีก็ไม่เข้า เจ้าก็ไม่ทรง ไปไหนก็ไม่ต้องกลัวคุณไสยที่ว่าเขาทำปล่อยมาตามลม จะไม่ถูกเลยนะ คนมีสตินี่จะไม่เข้า คนที่ไร้สติ ผีมันจะสิงกลายเป็นบ้าไป วิปริตผิดมนุษย์ไป จะไม่มีความสุข”
“ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมโดย กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรให้มากแล้ว ไม่สนใจใครทั้งหมด ตัดปลิโพธิกังวลให้หมด (พะว้าพะวัง ห่วงโน่น ห่วงนี่ ห่วงนั่น) ท่านจะไม่ขาดทุน”

ทุกวันนี้วัดอัมพวันมีความสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งบรรยากาศที่ร่มรื่น ศาลาปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ ลานจอดรถกว้างขวางสะดวกสบาย และห้องน้ำห้องท่าที่สะอาดสะอ้านถึงกว่า 500 ห้อง รวมถึงโรงทานที่มีอาหารและน้ำดื่มไว้คอยให้บริการผู้มาทำบุญและปฏิบัติธรรมไม่เคยขาด

วัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อจรัญทำมาอย่างสม่ำเสมอเมื่อสุขภาพยังแข็งแรง คือ 09.30 น. และ 13.30 น. ของทุกวัน หลวงพ่อจรัญจะออกมาให้พรญาติโยมเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะกลับเข้ากุฏิเพื่อพักผ่อน แม้ในวันที่หลวงพ่อจะชราภาพมากจนไม่สามารถเทศน์โปรดญาติโยมได้เหมือนในอดีต แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ถึงความเมตตากรุณาของท่านที่ส่งผ่านแววตาและสีหน้าที่แจ่มใส รอยยิ้มน้อยๆ ของท่านทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจที่จะปฏิบัติตามและก้าวเดินตามท่านในทางสายกลางเส้นนี้

ในการเทศนาสั่งสอนญาติโยมนั้น หลวงพ่อจรัญมักจะเทศนาเรื่องกฎแห่งกรรม โดยยกตัวอย่างการเผชิญกฎแห่งกรรมของตัวท่านเองในระหว่างที่บวชเป็นพระนี้ หลวงพ่อจรัญต้องรับผลกรรมที่ทำไว้ในวัยเด็กครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งก็หนักหนาสาหัสจนแทบเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งมีคนขี้เหล้าจ้างท่านด้วยเงิน 1 บาท ให้นำเต่า 7 ตัวไปต้มเพื่อเป็นกับแกล้ม ท่านจึงนำเต่าทั้งหมดไปต้มในหม้อน้ำที่น้ำกำลังเดือดพล่าน แต่คงเพราะหม้อดินเผาที่ใช้ต้มคงเก่ามากแล้ว เมื่อเต่าพากันดิ้นขลุกขลักอยู่ในหม้อ หม้อจึงแตกออกเป็นสองเสี่ยง เต่าทั้งหมดหลุดออกมาได้และยังไม่ตาย จึงพยายามตะเกียกตะกายหนีสุดชีวิตเข้าไปซุกตัวอยู่ใกล้กอไผ่ เมื่อ ด.ช.จรัญ วิ่งตามเพื่อจะจับมาต้มอีก เขาก็ต้องตกตะลึงกับภาพที่เห็น เพราะเต่าใช้สองขาหน้าปาดน้ำตาที่ไหลพรากๆ ออกมา เหมือนสำนวนไทยที่ว่า “ร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า” ไม่มีผิด ด้วยความสงสารจึงปล่อยเต่าทั้งหมดไป

ขณะที่บวชเป็นพระ หลวงพ่อรู้ล่วงหน้าว่าท่านต้องรับผลกรรมครั้งนั้น วันหนึ่งคนที่ท่านรู้จักที่บางปะอินไม่สบาย ท่านจึงตั้งใจไปเยี่ยม โดยจ้างรถปิกอัพไปกับคนขับสองคน ระหว่างเดินทางกลับฝนตกหนักมาก ถนนลื่น รถยนต์เสียหลักพลิกคว่ำแปดตลบ หลวงพ่อดิ้นขลุกขลักอยู่ในรถ เพราะประตูรถล็อกหมด ศีรษะถูกกระแทกทั้งบนและล่าง รถพังหมดทั้งคัน พอดีมีคนผ่านมาช่วยไว้จึงรอดชีวิตมาได้ แต่ท่านก็ต้องปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังถลอกอยู่นานนับเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้หลวงพ่อจรัญจะเจริญกรรมฐานแผ่เมตตาขออโหสิกรรมแก่เต่า แต่กรรมเวรที่ทำไว้ยังไม่หมดแค่นั้น แถมครั้งที่สองยังหนักหนากว่าครั้งแรก คราวนี้ท่านประสบอุบัติเหตุอีกครั้ง โดยรถที่ท่านนั่งมาประสานงากับรถทัวร์อย่างแรง จนร่างของท่านพุ่งทะลุกระจกรถกระเด็นออกไปหลายวา แล้วตกลงมาหน้าบ้านของเจ้าของโรงงานทำอิฐในสภาพคอหักพับมาอยู่ที่หน้าอก หนังศีรษะเปิดจากหน้าผากไปถึงท้ายทอย เลือดเต็มปากเต็มคอ โชคดีที่มีคนมาพบเข้า จึงอุ้มหลวงพ่อจรัญใส่รถขนอิฐนำไปส่งโรงพยาบาล แต่บังเอิญว่ารถไม่มีเบาะ หม้อน้ำรถก็ไม่มีฝาปิดต้องใช้ผ้าอุดแทน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งก้นของหลวงพ่อจรัญพอดิบพอดี ระหว่างทางที่จะไปโรงพยาบาล ท่านได้ยินเสียงเต่า พร้อมเห็นภาพเต่าโผล่ออกมาแล้วพูดว่า “สมน้ำหน้า เดี๋ยวกูจะซ้ำมึงๆ” พอขาดคำ น้ำในหม้อน้ำก็พุ่งขึ้นมาลวกหลวงพ่อจรัญตั้งแต่หัวไปตลอดตัว ท่านต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดทาง

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลสิงห์บุรี หมอก็บอกกับญาติโยมว่าท่านมรณภาพแล้ว ให้นำไปวัด เตรียมจัดงานศพได้เลย ทว่าขณะที่บุรุษพยาบาลกำลังเข็นหลวงพ่อไปเย็บแผลล้างเลือดเตรียมเข้าห้องดับจิตนั้น หลวงพ่อได้ฟื้นคืนสติ จึงตั้งอธิษฐานจิตว่า “ด้วยเดชะบุญกุศล ท้าวเวสสุวัณ เจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าใช้หนี้กรรมในโลกมนุษย์หมดแล้วก็ยินดีจะไป แต่ถ้าข้าพเจ้ายังใช้หนี้กรรมไม่หมด ข้าพเจ้าขอสาบานต่อท้าวเวสสุวัณว่า ขอให้ข้าพเจ้ากลับมาแก้ตัว สร้างกรรมดีใช้หนี้ให้หมด ถ้าหมดแล้วข้าพเจ้าจะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก”

เมื่อสิ้นคำอธิษฐาน ปรากฏว่าบุรุษพยาบาลเข็นรถไปตกร่องประตูเหล็ก และจากแรงกระแทกนี่เองทำให้กระดูกคอของหลวงพ่อซึ่งขาดอยู่เกิดติดกันขึ้นมา หลวงพ่อจรัญกลับฟื้นคืนสติ ทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวท่านไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพฯ เมื่อพ้นระยะวิกฤติแล้ว จึงส่งตัวท่านกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี ระหว่างนี้ท่านต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสเป็นเวลากว่า 50 วัน หิวน้ำก็ไม่สามารถดื่มได้ ต้องหยอดด้วยหลอดกาแฟ เวลาฉันข้าวก็ต้องใส่เข้าไปข้างๆ ปากทีละน้อย ขบฉันอาหารเลือดก็ไหลตลอดเวลา
ในช่วงเวลาที่ต้องรับผลกรรมนี่เอง หลวงพ่อจรัญจึงนึกถึงกรรมที่เคยทำกับนกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง…เรื่องมีอยู่ว่า…ในวัยเด็กท่านชอบยิงนกตกปลา ครั้งหนึ่งท่านยิงนกจนปีกหัก ตกลงบนคันนา มันพยายามวิ่งหนีสุดชีวิต แต่ ด.ช.จรัญ กลับวิ่งไล่ตาม แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เจ้านกตัวนั้นตกใจหันมาจิกมือท่านเต็มแรงจนเลือดพุ่งกระฉูด ด้วยความเจ็บแค้น ด.ช.จรัญ จึงจับนกหักคอ ถลกหนังหัว โดยไม่สนใจว่าเจ้านกตัวนั้นจะร้องลั่นและสิ้นชีวิตด้วยความเจ็บปวดทรมาน และผลกรรมในวันนั้นก็ตามมาให้ผลกับท่านอย่างที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้นเอง

เรื่องราวการให้ผลของกรรมของหลวงพ่อจรัญนั้น มีมากมายหลายเรื่อง สำหรับคนที่ชอบโกหกสบถสาบาน หลวงพ่อเล่าว่า ในวัยเด็กท่านมักจะขโมยเงินของยายบ่อยๆ เมื่อถูกจับได้ก็ไม่ยอมรับ พร้อมทั้งสาบานว่า “ถ้าขโมยจริงขอให้ฟ้าผ่า (แต่ไม่ตาย)” ผลกรรมในครั้งนั้นส่งผลให้วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อกำลังเทศน์โปรดญาติโยมอยู่ที่กุฏิหลังปัจจุบัน ตอนบ่ายสี่โมงเย็นได้เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ตัวหลวงพ่อจนจีวรไหม้ แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ร่างกายหลวงพ่อไม่ได้รับอันตรายใดๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลวงพ่อย้อนคิดถึงคำสาบานที่ให้ไว้กับยาย และมักยกตัวอย่างเรื่องนี้มาสอนญาติโยมให้ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรมเสมอ

ในเรื่องกฎแห่งกรรมนี้ หลวงพ่อจรัญได้ชี้แนะแนวทางสำหรับคนที่อยากหมดเวรหมดกรรมไว้ว่า “อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมต่อไป แค่นี้ก็พอแล้วค่อยทยอยใช้ไม่นานก็หมดไปเอง กรรมเราเป็นคนทำเราก็ต้องเป็นคนแก้ จะไปให้คนอื่นแก้ไม่ได้ การเจริญกรรมฐานทำให้รู้กฎแห่งกรรมว่าเคยทำอะไรไว้ จะได้แก้กรรม (ชดใช้กรรม) ของตัวเอง แล้วแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ที่ร้ายจะกลายเป็นดี ลูกหลานจะมั่งมีศรีสุข ประกอบอาชีพการงานมีเงินไหลนอง ทองไหลมา”

.....

ปณิธานของหลวงพ่อจรัญ

หลังจากรอดตายจากอุบัติเหตุที่ทำให้หลวงพ่อจรัญเกือบจบชีวิตในครั้งนั้น ท่านได้ตั้งปณิธานอันแรงกล้าว่า จะ “ใช้หนี้โลกมนุษย์ด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับภิกษุสามเณร ทั้งยังเปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐานสำหรับฆราวาส โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ หรือศาสนา ศิษยานุศิษย์ของท่านมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ผลงานของหลวงพ่อจรัญเป็นที่ประจักษ์ไม่เฉพาะในหมู่ประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ชาวต่างประเทศก็ยอมรับนับถือท่าน ปีหนึ่งๆ มีผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และประชาชนทั่วไปนับหมื่นๆ คน

นอกจากนั้นหลวงพ่อจรัญยังได้รับการยกย่องว่าเป็นภิกษุที่มีความสามารถอย่างเอกอุ คือ เป็นทั้งนักพัฒนาที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้พระพุทธศาสนา นักเทศน์ที่เข้าถึงจิตใจของคนทุกวัย และนักวิปัสสนากรรมฐานผู้มีความมาดมั่น ท่านกล่าวว่า “อาตมาไม่เคยสอนใครไปสู่สวรรค์ นิพพาน แต่สอนกรรมฐานให้ระลึกบุญคุณคน นึกถึงพ่อแม่ นึกถึงตนเอง และสงสารตัวเอง แค่นี้พอ..."

ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลวงพ่อจรัญได้เรียบเรียงหนังสือธรรมะที่มีคุณค่ายิ่งไว้เป็นจำนวนมาก แต่ละปีท่านแจกหนังสือเป็นธรรมะวิทยาทานมากกว่า 1.5 แสนเล่ม ด้วยคุณงามความดีนี้ทำให้ท่านได้รับการถวายเกียรติคุณมากมาย แต่เหนืออื่นใด หลวงพ่อจรัญทำให้คนไทยหลายแสนหลายล้านคนเข้าถึงธรรมะที่แท้ของพระพุทธเจ้า และทำให้คนไทยเข้าใจ “กฎแห่งกรรม” ดังที่ท่านกล่าวว่า

“ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนควรเชื่อและพยายามศึกษาทำความเข้าใจในกฎแห่งกรรม อาตมาอยากจะกล่าวว่า ชาวพุทธที่ไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น หาใช่ชาวพุทธไม่...เพราะที่สุดแล้วต่อให้เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม”