‘กะเพรา’ ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ

‘กะเพรา’ ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ

กะเพรา เป็นทั้งอาหารและยาชั้นเลิศใช้ทางการแพทย์อายุรเวทมายาวนานกว่า 5 พันปี ในภาษาฮินดี เรียกว่า Tulsi หมายความว่า ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้

ในภาษาฮินดี เรียกกะเพราว่า Tulsi มีความหมายว่า “ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้” คนอินเดียเชื่อว่าใบกะเพราเป็นร่างหนึ่งของเทพเจ้า จึงปลูกกะเพราไว้กราบไหว้บูชา เก็บมาใช้เป็นยาและยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งสมุนไพร”


กะเพรา เป็นทั้งอาหารและยาชั้นเลิศ ที่มีใช้ทางการแพทย์อายุรเวทมายาวนานกว่า 5 พันปี แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ “กะเพราขาว” ที่เรานิยมใช้ทำอาหาร กิ่งก้านใบจะเป็นสีเขียว กลิ่นไม่ฉุนมาก และ“กะเพราแดง” ซึ่งมีฤทธิ์ทางยาสูง กิ่งก้านใบจะเป็นสีแดงคล้ำออกม่วงๆ กลิ่นฉุนกว่ากะเพราขาว เพราะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่า


ประโยชน์ของกะเพราต่อร่างกายมีมากมาย โดยจำแนกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านสมอง-อารมณ์ การแพทย์อายุรเวทโบราณใช้ประโยชน์ด้านการปรับดุลจิตใจ คลายเครียด ทำให้สงบ ขณะที่ในการแพทย์แผนปัจจุบันมีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า กะเพรามีฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ และยังมีงานวิจัยในคนที่เป็นโรควิตกกังวล (Anixety) ให้ทานสารสกัดกะเพรา 500 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลา หลังอาหารเช้าเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน พบว่าช่วยลดความวิตกกังวล ความเครียดและอาการซึมเศร้าได้ จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกะเพรามากมายหลายยี่ห้อในต่างประเทศ ที่มีข้อบ่งใช้ทานเพื่อหวังผลลดความเครียด ปรับสมดุลธาตุในร่างกายและจิตใจ


- ด้านการมองเห็น มีการศึกษาพบว่า สารสกัดด้วยน้ำจากกะเพราแดง มีฤทธิ์ต้านการเกิดต้อกระจกในหลอดทดลอง โดยทำให้กระบวนการต้านอนุมูลอิสระของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และป้องกันการขุ่นของแก้วตาในหนูทดลอง หนูที่ตาเสื่อมจากเบาหวาน หลังได้รับสารสกัดกะเพราแดงร่วมกับวิตามินอี เป็นเวลา 16 สัปดาห์ พบว่าการบวมของจอประสาทตา ภาวะเลือดออกที่จอประสาทตา รวมถึงไขมันที่รั่วออกจากเส้นเลือดในจอประสาทตาได้หายไปหมด มีการฟื้นคืนกลับของจอประสาทตา และมีการมองเห็นที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อกระจกแล้ว ก็ควรได้รับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลัก เพราะผลการศึกษานี้ยังเป็นเพียงข้อมูลในสัตว์ทดลอง
แต่หากจะลองทานน้ำกะเพราะแดงควบคู่กันไปเพื่อชะลอความเสื่อมก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะในคนไข้เบาหวานที่ยังไม่เป็นโรคต้อกระจก เพื่อบำรุงสายตาเอาไว้แต่เนิ่นๆ หรือคนที่กำลังมองหาสมุนไพรเพื่อบำรุงสายตา ก็แนะนำให้รับประทานกระเพราแดงไว้เป็นประจำ เพราะในกะเพราแดงมีสารที่สำคัญต่อการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน นอกจากนี้ กะเพราแดงยังสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ด้วย ถือได้ว่าเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจกได้อีกทางหนึ่ง


- ด้านระบบเมตาบอลิซึม (น้ำตาลในเลือด/ไขมันในเลือด) ชาวอินเดียและชาวปากีสถานใช้กะเพราทั้งแบบต้มน้ำกินและแบบผงเพื่อรักษาเบาหวาน หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีการลดลงของน้ำตาลและไขมันในเลือด เมื่อได้รับสารสกัดกะเพราติดต่อกัน 4 เดือน ทั้งยังมีงานศึกษาวิจัยยืนยันในคน โดยทำการศึกษาในคนไข้เบาหวานให้ทานใบกะเพรา 2.5 กรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสามารถลดระดับนำตาลได้ถึง 17.6% และลดโคเลสเตอรอลได้เฉลี่ย 6.5%


- ด้านระบบทางเดินหายใจ ใบกะเพรามีเอกลักษณ์ด้านกลิ่นและรส คือ กลิ่นฉุนรสออกเผ็ดร้อน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากองค์ประกอบหลักที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นน้ำมันหอมระเหย ที่สำคัญ คือ eugenol (62%) และ methyleugenol (86%) ซึ่งส่งผลดีต่อระบบทางเดินหายใจ ตำรายาไทยระบุว่ากะเพราช่วยขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้ไข้ และมีการศึกษาในคนไข้หอบหืดยืนยันว่า กะเพราทำให้ปอดมีการทำงานดีขึ้น การหายใจสะดวกขึ้น และยังมีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย


- ด้านระบบทางเดินอาหาร ในตำรายาไทยใช้ใบและยอดกระเพราเป็นยาบำรุงธาตุ ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ปวดท้อง แก้อาการจุกเสียดในท้อง ทำให้เรอ แก้ท้องร่วง แก้คลื่นไส้อาเจียน คนไทยสมัยก่อนนิยมกินแกงเลียงใส่ใบกะเพราหลังคลอดบุตร เพื่อขับลมและบำรุงธาตุให้เป็นปกติ สำหรับงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า กะเพรามีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลกระเพาะอาหาร ลดการหลั่งกรด และมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้
สรรพคุณอื่นๆ คนไทยโบราณและตำรับยาพื้นบ้านของอินเดียใช้น้ำคั้นใบกระเพราทาผิวหนังแก้กลากเกลื้อน และโรคผิวหนังอื่นๆ ใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู ในชวาใช้ใบปรุงอาหาร รับประทานเพื่อขับน้ำนม และมีการศึกษาเบื้องต้นในหนูทดลองพบว่ากะเพรามีฤทธิ์แก้ปวดลดอักเสบได้


ขนาดและวิธีการใช้เป็นยา สำหรับการนำกะเพรามาใช้ ทำได้ง่ายๆ เพียงใช้ใบ ยอด ต้นสด หรือแห้งของกะเพราแดงมาต้ม หรือปั่นดื่ม วันละ 1-3 แก้วเป็นประจำ

ข้อควรระวัง ควรระวังการใช้กะเพราในขนาดสูงในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจน แต่ยังสามารถทานเป็นอาหารได้ตามปกติ หรือในผู้ป่วยเบาหวานรายที่มีการคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีอยู่แล้ว ก็ต้องระวังการใช้กะเพราขนาดสูง ควรมีการปรับขนาดการทานตามความเหมาะสม ที่จะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
            อาการน้ำตาลตกสังเกตได้จากอาการรู้สึกหิว กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ เหงื่อออก ตัวเย็น หน้าซีด เป็นลมและอาจชัก หรือหมดสติได้
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร 037 211 289