‘อินทนนท์’ ต้นแบบท่องเที่ยวชุมชน

‘อินทนนท์’ ต้นแบบท่องเที่ยวชุมชน

ส่งท้ายปลายปี คลื่นมหาชนแห่แหนไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะยอดดอยที่สูงที่สุดอย่าง ‘อินทนนท์’ ปรากฎการณ์คนล้นดอยกำลังจะกลับมา

แต่เชื่อเถอะว่าที่นี่เขามีดีกว่าที่คิด

นาขั้นบันไดเรียงรายเป็นลำดับขั้นท่ามกลางทิวเขาสุดลูกหูลูกตา โอบล้อมบ้านไม้ยกสูงที่ได้รับการตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติ แทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับทิวแถวของแปลงพืชผักเมืองหนาวสลับโทนสีอ่อนแก่ ให้ความรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติที่มีอยู่เดิม

ทิวทัศน์ธรรมชาติที่โดดเด่นของชุมชนบ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ สะกดทุกสายตาของผู้พบเห็น ทว่ามากกว่าความงาม ภาพเหล่านี้ยังสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยมได้อย่างลงตัว

...............................

ขณะที่กระแสการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อุทยานแห่งชาติ 127 แห่งในประเทศไทย กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ ส่งผลให้หลายอุทยานต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งประสบปัญหาการจัดการที่หละหลวม ขาดจิตสำนึกอนุรักษ์ ทำให้การท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เปลี่ยนทิวเขาเขียวขจีเป็นบ้านพักสีลูกกวาดที่พรั่งพร้อมอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของธรรมชาติ คร่าเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชุมชนเกินกว่าจะประเมินค่าได้

ภาพเหล่านี้มีตัวอย่างมากมาย แต่หากจะหาต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกับรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม พื้นที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

  อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ปรากฏสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวอย่างเทศกาลปีใหม่ มีนักท่องเที่ยวมุ่งหน้าขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาว ชมความงดงามของธรรมชาติถึงกว่า 20,000 คนต่อวัน จนเคยประสบปัญหานักท่องเที่ยวแออัด การจราจรติดขัด อุบัติเหตุ และขยะล้นดอย

แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และคนในชุมชนท้องถิ่น ผ่านกระบวนการวิจัยโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น ทำให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถกระจายกลุ่มนักท่องเที่ยวไปยังชุมชนรอบบริเวณอุทยาน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จึงยังคงรักษาเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไว้ได้ กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสมในเขตอุทยานแห่งชาติ

ความสำเร็จนี้เกิดจากเครื่องมือสำคัญ คือกระบวนการวิจัยที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยด้วยตนเอง ร่วมคิดและออกแบบการจัดการทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชน และกับบุคลลภายนอก ทั้งนักวิชาการ นักอนุรักษ์ เจ้าที่อุทยานฯ จนสามารถสร้างฐานความรู้และความภาคภูมิใจซึ่งการเป็นเกราะที่แข็งแกร่งในการปกป้องมรดกทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของตนเอง

..............................

บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ คือหนึ่งตัวอย่างของการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพโดยใช้งานวิจัยเป็นอาวุธทางปัญญา ทำให้มองเห็นถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่แนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งต่อผู้มาเยือนและคนในชุมชน

โปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านผาหมอน เป็นวิถีที่เรียบง่ายธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง เช่น โปรแกรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ในวิถีการทำเกษตร นาขั้นบันได การปลูกพืชเมืองหนาว อาทิ มะเขือเทศ ผัก กุหลาบ เรียนรู้วิถีชีวิตอย่างการทอผ้า การทำเครื่องจักสาน ตลอดจนการเล่นดนตรีเตหน่าเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ

บ้านแบมบูพิงค์เฮาส์ และบ้านอิงผาชมดาว เป็นบ้านพักเพียงสองหลังที่ทำหน้าที่รองรับนักท่องเที่ยวตามกำลังที่ชุมชนสามารถรองรับได้ คือหลังละประมาณ 8-10 คน อีกทั้งยังมีข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด 16 ข้อระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน เช่นต้องแต่งกายสุภาพ, ห้ามส่งเสียงดังเกิน 4 ทุ่ม, ปราศจากยาเสพติด, หากพักที่โฮมสเตย์ของชาวบ้านนักท่องเที่ยวชายและหญิง จะต้องนอนแยกกันในทุกกรณี

“เราไม่ได้อยากเด่นอยากดัง การที่ชาวบ้านทำท่องเที่ยวเองก็ย่อมดีกว่าการเข้ามาของนายทุน รายได้หลักของชาวบ้านผาหมอนยังคงการทำการเกษตร ไม่ใช่การท่องเที่ยว และจะเป็นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำเท่าที่จะทำได้” ธรรมชาติ พนากำเนิดสกุล ผู้ใหญ่บ้านบ้านผาหมอน เผยว่าถึงแม้การทำท่องเที่ยวของบ้านผาหมอนจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ชาวชุมชนบ้านผาหมอนก็ยังตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีเดิม ไม่เปลี่ยนไปตามกระแสการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

การบริหารการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านผาหมอน นอกจากจะเป็นที่พึงพอใจจากนักท่องเที่ยวแล้ว ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน เนื่องจากเปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมและมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม มีระบบการถือหุ้นบ้านพักของคนในชุมชนมีการปันผลสู่สมาชิก และมีการหักรายได้เข้าสู่เงินกลองกลางเพื่อนำไปพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การทำประปา ทำถนน นำไปพัฒนาบุคลากรด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานในชุมชน

สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจัดการที่เป็นระบบ มีมาตรฐาน คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบจากรุ่นสู่รุ่น บุญทา พฤษาฉิมพลี ประธานคณะวิจัยของบ้านผาหมอนในยุคแรกเล่าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เกษตรกรมาทำการท่องเที่ยวเพราะไม่มีความรู้ในด้านนี้ แต่หลังจากทำการวิจัย ตอนนี้สามารถทำได้สำเร็จก็อยากส่งต่อองค์ความรู้และกระบวนการเหล่านี้สู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนในชุมชน สานต่อเจตนารมณ์ของการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป

...............................

ถัดลงมาจากบ้านผาหมอนอีกไม่ไกลนัก จะพบกับบ้านพักยกสูงหลากหลายรูปแบบกระจายตัวอยู่กลางป่าเขาเขียวขจี นี่คือบริการที่พักในรูปแบบรีสอร์ทชุมชน ณ บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ อีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชนมาอย่างยาวนาน

บ้านแม่กลางหลวง เปิดหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ในช่วงแรกเริ่มต้นจากร้านขายของชำ 1 ร้าน และร้านกาแฟ 1 ร้าน ก่อนจะขยับขยายการให้บริการมาเป็นรีสอร์ทชุมชน ตลอดจนจัดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนแม่กลางหลวงที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าการการเปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะในแง่การใช้ประโยชน์จากที่ดิน แต่อีกด้านก็ช่วยให้ชุมชนได้รับประโยชน์ทั้งจากการฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม และรายได้เสริมที่เกิดจากการประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวและบริการ เช่น การเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น รับจ้างขับรถ รับจ้างดูแลบ้านพัก

สำหรับเส้นทางเดินป่าศึกษาทางธรรมชาติของชุมชนแม่กลางหลวง เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างการเรียนรู้และความเข้าใจระหว่างคนที่อยู่ในป่ากับคนเมืองผ่านกิจกรรมเดินป่าผจญภัย โดยมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นชาวปกาเกอะญอเป็นผู้นำทาง และคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ตลอดจนจัดเตรียมอาหารที่ได้จากเกษตรอินทรีย์ บรรจุหีบห่อด้วยใบตองใบไม้ธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาชุมชนบ้านแม่กลางหลวงแม้จะสามารถดำเนินการจัดการท่องเที่ยวได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันเริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น การเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการที่พักทำให้เกิดความแตกต่างในการบริหาร เกิดการตัดราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ขาดระบบหักรายได้เข้าสู่สหกรณ์ของผู้ประกอบการชุมชนทำให้รายได้กระจายไม่ทั่วถึง

นิทัศน์ ภูผาอาวรณ์ ทีมวิจัยและหนึ่งในผู้ประกอบการบ้านพักบ้านแม่กลางหลวง สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่จะทำต่อไปคือการพูดคุยหารือกันเพื่อสร้างข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน ชัดเจนในเรื่องของการปันผล คำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนเป็นหลักในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การท่องเที่ยว ทำให้ทั้งชุมชนบ้านผาหมอนและบ้านแม่กลางหลวงยังคงต้องมีปรับตัว และพัฒนาการบริหารจัดการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับชุมชนของตนอยู่เสมอ โดยอาศัยพื้นฐานการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เองก็ได้ประสานความร่วมมือกับชุมชนในการหาทางป้องกันและแก้ปัญหาการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง คาดการณ์ได้ว่านักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อุทยานแห่งชาติอินทนนท์เพื่อสัมผัสบรรยากาศความหนาวเย็น ณ เทือกดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยจากสถิติที่เคยสูงสุดถึง 5,000 คนต่อวัน อาจทำให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวแออัด การจราจรติดขัดในจุดต่างๆ ในอุทยาน

ทั้งสองชุมชนจึงต้องวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว ชุติพงศ์ พนาลัยสัมพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัยบ้านผาหมอนรุ่นที่ 2 เล่าถึงปัญหาที่พบจากนักท่องเที่ยวในปัจจุบันว่า “มีการเข้ามายังบริเวณชุมชนโดยไม่ประสานงานหรือชาวบ้านก่อน เข้ามาถ่ายรูปในพื้นที่ของชาวบ้านซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหาย ทางชุมชนบ้านผาหมอนจึงเตรียมรับมือด้วยการตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาบ้านผาหมอนจะต้องมาลงที่ศูนย์ข้อมูลก่อน เพื่อจัดระเบียบการเข้าพื้นที่ชุมชนในทิศทางเดียวกัน”

ในส่วนของอุทยานแห่งชาติเองก็มีการเตรียมการสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้ วุฒิพงษ์ ดงคำฟู ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เล่าถึงการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดตามขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่อุทยานว่า

“ด้านการจราจรทางอุทยานจะจัดรถสาธารณะโดยชาวบ้านที่ผ่านการอบรมการขับขี่รถยนต์จากกรมการขนส่ง อำนวยความสะดวกรับ-ส่งนักท่องเที่ยวไปยังยอดดอยและจุดชมวิว ปรับเลนจราจรขาขึ้นเป็น 2 เลน เลนซ้ายเป็นรถส่วนตัว เลนกลางเป็นรถสาธารณะที่ควบคุม และขาลง 1 เลน เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่อุทยาน อีกทั้งร่วมมือกับกรมสาธารณสุขและเทศบาล ทำการตรวจและขึ้นบัญชีผู้ค้าอาหารให้ผ่านมาตรฐานเท่านั้น เพื่อสุขอนามัยที่ดีของนักท่องเที่ยวอีกด้วย”

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตลอดจนข้อมูลจากการศึกษาวิจัยคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ตราบใดที่ชุมชนไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจท่องเที่ยว แต่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างแท้จริง การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมีสิ่งที่่คาดหวังได้ นั่นคือ การรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณี และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ