ไทยพร้อมส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ แจงกม.ความมั่นคง-ม.112

ไทยพร้อมส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ แจงกม.ความมั่นคง-ม.112

ไทยพร้อมส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีต่อยูเอ็นต้นปี 59 พร้อมแจงบริบทประเทศต่อการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง - ม.112

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดประชุมเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) ฉบับ 2 เพื่อร่วมจัดทำร่างรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย นำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวันที่ 5 ก.พ. 2559 โดยนายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยดีขึ้น สามารถจับต้องได้ไม่ได้มีแค่หลักการ เห็นได้จากการผลักดันกฎหมายต่างๆในการคุ้มครองสิทธิ การบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น รวมถึงการได้เห็นภาพผู้คนออกมาเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิมากขึ้น กระบวนการจัดทำรายงานดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้สะท้อนและกำหนดทิศทางที่จะเดินต่อไป โดยการจัดทำร่างตามกลไกUPR เป็นการรวบรวมความเห็นของทั้งภาครัฐและประชาชน ถือเป็นการเปิดกว้างและได้ข้อมูลที่ครอบคลุม ส่วนประเด็นทักท้วงด้านสิทธิภาคการเมืองที่องค์กรต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง เป็นประเด็นท้าทายที่รัฐจะต้องสร้างความเข้าใจและจัดการเชิงสร้างสรรค์ 

ด้านนางจันทร์ชม จินตยานนท์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตาม UPR ถือเป็นการที่ให้แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติได้ทบทวนสถานการณ์ดังกล่าวของประเทศตัวเองเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งรายงานดังกล่าวจะเป็นการมองภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ไม่ได้มีการแยกเฉพาะเรื่องตามสนธิสัญญาที่เป็นภาคีเท่านั้น เมื่อนำเสนอรายงานแล้วจะเปิดโอกาสประเทศสมาชิกอื่นให้ข้อสังเกตที่ควรนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจากการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งก่อนประเทศไทยได้ข้อเสนอแนะจากประเทศอื่น 172 ข้อ แต่ประเทศไทยยอมรับข้อเสนอมาเพียง 134 ข้อ เพราะต้องคำนึงบริบทของประเทศด้วย 

"ข้อเสนอที่รับมาต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ หากไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถรับมาดำเนินการได้ เช่น ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต แม้ประเทศไทยจะยังไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ได้เพิกเฉย เพียงแต่อยู่ระหว่างการศึกษาหาความเหมาะสม หรือข้อเสนอให้เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 หรือกฎหมายความมั่นคง หากมองบริบทของประเทศขณะนี้ยังไม่สามารถยอมรับข้อเสนอแนะได้"นางจันทร์ชม กล่าว 

สำหรับรายงานจากการเปิดเวทีรับฟังข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆทั้ง 5 ภูมิภาค เพื่อความเห็นร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือ พบว่า มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย คนต่างด้าวและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งไม่มีสถานะ และมักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการค้ายาเสพติด พาหะนำโรค ก่ออาชญากรรม ในบางพื้นที่พบว่า มีการบังคับเด็กค้าประเวณี ค้ามนุษย์ ทั้งยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ต้นทาง พื้นที่ทางผ่านและพื้นที่ปลายทางในการค้ามนุษย์. ภาคใต้มีปัญหา การละเมิดสิทธิประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ การค้ามนุษย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาด้านการศึกษาและสิทธิที่ดินทำกิน การขาดความควบคุมแหล่งสถานบันเทิงในพื้นที่ใกล้สถานศึกษาและปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคตะวันตกเป็นปัญหาแรงงานย้ายถิ่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุมัติโครงการของรัฐไม่ผ่านความเห็นชอบของคนในชุมชน ส่วนภาคกลาง เป็นแหล่งรวมปัญหาทั้งหมดและพบว่าการละเมิดสิทธิประชาชนมักจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนด้วยกันเองด้วย 

ส่วนข้อเสนอจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเรื่องการถูกห้ามไม่ให้มีการแสดงออกหรืองดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น ในรายงานที่จะเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุยชนแห่งสหประชาชาติจะต้องมีการระบุไว้ว่าเป็นข้อท้าทายทายที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยจะมีการชี้แจงด้วยว่าเหตุใดประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ