นายกฯอัดกลับกสม. หลังละเมิดสิทธิฯไล่ไปอยู่ตปท.

นายกฯอัดกลับกสม. หลังละเมิดสิทธิฯไล่ไปอยู่ตปท.

นายกฯอัดกลับกสม. หลังระบุมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง พร้อมไล่ไปอยู่ต่างประเทศ

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ได้มีมติรับทราบ “รายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และรายงานผลการปฏิบัติ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) ประจำปี พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ กสม.เพิ่งส่งรายงานฯของปี 2556 ให้ครม.รับทราบมาแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดเหตุการชุมนุมทางการเมืองในช่วงดังกล่าว รายงานในรอบ 2 ปี จึงตกค้างและไม่ได้มีการเสนอต่อครม. 

โดยผลการปฏิบัติงานประจำปี พ.ศ.2557 ของกสม. ระบุว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนที่มีการร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม 689 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 78 เรื่อง โดยเรื่องการถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ 174 เรื่อง โดยภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด และในส่วนของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2557 กสม.ได้แยกสถานการณ์ออกเป็น 9 ประเด็น คือ 1.สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 2.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม 3.สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม 5.สิทธิชุมชน 6.สิทธิด้านที่ดินและป่า 7.สิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคทางเพศของบุคคล 8.สิทธิผู้สูงอายุ คนพิการและการสาธารณสุข และ9.สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และสถานะบุคคล 

โดยสถานการณ์ที่น่าสนในประเด็น “สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” กสม.รายงานว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจำนวน 22 คำร้อง โดยส่วนใหญ่เป็นคำร้องระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสถานการณ์ที่สำคัญได้แก่ การชุมนุมของกลุ่มกปปส. และการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยกสม.มีการประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า 1.รัฐควรมีมาตรการการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและควรตระหนักถึงผลกระทบและเสรีภาพในการชุมนุม โดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม การมีส่วนร่วม เป็นต้น ตลอดจนควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม 2.ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมย่อยควรใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธหลีกเลี่ยงไม่ให้จัดการชุมนุมในลักษณะที่้เป็นการยั่วยุ เป็นต้น 

และในสถานการณ์เกี่ยวกับ “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” กสม. รายงานว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจำนวน 134 คำร้อง รวมถึงมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคสช.จำนวน 26 คำร้อง เช่น การถูกควบคุมตัวออกจากบ้านพักโดยไม่ทราบสถานที่ควบคุม การถูกเรียกให้ไปรายงานตัว และการถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เป็นต้น ทั้งนี้พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกลุ่มผู้ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาคือ เจ้าหน้าที่ราชทัณ์ พนักงานอัยการบางส่วน 

ซึ่งในประเด็นนี้ กสม.มีการประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า 1.รัฐควรมีกฎหมายที่จะให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญา มีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความผิด และมีกลไกอิสระในการที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 2.ในกรณีผู้พ้นโทษ รัฐควรให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ ซึงยังพบว่ายังมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่เป็นอุปสรรค เช่น กรณีการรับเข้าทำงาน เป็นต้น 

รายงานข่าวเปิดเผยอีกภายหลังจากครม.มีมติรับทราบรายงานของกสม.ปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ ได้เขียนข้อความด้วยลายมือของตัวเองด้วยลายมือที่หวัดอย่างมาก ระบุแนบท้ายเอกสารครม.ระบุข้อความถึงกสม.ใจความว่า "กรณีนี้ให้กสม.ใช้วิจารณญาณ บนพื้นฐานจากอะไร บุคคลใด กลุ่มใดที่สร้างความไม่สงบสุข และได้ผ่อนผันมาโดยตลอด แต่บุคคลเหล่านี้ยังคงกระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การละเมิดสิทธิของบุคคลเหล่านี้ การปกครองแล้วต่อต้าน ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีทุจริตของรัฐ การใช้อาวุธ มีคดีที่ตัดสินแล้ว เขามองจากอะไร ประเทศเรามีความแตกต่างกับต่างประเทศ ประชาชนของเรามีความเท่าเทียมหรือยัง ใครที่ทำให้ รัฐบาล/คสช.เข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลง ใช้วิจารณญาณหรือยัง 

หากยังคงมองการปฏิบัติแบบนี้ก็สมควรไปอยู่ต่างประเทศเสียดีกว่า"