'เร่งเครื่องโต' คำสัญญา 'ซุปเปอร์บล๊อก'

'เร่งเครื่องโต' คำสัญญา 'ซุปเปอร์บล๊อก'

ต้นปีหน้า บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก เข้าสู่โหมด 'เทิร์นอะราวด์' หลังรุก 'พลังงานแดด-ลม-ขยะ' เต็มตัว 'จอมทรัพย์ โลจายะ'

แม้ผู้เป็นพ่อ 'ศ.นพ.สมชาติ โลจายะ' (เสียชีวิต) จะยึดอาชีพหมอโรคหัวใจมาตลอดชีวิต แต่เขากลับไม่แนะนำให้ลูกชายทั้งสามคน 'ติ๊-สวิจักร์-เต้ย-ดร.ขุมทรัพย์-ตั้ม-ดร.จอมทรัพย์ โลจายะ' เดินตามรอยเท้า แม้ในอดีตทายาทคนโตจะเคยแสดงความจำนงอยากเป็นนักเรียนแพทย์ต่อผู้ให้กำเนิด ซึ่งผู้เป็นพ่อแจกแจงเหตุผลว่า 'ไม่อยากให้เหนื่อย และต้องการให้ลูกเดินบนทางที่ตัวเองเลือกอย่างเต็มใจ' 

'เส้นทางนักธุรกิจ' คือ หนทางที่ 'สามหนุ่ม' เลือกเดิน ถือเป็นการเดินตามรอยเท้ามารดาที่ในอดีตเคยนั่งบริหารอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย และเป็นเจ้าของร้านอาหารฝรั่งและร้านอาหารไทยในเมืองลอสแอนเจลิส

จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่แวดวงธุรกิจของ 'จอมทรัพย์' เกิดขึ้นเต็มตัวในวัย 30 ปี หลังผู้เป็นพ่อป่วยหนัก ทำให้เขาและมารดาตัดสินใจบินกลับมาดูแล หลังใช้ชีวิตในต่างแดนนานกว่า 21 ปี ยกเว้น 'ขุมทรัพย์' ที่ยังอยู่ระหว่างเรียนกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ส่วน 'สวิจักร์' บินกลับมาก่อนหน้าแล้ว 1 ปี จอมทรัพย์และมารดา กลับมาได้เพียง 4 เดือน ผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิตในปี 2543

ภาระกิจเร่งด่วน หลังการเสียชีวิตของบิดา คือ ทายาททั้งสามต้องเข้ามาจัดการทรัพย์สินของพ่อ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS ในฐานะเจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ และที่ดินเปล่า เป็นต้น

สุดท้ายครอบครัวโลจายะ ตัดสินใจปักหลักอยู่เมืองไทยถาวร โดย 'สวิจักร์' เปิดธุรกิจส่วนตัว ภายใต้ชื่อ บริษัท แอ็ดวานซ์ เว็บ สตูดิโอ จำกัด ซึ่ง 'จอมทรัพย์' ก็มีส่วนร่วมในบริษัทนี้เช่นกัน แต่ทำได้ไม่นาน 'ทายาทคนเล็ก' มีโอกาสเข้าไปช่วยงานในคณะอนุกรรมการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท.เพื่อดูกฎหมายพิเศษ

ระหว่างนั้นในปี 2544 'จอมทรัพย์' ได้จัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายมีชัยไทยแลนด์ แม้จะตั้งคอนเซ็ปต์การทำงานว่า 'จะไม่เข้าไปซื้อดีลลูกค้าที่เข้ามาขอคำปรึกษากฎหมาย' แต่สุดท้ายก็ตกลงถอนเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินบางส่วนมาซื้อกิจการอสังหาริมทรัพย์ของ 'สดาวุธ เตชะอุบล' หรือ 'เสี่ยไมค์' ภายใต้ชื่อ บมจ.เอเวอร์แลนด์ หรือ EVER

ตอนนั้นบริษัทดังกล่าวมีหนี้สินเกือบสองหมื่นล้านบาท และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่หลังจากบริษัทได้เงินสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 1 พันล้านบาท เพื่อนำมารีไฟแนนซ์ ตระกูลโลจายะ ก็สามารถนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ และกลับเข้ามาซื้อในตลาดหลักทรัพย์ใหม่อีกครั้ง ปัจจุบัน 'สวิจักร์' รับหน้าที่ดูแล EVER

หลังจากทุ่มเงินซื้อกิจการแห่งแรกสำเร็จ 'จอมทรัพย์' ก็เดินหน้าเทคโอเวอร์บริษัทต่อไป นั่นคือ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก หรือ SUPER ผู้ผลิตอิฐมวลเบา ซึ่งเป็นการซื้อกิจการต่อจาก 'กลุ่มสมประสงค์แลนด์' แม้ช่วงปี 2547 บริษัทจะมีภาระหนี้อยู่ในบสท.300 กว่าล้านบาท แต่กลุ่มโลจายะเชื่อว่า ในอนาคตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสเติบโต ฉะนั้นความต้องการใช้อิฐมวลเบาต้องขยายตัว

ตอนนั้นในเมืองไทยมีโรงงานผลิตรอิฐมวลเบาเพียง 2 ราย คือ SUPER และบมจ.ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ หรือ Q-CON สุดท้ายอิฐมวลเบาตกอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย เพราะทั้งสองโรงงานต่างพร้อมใจกันขยายกำลังการผลิต แม้จะงัดทุกกลยุทธ์มาแข่งขันทางด้านราคามาตลอด 7-8 ปี แต่ SUPER ไม่สามารถสู้ได้ หลัง Q-CON ขายธุรกิจนี้ให้กับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC

ในที่สุด SUPER ตัดปัญหา ด้วยการขายโรงงานอิฐมวลเบาให้ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง หรือ SCCC มูลค่า 500 ล้านบาท และปรับโมเดลการทำธุรกิจใหม่มาสู่ 'พลังงานทดแทน' ตามคำเชื้อเชิญของเพื่อนสนิท 'วีระเดช เตชะไพบูลย์' ที่เคยชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนเมื่อปี 2553

ปัจจุบัน EVER และ SUPER ยังคงตกอยู่ในภาวะขาดทุน โดยปี 2557 EVER แสดงผลขาดทุน 18.11 ล้านบาท และงวด 9 เดือนที่ผ่านมา มีผลขาดทุน 51.31 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการในปี 2557 ของ SUPER แสดงผลขาดทุน 89.55 ล้านบาท และ 9 เดือนที่ผ่านมามีผลขาดทุน 345.92 ล้านบาท

'ตั้ม-ดร.จอมทรัพย์ โลจายะ' ประธานคณะกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า เราเคยคิดจะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตอนปี 2553 แต่ต้องหยุดความคิด เพราะค่าก่อสร้างสูงถึง 120 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ต่ำเพียง 6-7%

ผ่านมาถึงปี 2556 ค่าก่อสร้างปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 70 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ผลตอบแทนขยับขึ้นเป็น 10-12% ล่าสุดอัตราค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าแดดปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 55-60 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ทำให้ผลตอบแทนปรับขึ้นมายืนระดับ 10-15% (ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับระยะทางของสายส่งและราคาที่ดิน)

'ธุรกิจพลังงานทดแทน' ถือเป็นงานที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ 4 ข้อของบริษัท คือ 1.ไม่ใช่งานที่ต้องแข่งขันทางด้านราคา 2.ไม่ต้องสต็อกสินค้า 3.สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด และ 4.ธุรกิจไม่ต้องเกี่ยวข้องกับแรงงาน

บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ในปี 2556 ด้วยการเข้าคไปเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้า เพราะต้องการความรวดเร็ว โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกเกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ตอนนั้นบริษัทรับอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) 8 บาท (ระบบเดิม)

ส่วนโรงไฟฟ้าแดดแห่งที่สองเกิดขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ จากนั้นก็เดินหน้าซื้อโรงไฟฟ้าแห่งที่สาม กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแห่งที่สี่ 5 เมะวัตต์ รวมระยะเวลาการเดินหน้าเทคโอเวอร์ 1 ปีกว่า

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 70 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นกำลังการผลิต 460 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้มาจากการเทคโอเวอร์ 13 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 447 เมกะวัตต์ ได้รับใบอนุญาตแล้ว ซึ่งมีทั้งสร้างเองและร่วมลงทุน โดยกำลังการผลิต 447 เมกะวัตต์ บริษัทได้จ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 2 โรง กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ ที่เหลือคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

'วันนี้เราจ่ายไฟฟ้าอยู่ 28 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างรายได้ในปี 2558 ประมาณ 200 กว่าล้านบาท แต่คงยังไม่สามารถพลิกเป็นกำไรสุทธิได้ เพราะเราอยู่ในช่วงของการลงทุน โดยเฉพาะพลังงานลม' 

'จอมทรัพย์' ย้ำว่า ตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2559 บริษัทจะเข้าสู่ช่วง 'เทิร์นอะราวด์' เพราะกำลังการผลิต 447 เมกะวัตต์จะเข้าสู่ระบบทั้งหมด ขณะเดียวกันปลายปีนี้อาจมีกำลังการผลิตใหม่ที่ได้จากการเทคโอเวอร์ 1 โรง 40 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า สิ้นปี 2558 เราจะมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมาย ถือเป็นกำลังการผลิตพลังงานแดดอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรม ฉะนั้นรายได้รวมในปี 2559 จะอยู่ระดับ 5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้รวม 223.37 ล้านบาท

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2559-2561) เขาตอบว่า ปีหน้าเราตั้งใจจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' จาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 1 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตพลังงานแดด 400 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 100 เมกะวัตต์

ส่วนปี 2560 บริษัทต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ รวมเป็น 2 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 700 เมกะวัตต์ พลังงานแดดและพลังงานขยะ 300 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 จะทำให้รายได้ในปี 2560 แตะระดับ 'หนึ่งหมื่นล้าน' และจะทะยานสู่ 'สองหมื่นล้าน' ในปีถัดไป หลังกำลังการผลิตขึ้นแท่น 2 พันเมกะวัตต์

ทั้งนี้วิธีการได้มาของกำลังการผลิตใหม่ ในส่วนของพลังงานแดด ก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมประมูลโครงการโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสแรก 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะชนะการประมูลตามเป้าหมาย ซึ่งเรายื่นไป 150 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเราได้เซ็นสัญญา MOU เรียบร้อยแล้ว

ส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานขยะ คาดว่าปีหน้าจะเข้ามา 100 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าจังหวัดปทุมธานี และอยุธยา หากไม่มีอะไรผิดพลาดปี 2559 บริษัทจะเซ็นสัญญาซื้อขยะชุมชน ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจา

สำหรับกำลังการผลิตพลังงานลม วันนี้เรามีทั้งหมด 9 โครงการ ปัจจุบันตั้งเสาวัดลมเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นภาคอีสาน 1 โครงการ ภาคกลาง 1 โครงการ ที่เหลืออยู่ในภาคใต้ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานลมเราจะลงทุนเองทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2559 และจะแล้วเสร็จในปี 2560 ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการยื่นขอใบอนุญาตขายไฟฟ้า

เขา อธิบายว่า รายได้ กำไรขั้นต้น และความเสี่ยง ของพลังงานแต่ละประเภทแตกต่างกัน แต่พลังงานขยะกำไรขั้นต้นดีที่สุดเฉลี่ย 30-38% เพราะจะมีรายได้สองทาง คือ ค่าจำกัดและการขายไฟฟ้า รองลงมาเป็นพลังงานลม แม้จะทำยากที่สุด แต่สร้างกำไรขั้นต้น 20-23%

ส่วนพลังงานทำง่ายสุดและสร้างกำไรขั้นต้น 11-15% ตามแผนงานพลังงานขยะ,แดด และลม 1 เมกะวัตต์ จะสร้างรายได้ให้บริษัท 50-55 ล้านบาทต่อปี 8.5-9 ล้านต่อปี และลม 13-16 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ

'แม้เอกชนหลายรายจะหันมาทำธุรกิจพลังงานทดแทน แต่การที่อุตสาหกรรมเริ่มอยู่ตัวแล้ว แถมยังเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โอกาสแสวงหากำไรจากธุรกิจนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของเรา คือ มีคนเก่งเรื่องสายส่ง นั่นคือ 'ประเดช กิตติอิสรานนท์' ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วน 11.60% ซึ่งเรารู้จักกันสมัยเรียนสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)'

'จอมทรัพย์' ทิ้งท้ายว่า สำหรับ 'แผนโกอินเตอร์' เราจะขยายการลงทุนออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะเป็นแห่งแรกที่จะออกไปทำ แม้ค่าก่อสร้างพลังงานแดดจะสูง 130 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ขณะที่ค่าที่ดิน ค่าแรง และค่าอุปกรณ์จะมีราคาแพง แต่อัตราการรับซื้อไฟฟ้าค่อนข้างสูงเฉลี่ย 27-40 เยนต่อหน่วย ขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังถูกเฉลี่ย 2% และผลตอบแทนสูงถึง 15-18%

ทั้งนี้เราเล็งจะเข้าไปทำโรงไฟฟ้าในสหรัฐ และอาเซียน เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายรายได้ต่างประเทศ 15% ภายใน 3 ปีข้างหน้า และวางเป้าหมายจะขึ้นแท่นบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศภายในปี 2561

'วันนี้เริ่มเห็นกองทุนเข้ามาถือหุ้น SUPER แล้ว และอนาคตอาจถือเพิ่มเติม ตราบใดที่เราสามารถสร้างการเติบโตปีละ 100% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า อนาคตเราจะเป็น High Growth Companies (บริษัทที่มีการเติบโตสูง) เพราะมาร์เก็ตแคปคงขยายตัวขึ้นจาก 3.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน'