คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3-3.6%

คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3-3.6%

ม.หอการค้า คาดจีดีพีไตรมาส 4/58 โต 3.3% ชี้หากรัฐอัดฉีดเม็ดเงิน 5 หมื่นลบ. ดันจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3-3.6% ส่วนปีหน้าคาดโต 3.5-4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2558 จะขยายตัว 3.3% หากเม็ดเงินของรัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบ 5 หมื่นล้านบาทในเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นซอฟท์โลนและเงินเข้าสู่ตำบล แต่ถ้าหากเม็ดเงินมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท มีโอกาสที่จีดีพีไตรมาส 4 ปีนี้จะขยายตัวได้ 3.6% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของหอการค้าที่ประเมินจีดีพีปีนี้เฉลี่ยทั้งปีที่ 3-3.6%

สำหรับปี 2559 ประเมินจีดีพีขยายตัว 3.5-4% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของทางรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นในไตรมาส 1 ปีหน้า อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้า ประกอบด้วย เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนและภัยแล้งของไทย

"หากเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้จริง เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/59 และจะเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3/59 ซึ่งจะทำให้จีดีพีทั้งปี 59 จะเติบโตได้ 4% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเม็ดเงินของทางรัฐบาลที่จะอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐได้เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้รวดเร็วมากขึ้น"นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน พ.ย.58 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งถือว่าดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 11 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 74.6 แม้ว่าดัชนีจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มาก โดยยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน การส่งออกที่ยังหดตัว ปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของไทยในอนาคต

"การบริโภคของประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากในช่วงนี้ เพราะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของการบริโภคจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี หลังจากเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าไปหมุนเวียนในระบบมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยคาดว่าการบริโภคจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 4 และจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงกลางไตรมาสแรกปีหน้า"นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 11 เดือน จากระดับ 62.2 ในเดือนที่ผ่านมา มาสู่ระดับ 63.4 ในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตามแม้ว่าดัชนีจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่การที่ดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือน พ.ย.58 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากระดับ 75.1 มาอยู่ที่ระดับ 76.4 เนื่องจากมีความหวังว่าเศรษฐกิจอาจปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและฤดูกาลท่องเที่ยว