กรธ.วาง17ข้อห้ามสมัครเลือกตั้ง สกัดคนโกงทุจริต

กรธ.วาง17ข้อห้ามสมัครเลือกตั้ง สกัดคนโกงทุจริต

กรธ. วาง17 คุณสมบัติสกัดคนโกง และมาตรการป้องกันตำแหน่งส.ส.ว่าง พร้อมให้อำนาจศาลฎีกาชี้ขาดจะให้นักการเมืองที่ถูกสนช. ถอดถอนลงสมัครเลือกตั้ง

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนของลักษณะของบุคคลต้องห้าม ไม่ให้ลงสมัครเป็น ส.ส. โดยเบื้องต้นมี 17 ประการ ประกอบด้วย1. ติดยาเสพติดให้โทษ 2.เป็นบุคคล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 3.เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

4.ถูกหรือเคยถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5.ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล 6.เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 7.เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ8.ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า 9.ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำความผิด ฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ10.ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม11.ต้องหรือเคยต้องคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่ง 12.เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง 13.เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 14.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดแล้วไม่เกิน 2 ปี 15.เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 16.เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 17.อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้คุยเรื่องของสมาชิกภาพของ ส.ส. ในกรณีที่พรรคการเมืองที่ ส.ส. คนนั้นสังกัดอยู่ มีมติในที่ประชุมของกรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมว่า ให้ ส.ส. คนนั้นพ้นสภาพจากสมาชิกพรรค ก็ถือว่าสภาพสมาชิกของ ส.ส. คนนั้นก็หมดไป เว้นแต่ว่า ส.ส. คนนั้นได้ลาออกแล้วย้ายไปอยู่พรรคใหม่ภายใน 30 วัน

"เมื่อ ส.ส. ตำแหน่งว่างลงด้วยเหตุอื่น ที่ไม่ใช่หมดอายุของสภาหรือยุบสภาฯ ในกรณี ส.ส. แบบเขตว่างให้มีการเลือกตั้งในเขตนั้น เพื่อหา ส.ส. ทดแทนภายใน 45 วัน แล้วให้มีอายุสมาชิกตามที่เหลืออยู่ แต่ถ้าสภาฯมีอายุไม่ถึง 180 วันก็ไม่ต้องมีการเลือกก็ได้ ทั้งนี้ไม่ให้นำคะแนนเลือกตั้งทดแทนมาหาคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก ในส่วนกรณี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมีตำแหน่งว่าง ให้ประธานสภาฯ เลื่อนลำดับรายชื่อถัดไปของพรรคการเมืองนั้น แล้วไปประกาศในราชกิจานุเบกษาภายใน 7 วัน ตั้งแต่ตำแหน่งว่างลง แต่ถ้าบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นไม่มีชื่อผู้ใดแล้ว ก็ไม่ต้องตั้งตำแหน่งทดแทน"  

เมื่อถามว่านักการเมืองถูกถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสมัครลงเลือกตั้งได้ไหม นายชาติชายกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่มีเรื่อง “การถอดถอน” แต่จะใช้คำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” แทน ดังนั้นถ้านักการที่ถูกถอดถอนโดย สนช. หากจะไปสมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็ต้องให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติ หากมีผลวินิจฉัยว่าคุณสมบัติไม่ผ่าน ก็มีสิทธิส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดให้มีผลเป็นที่สิ้นสุด 

นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ของกรธ. ในวันที่ 11-17 ม.ค. 59 ได้ข้อสรุปแล้ววว่า จะจัดขึ้นที่ โรงแรมอิมพีเรียล เลควิวแอนด์กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี