เผย5ธ.ค.ดำเนินคดีแพ่งแบบกลุ่ม คุ้มครองผู้เสียหายรายย่อย

เผย5ธ.ค.ดำเนินคดีแพ่งแบบกลุ่ม คุ้มครองผู้เสียหายรายย่อย

โฆษกศาลยุติธรรม เผย5ธ.ค. บังคับใช้การดำเนินคดีแพ่งแบบกลุ่มคุ้มครองผู้เสียหายรายย่อย เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ประหยัดเวลาค่าใช้จ่าย

มีกลุ่มตัวแทน ฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทจำหน่ายสินค้าบกพร่อง 

 เมื่อวันที่29 พ.ย.58 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรมเปิดเผยว่า วันที่ 5 ธ.ค.นี้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) ฉบับที่ 26 พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จะมีผลบังคับใช้ โดยเพิ่มมาตรา 222/1 ถึง 222/49 ลงในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นการดำเนินคดีแบบผู้แทน

โดยฝ่ายโจทก์จะทำงานร่วมกับทนายความของกลุ่ม แทนกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ไม่ได้เข้ามาในคดีหรือที่เรียกว่าสมาชิกกลุ่มเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลย เช่น โจทก์และสมาชิกกลุ่มซื้อสินค้า เช่น รถยนต์ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า มาจากจำเลยโดยผลิตภัณฑ์รุ่นนั้นๆ มีความบกพร่องสร้างความเสียหายแก่ผู้ซื้อ จำนวนมาก ก็สามารถยื่นฟ้องคดีหรือเข้าร่วมกลุ่มได้ ซึ่งสมาชิกกลุ่มสามารถรับประโยชน์ มีผลผูกพันโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแบบกลุ่มได้ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการคุ้มครองผู้เสียหายรายย่อย ให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือการใช้สิทธิทางศาลทำให้จำเลยที่ถูกกล่าวหา ไม่สามารถเอาเปรียบผู้เสียหายได้ และจำเป็นต้องจำหน่ายสินค้าหรือต้องรักษามาตรฐานในสินค้าและบริการ เพราะมีกลไกในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทำให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทรัพยากรมนุษย์ หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่ออีกว่า เมื่อการดำเนินคดีแบบกลุ่มซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวจะมีผลบังคับใช้ ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการต้องพยายามเข้าใจหลักการพื้นฐานของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งอาจเป็นสมาชิกกลุ่มของการดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีใดคดีหนึ่ง ดังนั้นต้องทราบ สิทธิและผลกระทบของการเป็นสมาชิกกลุ่ม การใช้สิทธิออกจากกลุ่ม หากไม่ต้องการผูกพัน ในคำสั่ง หรือ คำพิพากษา

“ ทนายความ ศาล และนักกฎหมาย ก็คงจะต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ ที่อาจจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น ก็เพื่อช่วยให้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม บรรลุวัตถุประสงค์ในการอำนวยความยุติธรรมต่อไป”