'ตัวแทนคนใต้' หนุนนายกฯ ต้องมาจากส.ส.

'ตัวแทนคนใต้' หนุนนายกฯ ต้องมาจากส.ส.

เปิดเวทีรับฟังเสียงปชช. ที่สงขลา เผย "ตัวแทนคนใต้" หนุนนายกฯ ต้องมาจากส.ส. แนะให้พรรคเปิดตัวว่าที่นายกฯและบัญชี รมต.

ผู้สื่อข่าวรายงาน ถึงผลการแสดงความเห็นของประชาชนต่อประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมด้วยอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ในกรธ. และสถาบันพระเกล้า ร่วมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวทีที่สอง ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า จากการแบ่งกลุ่มย่อย เป็น 5 กลุ่มเพื่อรับฟังความเห็นตามโจทย์ที่กรธ.ตั้งขึ้น มีสาระสำคัญ คือ 1.สิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของประชาชนที่พึงปรารถนา มีข้อเสนอสำคัญคือต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง มีสิทธิและมีหน้าที่ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงปกป้องความเป็นธรรม รวมถึงต้องกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมปกป้องรัฐธรรมนูญ และร่วมมือกับรัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

2.หน้าที่ของรัฐที่พึงปรารถนา มีข้อเสนอสำคัญ คือ รัฐต้องเป็นรัฐประชาธิปไตยใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร ขณะเดียวกันต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน, รัฐสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้ผ่านกลไกที่จัดตั้งเป็นองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ขณะที่หน้าที่ของรัฐต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือชุมชน และรัฐต้องเป็นผู้ลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่ประเด็นของกลุ่มชนชาติรัฐต้องกำหนดกฎหมายกระจายบทบาทเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับกรรมการสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอของผู้เข้าร่วมเวที คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของรัฐผ่านเวทีประชาพิจารณ์

3.การได้มาซึ่งแทนที่พึงปรารถนา ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าควรให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ อาทิ นายกรัฐมนตรี, ส.ว., ส.ส., ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้เห็นว่าควรให้นายกฯ มาจากส.ส. ขณะที่รายละเอียดเกี่ยวกับส.ส. นั้นทางกลุ่มเห็นความสำคัญของการได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรที่ดีมีคุณภาพ ดังนั้นควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งให้ชัดเจน และควรเปิดเผยประวัติ รวมถึงที่มาของนักเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้พิจารณาก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงต้องมีมาตรการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งย้อนหลัง 5ปีส่วนจำนวน ส.ส. นั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรให้มีส.ส.ไม่เกิน 350 คน ส่วนการทำงานในพื้นที่ควรให้เป็นหน้าที่ของผู้ช่วยส.ส. ที่ส.ส. 1คนจะมีผู้ช่วยส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คนโดยต้องประกาศบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ผู้ช่วยส.ส.ในการสมัครรับเลือกตั้งด้วย ขณะที่ระบบเลือกตั้งเห็นว่าควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยระบบเขตเดียวเบอร์เดียว นอกจากนั้นยังเสนอเปิดโอกาสให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบอิสระ เพื่อให้มีตัวแทนของชาติพันธุ์และกลุ่มอาชีพเข้าไปทำหน้าที่ ขณะเดียวกันได้สนับสนุนแนวทางที่ให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อบุคคลที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกฯ รวมถึงมีการเปิดเผยบัญชีรายชื่อรัฐมนตรี ให้ประชาชนรับทราบด้วย ส่วนที่มาของส.ว. นั้น ทางกลุ่มฯ​ยังมีความเห็นที่แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดโดยจำนวนส.ว.จะแบ่งตามเกณฑ์ประชากรในจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทุกจังหวัด และแนวทางที่ให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสรรหาตามสาขาวิชาชีพ โดยให้มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนและจากการสรรหาตามวิชาชีพ จำนวน 50 คน ทั้งนี้ควรกำหนดให้ส.ว.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริง

4.การกระจายอำนาจที่พึงปรารถนา มีข้อเสนอที่สำคัญ​ คือ ให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการ กระจายอำนาจด้วยระบบจังหวัดจัดการตนเอง ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ชุดที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานมีผลบังคับใช เพราะมองว่าเป็นร่างกฎหมายที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ เช่น การปรับฐานภาษีในท้องที่ ให้เก็บเข้าท้องถิ่นร้อยละ 70 ขณะที่ร้อยละ 30 ให้ส่งเข้ารัฐบาลส่วนกลาง นอกจากนั้นให้กำนันมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ส่วนผู้ใหญ่บ้านให้มีวาระทำหน้าที่ 5 ปี     และ 5.แนวทางการปฏิรูปประเทศที่พึงปรารถนา มีข้อเสนอให้มีสภาประชาชนที่มีตัวแทนจากคนทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริต รวมถึงมีศาลว่าด้วยคดีทุจริต พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลาตรวจสอบ เช่น ให้มีการชี้แจงประเด็นที่ถูกกล่าวหาทุจริต หากภายใน 180 วันชี้แจงไม่ได้ให้ถูกตัดสินว่าทุจริตทันที นอกจากนั้นต้องปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และเหมาะสมกับความแตกต่างในภูมิภาคของท้องถิ่น ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุ ด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ด้วยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อีก 3 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันที่เก็บจำนวน 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตยมีข้อเสนอให้เลือกตั้งนายกฯโดยตรง ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค พร้อมกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับมีวาระเพียง 2สมัย เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมือง ทั้งนี้มีข้อเสนอด้วยว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดด้วยว่าต้องให้จัดการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะจัดการเลือกตั้งได้ เพราะทางกลุ่มมองว่าหากให้นักการเมืองเข้ามาปฏิรูปคงไม่สามารถทำได้สำเร็จ

ขณะที่ประเด็นพิเศษว่าด้วยวิธีดำเนินการ หรือบทลงโทษผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้ง นั้น ประชาชนมีข้อเสนอ อาทิ ต้องตัดสิทธิทางการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับตลอดชีวิต ขณะที่ผู้ขายเสียงต้องมีบทลงโทษเป็นการปรับหลักแสนบาท หรือจำคุกด้วย ส่วนผู้จัดการหรือกำกับการเลือกตั้งที่ปล่อยให้มีการทุจริตเลือกตั้งต้องกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าประชาชน นอกจากนั้นยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้ประชาชนที่พบเห็นการกระทำที่ทุจริตมีสิทธิยื่นฟ้องเอาผิดตามกฎหมายได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่แข่งทางการเมืองเท่านั้น ส่วนคดีทุจริตการเลือกตั้งต้องไม่กำหนดอายุความ

ผู้สื่อข่าวรายงานในเวทีเสนอความเห็นยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากผู้ที่เข้าร่วม อาทิ ให้กำหนดความรับผิดชอบของ กรธ. กรณีที่ทำร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น คืนเงินเดือน เป็นต้น​ ​, ประเด็นตรวจสอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินด้วยเพื่อความโปร่งใส ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องปรับองค์กรให้เล็กลงและมีประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนการมีส่วนร่วมประชาธิปไตย ควรกำหนดให้เยาวชนที่อายุ 18 ปีต้องร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมทางการเมือง และร่างรัฐธรรมนูญควรกำหนดห้ามฉีกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญอีกแม้การเมืองในสภาฯ​จะทะเลาะกันอย่างหนัก