อนุ กรธ.ฯ จัดเวทีฟังความเห็นปชช.​ที่หาดใหญ่พรุ่งนี้

อนุ กรธ.ฯ จัดเวทีฟังความเห็นปชช.​ที่หาดใหญ่พรุ่งนี้

อนุ กรธ.ฯ จัดเวทีฟังความเห็นปชช.​ที่หาดใหญ่ พรุ่งนี้ (29 พ.ย.​) เน้นฟังความเห็น5ประเด็นสำคัญ

นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ในกรธ. กล่าวถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 29 พ.ย.​ นี้ว่า เวทีดังกล่าวจะยังคงรูปแบบการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เรื่องสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของประชาชนที่พึงปรารถนา, 2.เรื่องหน้าที่ของรัฐที่พึงปรารถนา, 3.เรื่องการได้มาซึ่งแทนที่พึงปรารถนา, 4.เรื่องการกระจายอำนาจที่พึงปรารถนา และ5. แนวทางการปฏิรูปประเทศที่พึงปรารถนา แต่จะมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมเล็กน้อย ถือการสอบถามถึงเหตุผล ที่มาของความคิดเห็นของประชาชนในรายละเอียดที่สำคัญด้วย นอกจากนั้นในเวทีดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่จะให้มีการทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านระบบออนไลน์ด้วย เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังฯ ได้มีส่วนร่วม ทั้งนี้ในเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น อนุกรรมการฯ จะไม่นำบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. พิจารณาและมีแนวทางที่ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วไปสอบถามความเห็น เพราะในบทบัญญัติดังกล่าวนั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณารายละเอียด เช่น การคำนวณจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง ที่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยระบบเลือกตั้งแบบกาบัตรใบเดียว ทั้งนี้รายละเอียดที่ชัดเจนจะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2560

นายธิติพันธุ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่ขัดแย้งหรือไม่เป็นไปในแนวทางที่กรธ.พิจารณานั้น ตนยอมรับว่ามีเกิดขึ้น ซึ่งกรธ.จะนำมาพิจารณาควบคู่กับการวางแนวทางของรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักว่าจะเป็นจริงในทางปฏิบัติได้หรือไม่ เช่น ข้อเสนอของประชาชนในเวทีรับฟังความเห็นที่ จ.เชียงราย ที่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ แต่วิธีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระบบรัฐสภาที่ประเทศไทยยึดถือ ดังนั้นกรธ.จึงจำเป็นที่ต้องพิจารณารายละเอียดและแนวทางที่สามารถเป็นไปได้ หรือเหมาะสมกับประเทศไทย

“ประชาชนสามารถเสนอแนะหรือแนะนำในประเด็นต่างๆ เข้ามาได้ แต่กรธ. คงไม่สามารถนำทุกความเห็นมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะบางเรื่องในความเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่อยู่คนละฟาก สุดท้ายกรธ.ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมกับสภาพของประเทศ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย” นายธิติพันธุ์ กล่าว