'นิคม'ค้านเลือกตั้งทางอ้อมของสว.

'นิคม'ค้านเลือกตั้งทางอ้อมของสว.

"นิคม" อดีตปธ.วุฒิสภา ค้านเลือกตั้งทางอ้อมของส.ว. หวั่นได้ตัวแทนที่ไม่มีความรู้-เชี่ยวชาญตามสาขาวิชาชีพ

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตส.ว.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการพิจารณาบทบัญญัติว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้วางหลักการสำคัญคือมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จากกลุ่มนิติบุคคลและสาขาวิชาชีพ จำนวน 200 คน ว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าการกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.​ที่ได้จากตัวแทนวิชาชีพหรือองค์กรนิติบุคคลนั้นมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะบุคคลที่องค์กรหรือวิชาชีพนั้นๆ ส่งลงสมัครไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาชีพหรือตามที่มีคุณสมบัติตรงกับองค์กรหรือกลุ่มนิติบุคคลที่ส่งมา กล่าวคือ เป็นเพียงบุคคลที่ประสงค์จะเป็นส.ว.แล้วให้กลุ่มนิติบุคคลเสนอชื่อไปเท่านั้น ขณะที่ข้อกำหนดให้ ส.ว.มาจากตัวแทนวิชาชีพ ตนกังวลว่าจะมีปัญหาต่อกระบวนการเลือกกันเอง เช่น วิชาชีพเกษตรกรรมหรือชาวนา จะมีหลักประกันใดที่รับรองว่าชาวนาหรือเกษตรกรที่แท้จริงจะมีสิทธิรับสมัครหรือผ่านการคัดเลือก ดังนั้นวิธีการได้มาซึ่งส.ว.ที่จะลดปัญหาดังกล่าวได้ คือ ให้องค์กรวิชาชีพหรือกลุ่มนิติบุคคลเลือกตัวแทนของตนแล้วส่งให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งส.ว. ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับการเลือกตั้งและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ส.ว.ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญซึ่งมาจากฐานวิชาชีพนั้นๆ อย่างแท้จริง

นายนิคม กล่าวด้วยว่า ตนสนับสนุนที่กรธ.ตัดอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากอำนาจของส.ว. แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้อำนาจดังกล่าวไปอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ก่อให้เกิดความไว้ใจหรือเชื่อต่อมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นประเด็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรให้ไปอยู่กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเหมาะสมที่สุด เพราะศาลฏีกานั้นมีวิธีพิจารณาตามกระบวนการและรายละเอียดการทำงานที่ชัดเจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ