น้ำมั่นดิ่ง (ยุคทอง) ยางมะตอย ทิปโก้แอสฟัลท์

น้ำมั่นดิ่ง (ยุคทอง) ยางมะตอย ทิปโก้แอสฟัลท์

“ทิปโก้แอสฟัลท์”ผู้ค้ายางมะตอยอันดับ1ส่งสัญญาณธุรกิจยางมะตอย“ดาวเด่น”อีก3ปี หลังน้ำมันดิ่งกดต้นทุนต่ำ“กำไร”นิวไฮ รัฐเร่งเมกะโปรเจคดึงดีมานด์

นับตั้งแต่น้ำมันดิบยืนเหนือราคา 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล “ธุรกิจพลังงาน” ถือว่าเป็น “ดาวเด่น” มาตลอด

ทว่า ณ เวลานี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยร่วงลงมาเหลือ 46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ธุรกิจพลังงานได้รับผลกระทบหนักต้องแบกขาดทุนสต็อก (stock loss) เป็นจำนวนมาก ประกอบทิศทางเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมัน (ดีมานด์) ยังคงทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นไม่มาก 

หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย” ที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในระยะ2-3 ปีจากนี้

อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาน้ำมันดิบที่ต่ำ กลับมีธุรกิจพลังงานอีกฟากที่ขึ้นมาโดดเด่นอย่างที่หลายคนมองข้าม 

นั่นคือ “ธุรกิจยางมะตอย” ซึ่งในอดีตเป็นสินค้าที่ราคาไม่เคย “หวือหวา” ต่างจากในปัจจุบันที่ธุรกิจนี้ กลับเติบโตหวือหวา แปลกต่าง

กลายเป็นอานิสงส์ บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ หรือ TASCO ผู้ประกอบธุรกิจยางมะตอยรายใหญ่อันดับ 1 ในไทยและอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตของโรงกลั่นอยู่ที่ 30,000 บาร์เรลต่อวัน มีผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ทิปโก้ฟูดส์ หรือ TIPCO ในสัดส่วน 24.16%

โดยเมื่อปี 2522 “ตระกูลทรัพย์สาคร” ก่อตั้ง บริษัท ทิปโก้อิมัลชั่น จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ โดยในปี 2524 ตั้งโรงงานผลิตยางมะตอยแห่งแรกที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

“ชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ TASCO วิเคราะห์ทิศทางธุรกิจยางมะตอยให้ฟังว่า ธุรกิจยางมะตอยยังจะเป็น “ขาขึ้น” ไปอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี (2559-2561) โดยสาเหตุหลักๆ มาจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมาอยู่ที่ 46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ต้นทุนของบริษัทลดลง “มากกว่าครึ่ง”

“เรามองว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับราคา 40-50 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะเกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แสดงว่าต้นทุนบริษัทยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป”

ประกอบกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการผลิต หรือ “ซัพพลาย” ในตลาดจะหายไปจำนวนหนึ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบลดลงทำให้โรงกลั่นน้ำมัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันให้มีคุณภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่เป็น “บายโปรดักส์” (ผลพลอยได้) อย่างยางมะตอยลดลง 

นั่นหมายความว่า ในภาพใหญ่ของธุรกิจยางมะตอยยังมีทิศทางดีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการพัฒนาสินค้าเกรดพรีเมี่ยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้น (กำไรต่อหน่วย) สูง

“ต้นทุนลดลง-ปริมาณยางมะตอยในตลาดน้อยลง-ความต้องการมีสูงขึ้น แสดงว่าธุรกิจยังดีอยู่ต่อเนื่องอีก 3 ปีข้างหน้า” เขาย้ำ

จากสถานการณ์ธุรกิจยางมะตอยเป็นเช่นนี้ ทำให้ TASCO วางเป้าหมายธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (2559-2563) กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ว่า จะขอเป็น “ผู้นำในธุรกิจยางมะตอยแบบครบวงจร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”

โดยเมื่อช่วงต้นปี 58 ผู้บริหารระดับสูงทุกคนต้องไปฝั่งตัวต่างจังหวัด 3 วัน 2 คืน เพื่อประชุมกำหนดวิสัยทัศน์ในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากปี 2557 บริษัทมียอดขายทะลุ 2 ล้านตัน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2558 หมายความว่าเราทำได้เร็วกว่าเป้าหมาย 1 ปี 

ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ในปี 2563 บริษัทจะมี “ยอดขาย” ยางมะตอยและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจำนวน 6 ล้านตันต่อปี และมียอดขายใน 5 ทวีป จากปัจจุบันที่มียอดขายใน 3 ทวีป คือ เอเชีย,ออสเตรเลีย,แอฟฟริกา โดยมองว่าหากต้องการเติบโตต่อเนื่องต้องขยายตลาดเข้าไปในทวีป “อเมริกาและยุโรป” 

ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตขึ้นอีก 3 เท่าตัว 

โดยยอดขาย 6 ล้านตัน แบ่งเป็น ยอดขายธุรกิจยางมะตอย 4 ล้านตัน และอีก 2 ล้านตัน เป็นยอดขายจากธุรกิจปิโตรเลียม

ในเชิงกลยุทธ์ การจะบรรลุยอดขายที่ 6 ล้านตันนั้น “ชัยวัฒน์” เล่าว่า จะเดิน “กลยุทธ์” เน้นการขยายโรงงานเข้าไปในหลายประเทศที่บริษัทเข้าไปทำตลาด โดยจะเข้าไปดูว่าประเทศไหนที่สามารถเข้าไปตั้งโรงงานหรือทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้ พร้อมกับมีตลาดภายในประเทศรองรับ

ล่าสุด ได้เข้าไปซื้อกิจการยางมะตอยในเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยเป็น 2 ประเทศหลัก ใน 5 ประเทศ ที่บริษัทเข้าไปทำตลาด 

เขายังเล่าว่า แผนการซื้อกิจการในต่างประเทศ เริ่มต้นคิดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยตั้งงบลงทุน 8,500 ล้านบาท แบ่งใช้เฉลี่ยปีละ 1,700 ล้านบาท เป็นงบลงทุนปกติปีละ 800 ล้านบาท สำหรับการขยายกำลังการผลิต และเตรียมเงินลงทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นยางมะตอยในมาเลเซียอีกเท่าตัวแตะ 50,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” จากกำลังการผลิตปัจจุบัน 25,000 บาร์เรลต่อวัน 

โดยจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป คาดแล้วเสร็จภายในปี 2562 รวมไปถึงใช้สำหรับการซื้อเรือเพิ่มอีก 2 ลำ ลำละ 15-20 ล้านดอลลาร์ และการใช้ทำดีลการควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A) บริษัทยางมะตอยในเวียดนามและอินโดนีเซีย

สำหรับเงินลงทุน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แม้จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะปัจจุบันกระแสเงินสดจากการดำเนินงานทำได้เฉลี่ยมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.71   

“การซื้อโรงงานในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยใช้เงินลงทุนไป 2,200 ล้านบาท จะเน้นพัฒนาศักยภาพของโรงงานดังกล่าวไปก่อน ระหว่างนี้ก็จะศึกษาโรงงานในต่างประเทศที่มีศักยภาพ โดยเมื่อถึงเวลาที่จะขยายกำลังการผลิตอีกครั้งก็จะสามารถเข้าไปซื้อได้เลย”

++++++++++++++++++++++++++

ปี2558-2559 

“ปีทอง” ทิปโก้แอสฟัลท์

“ชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ หรือ TASCO ยังระบุว่า 2 ปีนี้ (2558-2559) ถือเป็นปี “พิเศษ” ของ TASCO ซึ่งถือว่าเป็น “ปีที่ดีสุด” ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาร่วม 10 กว่าปี เนื่องจากในอดีตบริษัทไม่เคยนำเข้ายางมะตอยเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ แต่ปีนี้ตั้งแต่ต้นปียางมะตอยขาดตลาดโดยไตรมาส 1/58 บริษัทต้องนำเข้ายางมะตอยจากโรงงานในประเทศมาเลเซียเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และคาดว่าในไตรมาส 4/58 บริษัทอาจต้องนำเข้ายางมะตอยเข้ามาอีก เนื่องจากคาดว่าความต้องการใช้ยางมะตอยจะเป็นไตรมาสที่มีความต้องการใช้ยางมะตอยสูงสุดของปี

นอกจากนี้ หุ้นของบริษัทยังได้รับความสนใจจาก “นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ” เข้ามาถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาก โดยปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้น TASCO เต็มเพดานในสัดส่วน 49.50% ขณะที่ความต้องการยังมีสูง 

“จากการสำรวจพบว่า มีนักลงทุนถือหุ้นเราผ่านการลงทุนในใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-Voting Depository Receipt : NVDR) ในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มสนใจหุ้นเรามาตั้งแต่ปลายปี 2557 และเราเห็นตัวเลขสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเราตั้งแต่ต้นปีแล้ว”

นอกจากนี้ ผลประกอบการบริษัท ยังทำกำไรสุทธิ “นิวไฮ” (สูงสุด) ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 (ไตรมาส4/57-ไตรมาส3/58) 

โดยในไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 1,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 242% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 425 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ร่วมทั้งปัจจัยบวกต้นทุนน้ำมันที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยในปีหน้าตั้งเป้าปริมาณยอดขายไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านตัน เติบโตราว 15% ได้ปัจจัยหนุนจาก “นโยบายการลงทุนในประเทศ” ทำให้คาดว่ายอดขายในประเทศจะเติบโตสูง จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 20%   

ขณะที่ ผลประกอบการงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.58) มียอดขาย 1.6 ล้านตัน และคาดว่าไตรมาส 4 ยอดขายจะทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องมากกว่า 6 แสนตัน ดังนั้นยอดขายทั้งปีจะเป็นตามเป้าที่ตั้งไว้ 2.2-2.3 ล้านตันต่อปี เติบโต 10-15% ด้านกำไรสุทธิคาดว่าจะสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 3 เติบโตต่อเนื่องมาจาก “ต้นทุนราคาน้ำมันที่ต่ำ” ซึ่งในต้นไตรมาส 3 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พอปลายไตรมาสราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง แต่ราคายางมะตอยลดลงน้อยกว่าต้นทุนน้ำมัน ทำให้ “ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์” (Spread Margin) เพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น

สำหรับยอดขาย 6 แสนตันในไตรมาส 3 แบ่งเป็นยอดขายภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยยอดขายภายในประเทศถือว่าดีมาก เนื่องจากงบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรเพิ่มขึ้นในการซ่อมสร้างถนนตั้งแต่ช่วงต้นปี 58 และการจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา 4 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ปรากฎว่าหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้วคือ กรมทางหลวงราว 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1.5 หมื่นล้านบาท รัฐบาลได้จัดสรรให้กรมทางหลวงชนบท แต่ได้เริ่มมีการใช้งบประมาณในเดือน ต.ค และ พ.ย. โดยเฉพาะในส่วนของกรมทางหลวงชนบท และปัจจุบันงานก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างการทำฐานถนน และกำลังจะใช้ยางมะตอยเทบนผิวถนนแล้ว ฉะนั้นจะมีความต้องการใช้ยางมะตอยเข้ามาในไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/2559

โดยปี 57 มียอดขายยางมะตอยภายในประเทศอยู่ที่ 3.2 แสนตัน แต่ปี 58 คาดว่าจะมียอดขายยางมะตอยในประเทศ 5 แสนตัน เติบโต 50% ถือว่าเป็นปีที่พิเศษสำหรับยอดขายในประเทศ ซึ่งปกติสัดส่วนรายได้จากในประเทศจะอยู่ที่ไม่ถึง 20% ส่วนอีก 80% เป็นยอดขายในต่างประเทศ

ส่วนยอดขายในต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าใน 15-16 ประเทศ ซึ่งยางมะตอยส่วนใหญ่ที่ส่งออกจะมาจากโรงงานในมาเลเซีย หรือ ซื้อยางมะตอยจากประเทศอื่นๆ แล้วนำไปขายให้กับลูกค้าของบริษัท ลูกค้าที่มียอดขายมากสุด ใน 5 ประเทศ คือ อันดับ 1 ประเทศจีน-อินเดีย-มาเลเซีย-ออสเตรเลีย และ เวียดนาม ปัจจุบันยอดขายในต่างประเทศมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วถึงกลางเดือน ม.ค.2559 

โดยปัจจุบันโรงกลั่นใช้กำลังการผลิตเกือบเต็ม 100%

สำหรับดีมานด์ในภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย เช่น อินเดีย,จีน และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประกาศแผน (โรดแมพ) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยการสร้างถนน เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณการค้าขายที่จะเพิ่มมากขึ้น ภายหลังเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีขึ้นในปลายปี 58 โดยเฉพาะในเวียดนาม และอินโดนีเซีย

โดย “หัวใจสำคัญ” ของการเติบโตในตลาดต่างประเทศ อยู่ที่การจัดส่งยางมะตอยได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยปัจจุบัน บริษัทมีเรือขนส่ง 11 ลำ เป็นของบริษัท 7 ลำ ของพันธมิตร 2 ลำ และเช่า 2 ลำ ด้านราคาขายยางมะตอยในตลาดต่างประเทศยังคงสดใส หลังจากปัจจุบันเกิดปัญหาขาดแคลนเรือขนส่งยางมะตอยในการจัดส่งสินค้า

นอกจากนี้ บริษัท Asia Bitumen Trading Pte Ltd (ABT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง TASCO และ SK Energy พันธมิตรยักษ์ใหญ่จากประเทศเกาหลี ก็เริ่มดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/58 และจะเริ่มมีกำไรทันที ซึ่ง SK Energy ถือเป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่สุดในเกาหลีใต้ มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 1.115 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งยังเป็นผู้ค้ายางมะตอยรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของ 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ตลาดยางมะตอยในภูมิภาคเชียแปซิฟิก ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และทำให้คู่ค้ายางมะตอยมั่นใจได้ว่าจะสามารถส่งมอบยางมะตอยได้ตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามา เพราะต้องยอมรับว่าดีมานด์ยางมะตอยที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ จำนวนเรือยางมะตอยจะยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จนกว่าเรือที่อยู่ระหว่างการต่อใหม่จะเข้าสู่ระบบ และไม่มีกำลังการผลิตยางมะตอยใหม่ในเอเชีย

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับงวดผลการดำเนินงานในเดือน ม.ค.-ก.ย. 2558 ในอัตรา 0.20 บาท/หุ้น โดยจะปิดสมุดกำหนดรายชื่อคนที่ได้รับเงินปันผลในวันที่ 30 พ.ย.2558 และจ่ายปันผลในวันที่ 9 ธ.ค. 2558 ซึ่งนับเป็นปันผลระหว่างกาลครั้งที่ 2 ในปีนี้

++++++++++++++++++++

“กำไรสุทธิ” ครอบครัวปตท.

ร่วงถ้วนหน้า

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 3 บริษัทน้ำมันโดยเฉพาะบริษัท “ครอบครัวปตท.” ปรับตัวลดลง กรุงเทพธุรกิจ BizWeek รวบรวม

เริ่มจากผลการดำเนินการของบริษัทแม่ บมจ.ปตท. “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2558 “ขาดทุนสุทธิ” จำนวน 26,582 ล้านบาท ลดลง 204% จากไตรมาส 3/2557 ลดลง 50,328 ล้านบาท หรือ มากกว่า 100% จากไตรมาสสอง ที่มีกำไรสุทธิจานวน 23,746 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP

อีกทั้งมาจากราคาน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลงจากไตรมาสสอง ส่งผลให้บริษัทในเครือของกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น มีผลการดำเนินงานลดลงจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ลดลง ด้วยงวดนี้มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน รวมทั้งผลต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์

ด้าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 15,283.89 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 17,810.58 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 45,905.35 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 48,742.37 ล้านบาท 

โดยมีสาเหตุหลักจากค่าเสื่อมราคาที่สูงขึ้น 256 ล้านดอลลาร์ ในโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ซึ่งเริ่มมีการขายน้ำมันดิบในเดือน ส.ค.2556 และจากโครงการคอนแทร็ค 4 ตามสินทรัพย์พร้อมใช้งานและปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

“อธิคม เติบศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยออยล์ หรือTOP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 “ขาดทุนสุทธิ” จำนวน 2,294.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,234.15 ล้านบาท เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้ได้รับผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน รวมทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 8,432.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,304.13 ล้านบาท

ด้าน บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ประกาศผลประกอบการมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 887.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 22.1 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายสุทธิ 4.87 หมื่นล้านบาท ลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์โดยรวมที่ลดลง 36% ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ขณะที่ปริมาณขายรวมเพิ่มขึ้น 7% เป็น 1.95 แสนบาร์เรล/วัน 

อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบจาก 61.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 2  เป็น 49.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 3 ทำให้มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 1,5978 ล้านบาท หรือ 2.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 1,207.26 ล้านบาท ลดลง 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 7,658.35 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไร 15,812.29 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 20,151.65 ล้านบาท 

สาเหตุจากธุรกิจอะโรเมติกส์อ่อนตัวลงมาก เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาวัตถุดิบที่ลดลง และการหยุดเดินเครื่องของโรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 เพื่อซ่อมบำรุงและเชื่อมต่อส่วนขยายสำหรับโครงการขยายกำลังผลิตโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ทำให้อัตราการใช้กำลังผลิตของหน่วยอะโรเมติกส์รวมปรับลดลงอยู่ที่ 57% ทำให้ Margin ต่อหน่วย (P2F Margin) ของธุรกิจลดลงมาอยู่ที่ 183 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน 

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/58 ยังได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ามันดิบปรับตัวลดลง 19% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้มีการรับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกวัตถุดิบนำเข้าผลิตและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มธุรกิจการกลั่น 2,049 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอะโรเมติกส์อีก 428 ล้านบาท