ขวบปีแรกของลูกมีความสามารถอะไรบ้าง คำตอบที่พ่อแม่มองหา

ขวบปีแรกของลูกมีความสามารถอะไรบ้าง คำตอบที่พ่อแม่มองหา

ดร.ปรียาสิริหรืออาจารย์แพรี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ฉายภาพความสามารถของเด็กวัย 1 ขวบควรหยิบเมล็ดถั่วเขียวได้ บททดสอบเล็กๆที่ยิ่งใหญ่

เคยมีคุณแม่มือใหม่ถามว่า ในช่วงขวบปีแรก เราจะเสริมสร้างอะไรให้ลูกได้บ้าง?

ก่อนที่จะไปถึงคำตอบของคำถามนั้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่แล้ว ประโยคหนึ่งที่ไม่ควรเป็นประโยคติดปากคือ “ถ้ารู้อย่างนี้… ทำแต่แรกก็ดี” ใช่ค่ะ... ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องแต่แรก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกน้อยแล้ว เชื่อได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากรู้ทุกอย่างจริงไหมคะ


เมื่อพูดถึงการเสริมสร้างทักษะของเด็กแบเบาะแล้ว สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบคือ ในช่วงขวบปีแรกนั้น ลูกจะสามารถทำอะไรได้บ้าง คำตอบก็คือ
1. สามารถใช้สมองคิดและประมวลผล รวมถึงพัฒนาความสามารถด้านภาษา
2. เรียนรู้ที่จะยืนขึ้นตรงเพื่อพร้อมจะเดิน ซึ่งรวมไปถึงการพยายามที่จะควบคุมศีรษะของตัวเองให้ได้ตั้งแต่สัปดาห์แรก
3. ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้ว ทำให้ในเดือนที่ 10 เด็กจะต้องสามารถคีบเมล็ดถั่วแดงด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้งได้


ยกตัวอย่างเรื่องของการคีบถั่วก่อนก็แล้วกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทราบว่า การที่เราจะสามารถคีบถั่วด้วยนิ้วนั้นไม่ใช่ความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน นับตั้งแต่
- กล้ามเนื้อที่เป็นตัวบังคับควบคุมการทำงานของนิ้วโป้งและนิ้วชี้ให้บีบเข้าหากัน จนทำให้นิ้วทั้งสองชิดติดกันเป็นรูปมือจีบสำหรับคีบได้
- สมองที่ส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อสั่งให้คีบขึ้นมา
- สายตาที่จะต้องมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของการกะระยะทางระหว่างมือกับถั่ว พิกัดของถั่ว รวมถึงมือจะต้องเคลื่อนที่ไปให้ถูกทิศทางด้วย
- สมองที่ต้องได้รับการพัฒนามากพอที่จะสั่งให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างถูกต้อง
- เซลล์ประสาททั้งหลายที่ต้องทำงานประสานกันเพื่อเป็นตัวรับและส่งภาพ แปลผล และส่งกลับไปมา


เห็นไหมคะว่า เรื่องเล็กนิดเดียวกลับต้องใช้องค์ประกอบหลายส่วนที่ต้องทำงานประสานกัน เหมือนการเล่นดนตรีเป็นวงจึงจะได้เพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะ สิ่งเหล่านี้เบบี๋ตัวน้อยจะต้องพัฒนาได้ตามปกติตอน 9 เดือน
กลับมาที่คำถามที่ว่า จะสามารถเสริมสร้างทักษะอะไรให้กับลูกได้บ้างนั้น ก่อนอื่น คงต้องเปลี่ยนความคิดคุณพ่อคุณแม่อีกหลายต่อหลายท่านที่เคยมองว่า เด็กในวัยแบเบาะนั้น มองอะไรก็ช้า ไม่ค่อยได้ยินอะไร รวมถึงทำอะไรไม่ได้ (หรือว่าไม่ต่างกับผักนึ่งที่มีแต่กินและก็นอน) เสียก่อนค่ะ


มีอยู่ 3 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักรู้ เพื่อที่จะสามารถสังเกตถึงความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ในช่วงเดือนแรกของชีวิตของลูกน้อยก็คือ
1. เด็กสามารถยิ้มตอบเมื่อเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ในระยะ 1 ไม้บรรทัด
2. เมื่อได้ยินเสียงกรอบแกรบ เด็กจะกลอกตาไปตามเสียง แล้วจึงค่อยๆ หันศีรษะตามไป (คุณแม่จะลองใช้วิธีขยำกระดาษใกล้ๆ ก็ได้ค่ะ)
3. เมื่ออุ้มขึ้นจากการนอนหงาย เด็กจะต้องพยายามควบคุมศีรษะตัวเองให้ยกขึ้นแทนที่จะปล่อยศีรษะให้ตกไปด้านหลัง
ถ้าเด็กไม่สามารถทำข้อหนึ่งข้อใดใน 3 ข้อนี้ตั้งแต่เดือนแรกแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ควรจะพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดค่ะ


นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้แล้ว งานวิจัยสมัยใหม่บอกเราหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้นคือ การที่งานวิจัยชี้ไปในทิศทางเดียวกันที่ว่า เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายถูกสร้างให้เกิดมาไม่เหมือนกัน ทั้งในแง่ของร่างกายและด้านอารมณ์ ซึ่งต้องบอกก่อนว่า การที่เด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงเกิดมาไม่เหมือนกันนี้ ไม่ได้แปลว่า เพศไหนดีกว่าเพศไหน แต่การที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่า เด็กทั้ง 2 เพศมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ จะช่วยให้สามารถเพิ่มความสนใจในแต่ละส่วน รวมถึงช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการถูกทางอีกด้วย


ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการเด็กจาก Royal College of Physician สหราชอาณาจักร ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า เด็กผู้หญิงจะเกิดมาพร้อมกับข้อได้เปรียบ 2 อย่างนั่นคือ
ด้านภาษา เป็นเพราะสมองในส่วนพัฒนาการด้านภาษาของเด็กผู้หญิงได้รับการพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และ
ด้านการเข้าใจอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจ นั่นก็เพราะว่า สมอง 2 ฝั่งของเด็กผู้หญิงได้เชื่อมต่อกันตั้งแต่เกิด ในขณะที่สมองทั้ง 2 ฝั่งนี้จะเชื่อมต่อกันได้ดีในเด็กผู้ชายเมื่ออายุได้ประมาณ 9 เดือน ทำให้เด็กผู้หญิงแสดงอารมณ์ได้ชัดเจนมากกว่า รวมถึงเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว นอกจากนั้นการเชื่อมโยงของสมองยังส่งผลต่อเรื่องของทักษะการอ่าน ทำให้เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ ได้ดีกว่าเด็กผู้ชาย


ในเรื่องเดียวกัน งานวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่ยังพบด้วยว่า สมองส่วนคอร์เทกซ์ซึ่งเกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดนั้นพัฒนาในเด็กผู้หญิงก่อนเด็กผู้ชาย ส่วนซ้ายของสมองส่วนคอร์เทกซ์นี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับเรื่องของกระบวนการคิด ในท้ายที่สุดทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกชายและลูกสาวอาจคิดได้ว่า ดูเหมือนลูกสาวจะเก่งและฉลาดกว่าลูกชายนั่นเองค่ะ


แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่มีลูกเป็นเด็กผู้ชายก็อย่าเพิ่งน้อยใจนะคะ เพราะข้อได้เปรียบของเด็กผู้ชายก็มีเช่นเดียวกัน ตัวอย่างก็คือ เด็กผู้ชายจะมีความสามารถในเชิงสามมิติซึ่งเป็นพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กผู้หญิง รวมถึงเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว เด็กผู้ชายจะเก่งกว่าเด็กผู้หญิงทางด้านกีฬากลางแจ้ง เช่น วิ่ง กระโดด และการขว้างบอล


ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ตั้งคำถามในใจว่า แล้วจะพัฒนาลูกชายของเราให้มีทักษะด้านภาษาและด้านอารมณ์ที่ดีขึ้นได้หรือไม่ ศาสตราจารย์ด้านกระบวนการเรียนรู้จาก University of Washington, Seattle ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า
ในด้านภาษา คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะพูดด้วยบ่อยๆ โดยพูดช้าๆ ชัดๆ นอกจากนั้นควรจะร้องเพลงที่จดจำง่ายให้ฟัง รวมถึงถ้ามีโอกาสควรเล่นเกมตบมือตามจังหวะ


ในด้านของอารมณ์ ควรจะที่สัมผัสลูกอย่างเบามือ ชื่นชมเมื่อลูกทำอะไรสำเร็จแม้เป็นก้าวเล็กๆ ก็ตาม และเมื่อลูกโกรธหรือเสียใจ ควรจัดการอารมณ์ของลูกด้วยความเข้าใจ โดยที่ไม่ขวางการแสดงอารมณ์ แต่บอกว่า “แม่รู้ว่าลูกเสียใจ และแม่ก็เสียใจครับ” โดยที่ไม่ดุว่าลูกที่ลูกร้องไห้ เพราะจะทำให้เกิดการเก็บกดซึ่งส่งผลระยะยาวในตอนโต
เมื่อรู้จักวิธีการกระตุ้นตามพัฒนาการอย่างถูกต้องแล้ว ปัญหาที่คิดว่า “ถ้ารู้อย่างนี้ …” ก็คงไม่เกิดขึ้นแน่นอนค่ะ

บทความโดย *ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ หรืออาจารย์แพรี่ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจกายใจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2558