มิ้นท์ I Roam Alone บนก้าวย่างแห่งความสุข

มิ้นท์ I Roam Alone  บนก้าวย่างแห่งความสุข

มิ้นท์ - มณฑล กสานติกุล อดีตลูกคุณหนูขี้วีนที่ในวันนี้เธอกลายเป็นนักเดินทางสาวที่ลุยไปแล้วทั่วโลก หลายคนรู้จักมิ้นท์จากเพจ I Roam Alone

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ทั้งที่นิสัยเดิมนั้นฝังรากลึกตั้งแต่เด็กจนโต ก็เหมือนกับ มิ้นท์ - มณฑล กสานติกุล  หลายคนรู้จักมิ้นท์จากเพจ I Roam Alone และบางคนรู้จักเธอจากหนังสือบันทึกการเดินทาง I Roam Alone : Thai-Siberia เล่มแรก และตอนนี้เธอกำลังมีผลงานเล่มที่สอง I Roam Alone : Trekking Through South America ที่เล่าเรื่องราวการเดินขึ้นเขาในสามประเทศ ลิเบีย อาร์เจนติน่า และเปรู บนภูเขาเจ็ดลูกที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตา ปัญหา การหลงป่า ความเสี่ยงตาย การรอดชีวิต และภูเขาสอนให้เธอรู้ว่าเมื่อไรต้องยอมแพ้แล้วลดอัตตาตัวเองเสีย
นั่นคือผลงาน...ยังมีอีกหลายแง่มุมที่การเดินทางสอนให้มิ้นท์กลายเป็นมิ้นท์ I Roam Alone ได้อย่างทุกวันนี้

เพิ่งกลับมาจากเดินป่าที่ไหน?
เพิ่งกลับมาจากมาเลเซียค่ะ ไปขึ้นภูเขาไฟสองลูก สั้นๆ โฟโม่กับอีเจ้น ขึ้นแป๊บๆ เอง เดินยังไม่ทันสะใจก็ลงมาแล้ว เดินชั่วโมงเดียวเองค่ะ


ทำไมรู้สึกว่ามันสั้น?
เพราะเวลามิ้นท์เดินป่า พอเดินไปสักพักหนึ่งจะต้องผ่านความเหนื่อยก่อนเนอะ ครึ่งชั่วโมงแรกจะเป็นความเหนื่อย เป็นการคุยกับตัวเองเสียส่วนใหญ่ว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ พอผ่านครึ่งชั่วโมงปุ๊บมันจะเข้าโซนที่มิ้นท์เรียกมันว่าโซนสุญญากาศ คือ จะอยู่กับความสงบที่ไม่มีอะไร และเราก็ชอบตรงจุดนี้มาก พอเดินชั่วโมงมันก็เลยได้เข้าไปแป๊บเดียวแล้วหลุดออกมา มันเลยยังไม่รู้สึกว่าเราไปได้รับพลัง


ปกติเดินโหดๆ คืออย่างไร?
ก็ยังไม่โหดมาก ครั้งหนึ่งเดินขึ้นยอดแล้วเดินลงมา ใช้เวลาประมาณ 10 กว่าชั่วโมง ก็จะมันกว่า เจ็บปวดดี มีเวลาอยู่กับตัวเอง ก็จะชอบ


ทำไมชอบความเจ็บปวด?
ก็เหมือนการขัดเกลาตัวเองนะ ขัดเกลาจากความฟุ้งซ่าน มิ้นท์ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ เปาโล เกวนโย เรื่อง ดิออกคิมิส เขาพูดถึงดินสอ คือ ให้เป็นแบบดินสอ เวลาใช้ไปสักพักมันจะทู่ พอเราเหลามันมันก็จะเจ็บนิดหน่อย แต่เราก็จะแหลมคมขึ้น มิ้นท์ก็รู้สึกแบบนี้กับการเดินป่า มันเป็นการเอาความเหนื่อยเข้าแลก และเจ็บปวดนิดหน่อย แต่เราจะได้รู้จักฟังความคิดตัวเอง


เริ่มเดินทางตั้งแต่เมื่อไร?
เริ่มเดินทางคนเดียวตั้งแต่อายุ 23 นี่ก็ผ่านมาจะห้าปีแล้วนะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ตอนนั้นใช้ความบ้าล้วนๆ ไม่ได้ใช้สติตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น คือ เรียนจบปริญญาโทแล้วอึดอัด อยากทำอะไรบ้าๆ หลุดโลกสักครั้งหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจไป ก่อนหน้านั้นเราเคยทำงานกับนักท่องเที่ยวเยอะเพราะเราเป็นไกด์ ไกด์สำหรับคนที่พักโฮสเทลด้วยนะไม่ใช่โรงแรม ก็ทำอยู่หนึ่งปีได้เจอนักเดินทางเยอะ แล้วได้เจอนักเดินทางญี่ปุ่นเขาบอกว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตให้ลองดูนะ ไม่ต้องถามฉันหรอกว่าเดินทางคนเดียวมันเป็นอย่างไร ไปลองเลย

มิ้นท์ก็พยายามบอกทุกคนเหมือนกันว่าอยากให้ทุกคนลองเดินทางคนเดียวดู ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิง...จริงๆ คำจำกัดความ 'การเดินทาง' ของมิ้นท์ ไม่ได้อยู่ที่ว่าไกลหรือใกล้ หรือต้องรูปสวย ต้องเจออะไรเลยนะ การเดินทาง คือการเอาตัวเองออกจากพื้นที่ที่เราเดินทุกวัน เปลี่ยนถนนเส้นใหม่ซะ เป็นการปลุกประสาทสัมผัสทั้งหมดของเราขึ้นมาใหม่ ให้เราเห็นจากสิ่งที่เราเห็นปกติ เดินปกติ ทุกคนเป็นหมด เดินถนนเส้นเดิมทุกวัน เราไม่มอง ไม่คิดอะไรด้วยซ้ำ เราเดินด้วยสัญชาตญาณ เดินด้วยความคุ้นเคย

กลายเป็นว่าประสาทสัมผัสทั้งหมดของเราตาย ไม่ได้ใช้ พอเราไปเดินถนนเส้นใหม่มันเป็นการปลุกประสาทสัมผัสของเราทั้งหมดขึ้นมาใหม่ ให้เราได้เรียนรู้อะไรสักอย่าง ถ้าโชคดีก็จะได้รู้อะไรบ้าง นี่คือคำจำกัดความ 'การเดินทาง' ของมิ้นท์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องนานก็ได้ ครึ่งวัน วันหนึ่งก็ได้ มิ้นท์พยายามจะบอกให้ทุกคนพยายามออกไปเดินคนเดียวสักครั้ง แล้วพยายามปิดมือถือ Disconnect กับโลกภายนอกบ้าง แล้วมา Connect กับตัวเองบ้าง


การเดินทางกับการท่องเที่ยว ต่างกันใช่ไหม?
มิ้นท์ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ คำจำกัดความก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับมันมาก ไม่ค่อยชอบความหมายของคำ ถึงแม้จะเป็นนักเขียน มันจะเป็นฟิลลิ่งเปล่า สำหรับมิ้นท์ อย่างนักเดินทาง ก็น่าจะไปเพื่อเรียนรู้ ไปเรียนรู้คนอื่นก่อน แล้วเราจะได้เรียนรู้ตนเองในกระบวนการนั้นด้วย คือการเดินทางสำหรับมิ้นท์ คือการไปเรียน ไปรู้ เท่านี้ ไม่มีอะไรไปปลุกประสาทสัมผัส แล้วก็ไม่มีอะไรมากกว่านี้แล้วนะ


ก่อนที่จะไปเดินทางคนเดียว เราไม่รู้ตัวเอง เราฟุ้งซ่านหรือเปล่า?
ใช่ คือ การที่จะมาเป็นมิ้นท์วันนี้ได้ เป็นคนปกติ จากสมัยก่อนเป็นผีบ้านะ เป็นคนบ้า ก็ใช้เวลา 4 ปีเลยนะ นานเหมือนกัน กว่าเราจะมาเห็นอะไรตรงนี้ได้ ก่อนหน้านี้ก็เที่ยว เดินทางปกติเหมือนคนอื่น เหมือนไปเรียนเมืองนอกเราก็จะแบบติดเช็คลิส ก็ยังมีอารณ์จะไปประเทศนี้ ประเทศนั้น หลังจากเดินทางคนเดียวสักพัก ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คือมันมีความผจญภัยมากกว่าแหละ สมัยก่อนก็จะเป็นแบบนี้ติดเช็คลิสเหมือนคนอื่น เพื่อไปถ่ายรูปกับรูปปั้น กับรูปอะไรไม่รู้เต็มไปหมด พอกลับมาดูรูปไม่เหลือความทรงจำเลย เพราะเรามัวแต่วิ่ง วิ่งไปให้ทันครบทุกโบสถ์ ที่เราต้องไป จะมีความบ้าแบบนั้นอยู่
แต่เดินทางคนเดียวเราก็จะค้นพบตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จริงๆ เราไม่ต้องการสถานที่แบบนั้นเลย รู้ว่าตัวเองชอบธรรมชาติมาก โดยไม่รู้ตัว ก็เลยรู้ตัวเองมากขึ้น ชอบความช้า ชอบอยู่กับคน ชอบกินข้างทาง
อีกอย่าง การเดินทาง มิ้นท์จะบอกเลยว่ามันเปลี่ยนชีวิตมิ้นท์ไปเลย จากดำเป็นเทาอ่อน มันไม่มีใครขาวหรอก ดำเป็นเทาอ่อนลง อ่อนลงเรื่อยๆ ก่อนการเดินทางเราเป็นคนโลกแคบ ใช้ชีวิตติดบ้าน มหาลัยฯ ชอปปิง ลูกคุณหนู่อ่ะ ชอปปิงเยอะมาก จะบอกว่าทีความสุขกับการซื้อวัตถุก็ไม่ใช่ เราซื้อเพราะ ซื้อ เป็นการระบายความเครียดอย่างหนึ่ง ทั้งที่มีทุกอย่างแต่เป็นคนทุกข์มาก เป็นคนขี้โมโหมาก ขี้วีน อารมณ์เสียทีนึงของกระจาย เป็นบ้า ตอนนั้นเป็นทุกข์จริงๆ นั่งรถไปเรียน มีคนขับรถไปรับไปส่งทุกวัน นั่งไปรู้สึกว่าอยากตาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ทำไมชีวิตมีแต่ความทุกข์วะ


ชีวิตเหมือนจะมีแต่คนอิจฉานะ มีทุกอย่าง?
แต่เรามองไม่เห็น เรื่องความทุกข์ของคนมันไม่ Universal นะ บางทีคนก็ไม่เข้าใจเรา คือเราก็ไม่เข้าใจในความไม่มีปัจจัยสี่ของเขา ขณะเดียวกันเขาก็ไม่เข้าใจความขาดทางอารมณ์ของเราเหมือนกัน คนมันมีทุกข์เหมือนกันหมดนั่นแหละ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบไหนแค่นั้นเอง
ตอนนั้นเคยบอกแม่ว่าอยากไปหาหมอโรคจิต เพราะมิ้นท์ไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้อีกแล้ว แต่พอได้เดินทางเรื่อยๆ ตอนนี้เราไม่เจอความทุกข์แบบนั้นอีกแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าความทุกข์แบบอยากตาย ไม่เจออีกแล้ว มิ้นท์ว่าสมัยก่อนโลกนี้มันแคบไป ตอนนี้ความทุกข์เราอาจยังมีอยู่ แต่โลกมันกว้างมากเลย ก็เลยมองไม่เห็นสิ่งนั้นอีกแล้ว กลายเป็นเรามองเห็นความทุกข์ที่แท้ด้วย
เวลาเดินทางเราเห็นความทุกข์ที่แท้ของคนที่เขาทุกข์จริงๆ เราก็เลยมองเห็นว่าจริงๆ เราเป็นคนโชคดีมาก ลองไหมที่จะเป็นคนไม่เอาทุกอย่าง ลองเป็นคนให้คนอื่นบ้างไหม สิ่งเหล่านี้คือการเดินทางสอนเรามาทั้งหมด มันทำให้เราลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง หัดมองคนอื่นซะบ้าง รู้จักอยู่กับปัจจุบัน เห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ รอบตัวที่เราไม่เคยเห็นคุณค่ามาก่อน ไม่ว่าจะน้ำประปา ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ เสื้อผ้าสะอาด เตียงที่ไม่มีแมลง ฯลฯ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ นี้มันขัดเกลาเราไปเรื่อยๆ คือระหว่างทางไม่ใช่ไม่เจ็บปวด มันเจ็บปวดนะที่ต้องสละทุกอย่างที่เราเคยมีออกไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนการเหลาดินสอ มันเจ็บ แต่จริงๆ ตอนนี้ดินสอก็สั้นลงนะ แต่ปลายหัวเราก็แหลมขึ้นเรื่อยๆ นะ


จากลูกคุณหนูกับนักเดินทางที่ต้องอยู่กับความลำบาก แตกต่างกันสุดขั้ว?
สมัยก่อนมิ้นท์มองว่ามิ้นท์มีพร้อมแต่มิ้นท์มีแต่ความทุกข์จนมิ้นท์คิดว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำไมเขามีรถรุ่นนี้แล้วเราไม่ได้รุ่นนี้ คนไม่มีมักจะไปเปรียบเทียบกับคนมี คนมีก็เปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่าเหมือนกัน มันคือธรรมชาติของมนุษย์ แต่พอตอนนี้เรามีเท่าเดิมกลับรู้สึกว่าเรามีเยอะไปด้วยซ้ำ เรามีมาก โคตรโชคดีเลย ตอนนี้ชีวิตไม่ต้องการอะไรแล้ว แม่ดีใจมาก แม่เป็นคนที่ดีใจมากในกระบวนการเปลี่ยนนี้ สมัยก่อนแม่คิดว่าลูกฉันจะอยู่บนโลกนี้ได้อย่างไร จะต้องหาเงินให้มันขนาดไหนถึงจะอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

คือ สมัยก่อนเดินชอปปิงที่อิตาลีเรารูดจนบัตรเต็ม แล้วโทรกลับมาบอกที่บ้านให้เติมวงเงิน เราเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้มีกระเป๋าผ้าสองใบผลัดกันใช้ผลัดกันซัก เสื้อผ้าก็ใส่ซ้ำๆ เหมือนเรารู้แล้วว่าของเหล่านี้มันไม่สำคัญ มิ้นท์ไม่ได้พูดว่าเงินไม่สำคัญนะ ถ้าเราเป็นหนี้ก็กระทบกับความสุขของเราอยู่แล้ว แต่จริงๆ จำนวนเงินมากก็ไม่สำคัญขนาดนั้นเหมือนกัน

วันนี้มิ้นท์ได้นั่งคุยกับพี่แท็กซี่ คือช่วงนี้สงสัยว่าความสุขความทุกข์ของคนเราอะไรคือตัวแปร ก็คุยกันมาตลอดทาง พี่รู้สึกสุขตอนไหน? พี่เขาบอกว่าได้กินข้าวพร้อมหน้ากันที่้บ้าน เท่านั้นเอง ใช่ตัวเงินหรือเปล่า ไม่ใช่ตัวเงินนะ แล้วพี่ทุกข์ที่สุดตอนไหน? ก็ห่วงลูกชายคนเล็กว่ามันจะเสียคน ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ตัวเงินอีกเช่นกัน ก็เลยนั่งคิดว่าในสังคมตอนนี้ที่เรามุ่งหน้าไปหาเงินไปหาวัตถุ แต่จริงๆ สองสิ่งนี้มันคือคำตอบของความสุขกับความทุกข์ของเราหรือเปล่า


รู้แล้วใช่ไหมว่าความสุขความทุกข์ของตัวเองคืออะไร?
ความสุขคือจังหวะที่ได้อยู่กับปัจจุบัน ที่จำได้แม่นๆ เลย มีอยู่สามเวลาที่เคยรู้สึกว่ามีกระแสความสุขวิ่งอยู่ในร่างกาย ครั้งแรกที่เจอคือที่ประเทศคอสตาริกา เพิ่งตกรถมาก็งงๆ แล้วนั่งรถตู้ไป ขณะที่มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นบ้าน เห็นคน เห็นทุ่งนา แล้วเราอยู่กับจังหวะนั้นจริงๆ เราไม่ถูกดึงไปที่ไหนเลย
ครั้งที่สองตอนอยู่ที่มาเลเซีย ตอนนั้นบินเพื่อไปเอาวีซ่า เราจะบินไปเวเนซูเอรา จำได้ว่าตอนนั้นบินไปแล้วสถานทูตบอกว่าระบบวีซ่าล่ม ยังไงก็ออกให้ไม่ได้ แล้วเราบินมาไกลมาก ในความเซ็งตอนนั้นมันก็มีอารมณ์โมโห หงุดหงิด แต่บังเอิญเรานึกถึงคำของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ขึ้นมาได้ว่า "อย่าถามว่าทำไมสิ่งไหนๆ จะเกิดกับเรา ให้คิดเสียว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเกิดมาเพื่อเจอสิ่งนี้ เท่านี้เอง" เราก็ดึงตัวเองกลับมาด้วยความรวดเร็ว ในขณะที่เราเดินปไที่พักก็มองเห็นว่าฟ้าครึ้มมาก แต่เรารู้สึกว่ามันสว่างมาก เพราะเรามีความสุข รู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้ แล้วเราก็ดีใจที่ดึงตัวเองกลับมาได้
ส่วนความทุกข์ก็ต่อเมื่อเราถูกดึงไปอยู่กับอดีต มิ้นท์คนเดิมที่ไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่สำหรับแต่ละคนก็แตกต่างกันไป


แปลว่ามีความสุขที่ได้พัฒนาตัวเอง?
มิ้นท์ไม่ได้มีความสุขที่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา แต่มิ้นท์พบความสุขเพราะมิ้นท์เปลี่ยนตัวเอง เป็นแบบนั้นมากกว่า คือ ไม่ได้รู้สึกว่าเราอุตส่าห์มาเป็นคนใหม่ แต่เพราะคนๆ นี้ ตอนนี้มันมีความสุขมาก

การเดินทางตลอด 4-5 ปี มีทริปไหนที่เปลี่ยนตัวเองมากที่สุด?
ทริปแรกก็เปลี่ยนมากนะ ไปแอสซอเรส ที่โปรตุเกส เพราะเป็นครั้งแรกที่เราเห็นด้านเฮงซวยของการเดินทางที่เราจะไปเจอได้ เพราะการเดินทางคนเดียวไม่มีแผน A แผน B ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรเราต้องรับมือ ตอนนั้นโดนไล่ออกจากที่พักเพราะเข้าใจผิดอะไรกัน ทำให้เราเห็นด้านแย่ การที่อยู่คนเดียวแล้วโดนทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ก็เลยกลายเป็นว่าเราหยุดเดินทางไป 4 เดือนเลยนะ มานั่งคิดว่าเราจะไปต่อไหม แต่ก็ไปต่อ เพราะเรายอมรับว่าจะต้องเจอด้านที่ไม่ดีด้วย
และอีกทริปที่เปลี่ยนเยอะก็อเมริกาใต้หรืออเมริกากลางนี่แหละที่ไป 8 เดือน ก็โดนทุกแบบ ได้ลองขึ้นเขา ตอนนั้นไม่รู้ว่าตัวเองชอบเดินขึ้นเขาขนาดไหน ก็ได้ลองแล้วก็รักการเดินเขาหลังจากนั้นเลย และได้เจอความสุขจนต้องมานั่งคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเราได้เจอคนที่น่ารักมาก... (ลากเสียง) และเจอคนที่กวนเท้ามาก... (ลากเสียง) ทริปนั้นอกหักด้วย มันเป็นส่วนผสมทั้งหมดที่จะทดสอบเราว่าจะเดินทางคนเดียวต่อไปได้ไหม


ถูกทดสอบแบบนี้ อยากถอดใจไหม?
มี ตอนนั้นคิดจะบินกลับแล้ว เดินทางไปครึ่งทางแล้ว คิดอยู่สองสามคืนแล้วได้คำตอบว่าไม่ได้ ต้องไปต่อ จากตอนแรกวางแผนไว้ 6 เดือน กลายเป็น 8 เดือน จริงๆ ก็ยังไม่อยากกลับแต่ต้องมาคืนกล้อง ไม่งั้นก็คงยังไม่กลับ


อะไรทำให้รู้สึกว่าชอบเดินป่า เดินเขา?
ครั้งแรกคงเพราะความท้าทาย เราไม่เคยทำมาก่อนก็รู้สึกว่ามันท้าทายดี ใช้เวลา 5-6 ครั้งกว่าที่เราจะรู้ว่าชอบมัน แต่เรามีความดันทุรังคือถ้าไม่ไปก็จะพลาดของสวยๆ และหลังจากนั้นการเดินก็ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ ไม่รู้หรอกว่าทำไมถึงชอบเดินป่า รู้แค่ว่าเดินไปเห็นวิวสวยๆ ก็โอเค ก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงกลายเป็นสิ่งเสพติด พอเครียดปุ๊บก็อยากไปเดินป่า มันเหมือนได้ไปเคลียร์ตัวเอง มันเป็นการลดอัตตาตัวเองลงอย่างมาก เพราะเราก็ไม่ได้เอาชนะธรรมชาตินะ เป็นการเอาชนะตัวเอง เป็นการเดินด้วยใจล้วนๆ และหลายๆ ครั้งโดนธรรมชาติเล่นงาน ขึ้นยอดไม่ได้ เจอแผ่นดินไหวที่เนปาล เราจึงรู้สึกว่าตัวเราเล็ก
ยิ่งได้ทำงานแบบนี้มีคนชื่นชม อัตตาเราก็จะใหญ่ขึ้นโดยที่บางครั้งเรายังคุมไม่ได้ เราก็ต้องไปลดอัตตา ด้วยการไปเดินป่า
อย่างล่าสุดก็ไปค้นพบความหมายเพิ่มของการเดิน ได้ไปเดินกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ในกรุงเทพฯ อาจารย์เขาเดินกลับบ้าน เราก็เดินกลับบ้านเหมือนกัน แต่ใกล้ๆ (หัวเราะ) แต่โชคดีมากได้เดินกันสองคน ได้ฟังอาจารย์ไปตลอดทาง เรื่องการเดินทางภายใน ช่วงนี้ก็อินมาก


การเดินป่า เดินเขา กับการเดินในกรุงเทพฯ แตกต่างกันอย่างไร?
แตกต่างกันเยอะมาก การเดินเขาเราดึงตัวเองเข้าสู่สุญญากาศได้ง่ายมาก แต่เดินในเมืองแทบเป็นไปไม่ได้เลย หรือมิ้นท์อาจจะยังเดินไม่พอมั้ง เราเพิ่งเคยเดินในเมืองครั้งแรกซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่ข้อดีคือเราได้เห็นมุมมองทางสังคม ซึ่งจริงๆ ก็เกิดการตั้งคำถามกับอาจารย์เยอะมาก แล้วอาจารย์อธิบายตลอดทาง

คำถามนี้อาจเชย...การเดินทางให้อะไร?

อืม...มันน่าจะเป็นความอิ่มในชีวิต มันทำให้ทุกอย่างในชีวิตมิ้นท์เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่มันครบทุกชิ้นแล้ว หรือถ้ายังไม่ครบก็อาจจะแหว่งนิดหน่อย แค่ขยับๆ ปรับๆ แต่ในชีวิตไม่เคยรู้สึกอิ่มเท่านี้มาก่อน