GFPT - ซื้อ

GFPT - ซื้อ

ไก่เหินฟ้าในปี 2559

ประเด็นการลงทุน

เราเห็นราคาไก่ในประเทศนิ่งมากขึ้นและเริ่มที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยในเดือนพ.ย. หลังสิ้นสุดเทศกาลกินเจในเดือนต.ค. อุปทานไก่ของทั้งอุตสาหกรรมคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในเดือนธ.ค.ก่อนช่วงไฮซีซั่นและเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึง เราประเมินว่าผลกระทบทางบวกจากการขาดแคลนพ่อแม่ปู่ย่าพันธุ์ที่มีต่อราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศและราคาขายชิ้นส่วนไก่ในประเทศน่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/59 ไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2559 และเนื่องจากราคาขายชิ้นส่วนไก่ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงปริมาณยอดส่งออกที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2559 เราจึงประเมินว่ากำไรสุทธิของ GFPT มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2559 ถ้าหากอ้างอิงจากอัตราส่วน PER ที่ 14 เท่าในปี 2559 (ภายใต้สมมติฐานราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยที่ 42 บาท/กก.ในช่วงวัฏจักรของธุรกิจไก่ที่เป็นขาขึ้น) เราคำนวณได้ราคาเป้าหมายซึ่งอ้างอิงจากวิธี PER ได้เท่ากับ 14.15 บาท เรายังคงคำแนะนำ ซื้อ หุ้น GFPT ด้วยราคาเป้าหมายซึ่งประเมินด้วยวิธี PEG ณ สิ้นปี 2559 ได้เท่ากับ 14 บาท

ราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มฟื้นตัวเล็กน้อย

ราคาไก่ในประเทศทรงตัวและเริ่มที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยจาก 34 บาท/กก. ในช่วงวันที่ 2-15 พ.ย. มาอยู่ที่ 35 บาท/กก.ในช่วงวันที่ 16-26 พ.ย. หลังจากที่ปรับตัวลดลงใช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. เนื่องจากฤดูฝนที่ยาวกว่าปกติและเทศกาลกินเจในเดือนต.ค. อุปทานเนื้อไก่ในประเทศยังคงล้นตลาดอยู่ ณ ปัจจุบัน อ้างอิงจากอัตราการเชือดที่ 30 ล้านตัว/สัปดาห์ในเดือนพ.ย. (ซึ่งถือว่าลดลงจาก 31.5 ล้านตัว/สัปดาห์ในไตรมาส 3/58 และ 32 ล้านตัว/สัปดาห์ในเดือนต.ค.) แต่เราคาดว่าอัตราการเชือดมีแนวโน้มลดลงเหลือ 29 ล้านตัว/สัปดาห์เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/59 เนื่องจากอุปทานไก่ที่ลดลงจากการขาดแคลนพ่อแม่ปู่ย่าพันธุ์ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในปี 2558 กรมปศุสัตว์ไทยยังคงห้ามนำเข้าพ่อแม่ปู่ย่าพันธุ์ไก่จากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ดังนั้นเราจึงคาดว่าราคาไก่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 1/59 (จากช่วงไฮซีซั่นและเทศกาลตรุษจีน) ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2559

ผลกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2558 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

เรายังคงคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/58 ที่ 270 ล้านบาท ลดลง 27% YoY (จากปริมาณยอดส่งออกและราคาขายชิ้นส่วนไก่ในประเทศที่ลดลง) และลดลง 17% QoQ (จากช่วงโลว์ซีซั่นของการส่งออก) ถึงแม้ว่าราคาขายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศเฉลี่ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในไตรมาส 4/58 หลังจากฤดูฝนที่ลากยาวไปจนถึงเดือนพ.ย. แต่เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยในไตรมาส 4/58 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น QoQ ไปอยู่ที่ 12-13%

เนื่องจากราคาข้าวโพดที่ลดลงและราคากากถั่วเหลืองที่ทรงตัว เราคาดว่ากำไรสุทธิของ GFPT มีแนวโน้มที่จะเริ่มเห็นอัตราการเติบโต YoY ตั้งแต่ไตรมาส 1/59 เป็นต้นไป ถ้าพิจารณากำไรสุทธิรายไตรมาสจะเห็นว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 (218 ล้านบาทในไตรมาส 1/58 และ 200 ล้านบาทในไตรมาส 2/58)

คาดราคาและปริมาณยอดขายฟื้นตัวในปี 2559

ถ้าอ้างอิงจากสมมติฐานข้างบน เราคาดราคาขายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยที่ 42 บาท/กก.สำหรับในปี 2559 เพิ่มขึ้น 11% YoY (จากราคาเฉลี่ย 38 บาท/กก.ในปี 2558) ส่งผลให้เราคาดว่าราคาขายชิ้นส่วนไก่ในประเทศของ GFPT มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ราคาขายโครงไก่ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 9.5 บาท/กก.ในปี 2558 มาเป็น 12 บาท/กก.ในปี 2559 ปริมาณยอดส่งออกของ GFPT คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7% ในปี 2559 เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศผู้นำเข้าถ้าเทียบกับสกุลดอลลาร์มีแนวโน้มนิ่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่ปริมาณยอดส่งออกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 1/58 ในส่วนของราคาวัตถุดิบ เราใช้สมมติฐานว่าราคามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5% YoY สำหรับทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองในปี 2559 เราคาดว่าผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอาจส่งผลให้ราคาข้าวโพดในประเทศปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ก่อนที่ราคาข้าวโพดจะปรับลดลงอีกครั้งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาส 3/59