กรธ.เผยให้ศาลรธน. ชี้ขาดหากเกิดวิกฤตการเมือง

กรธ.เผยให้ศาลรธน. ชี้ขาดหากเกิดวิกฤตการเมือง

กรธ.เผยให้ศาลรธน. ชี้ขาดหากเกิดวิกฤตการเมือง ปรับสัดส่วนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคาะเลือกตั้ง"จัดสรรปันส่วนผสม" ด้านส.ว.เลือกทางอ้อม

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการประชุมว่ากรธ.ได้พิจารณาหลักที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีหน้าที่วินิจฉัย ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รายละเอียดให้เป็นไปตามที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนหลักการเกี่ยวกับองค์คณะตุลาการในการวินิจฉัยก็ยึดไปตามเดิมที่กำหนดให้ต้องใช้เสียง 5 ใน 9 นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ตุลาการถูกกล่าวหา ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณา 

นายอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่พ้นวาระ ก็จะยังดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ก็ได้มีการกำหนดสัดส่วนองค์คณะตุลาการใหม่คือ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน จากที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด 2 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิระดับอธิบดี 2 คน จากศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 1 คน จากศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ 1 คน

จากนั้น ก็ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากศาลฎีกา ศาลปกครอง คณะกรรมการองค์กรอิสระ และรัฐสภา เหมือนหลักของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็จะกำหนดคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระด้วยว่า หากเคยเป็นกรรมการองค์กรใดแล้ว จะไม่สามารถเป็นกรรมการองค์กรอื่นได้อีก เช่น เคยเป็นกกต.แล้ว ก็จะมาเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน อีกไม่ได้ 

ส่วนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้วินิจฉัยเมื่อเกิดวิกฤตินั้น เดิมมาตรา 7 ที่ถูกเสนอให้ใช้เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง มักจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ กรธ.ส่วนใหญ่เห็นว่า อำนาจนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะนำความแบบมาตรา 7 มาใส่ไว้เลย หรือควรจะปรับถ้อยคำก่อนโดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า เวลาเกิดปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถตีความเจตนารมย์ตามเนื้อหาของมาตรา 7 ได้ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างมองว่า จะเป็นการแอบอ้างสถาบันฯ

นายอุดม กล่าวอีกว่า กรธ.ยังได้มอบหมายให้ อนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไปจัดทำร่างในส่วนของบททั่วไป และหมวดรัฐสภา ตามที่ได้พิจารณาไปแล้ว ทั้งนี้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้ง 150 คน โดยไม่มีเศษส่วนเกิน และอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ส่วนใหญ่ก็จะยึดไปตามหลักการเดิม ส่วนที่มาส.ว. ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะไม่มาจากการสรรหาผสมกับการเลือกตั้งทางตรงเหมือนที่ผ่านมา

แต่จะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จากทั้งองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และกลุ่มทางสังคมทั้งหมดที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่เกิน 200 คน ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีข้อยุติว่า กลุ่มเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง เพราะมีการนำเสนอองค์กรนิติบุคคลและกลุ่มทางสังคมที่สมควรมีตัวแทนเป็นส.ว.กว่า 20 กลุ่ม จึงมอบให้อนุฯโครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติไปศึกษา