ป่ากว้าง บนทางแคบ

ป่ากว้าง บนทางแคบ

เมื่อ ‘โอรังอัสรี’ มาถึงจุดเปลี่ยน จะยอมรับการพัฒนา หรือหันหลังเข้าป่ากลับสู่วิถีเดิม

ถึงชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในป่า และผืนป่าบ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ที่ถือเป็นบ้านของชาวโอรังอัสรี หรือ ชนเผ่าซาไก กว่า 40 ชีวิต ในวันนี้ พวกเขาอาจเรียกตัวเองเป็น ‘ชาวป่า’ อย่างไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำมากนัก จากปัจจัยในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม

นอกจากการทำงานเลี้ยงชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคอย่าง อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะยารักษาโรค ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทางเดินในป่านั้นแคบลงทุกที

ทันทีที่รัฐบาลปัดฝุ่นอนุมัติงบประมาณกว่า 1,900 ล้านบาท ก่อสร้างสนามบินเบตง เมืองงามชายแดนสุดปลายด้ามขวาน ที่โอบล้อมด้วยขุนเขาและสายหมอกแห่งนี้ก็ดูจะเปิดประตูเมืองต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วสารทิศ เพราะใครหลายคนน่าจะลืมความคดเคี้ยวของถนนมุ่งหน้าสู่เบตงไปเลย

ถนนอากาศเดินทางมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในเบตงเพื่อเปิดสู่โลกภายนอกเต็มรูปแบบ ไม่จำกัดวงอยู่แต่คนในเมือง คนอยู่ป่าก็ไม่ต่างกัน

ไกลออกไปบนความสูงระดับ 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ท่ามกลางสายหมอกยามเช้า และแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนไปจดชายแดนมาเลเซียอันเป็นเหมือนลักษณะเฉพาะของ ต.อัยเยอร์เวงแห่งนี้

นอกจากชาวมุสลิมที่ครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่กลางป่าลึกฮาลาบาลา ก่อนถูกทางการอพยพออกมาด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี ติดถนนสาย 410 ยะลา-เบตง ปะปนไปกับคนพุทธท้องถิ่น และชาวไทยเชื้อสายจีน ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดำรงชีพกลางผืนป่า ตัดขาดจากโลกภายนอก ด้วยความรู้สึกว่าผืนป่าอันกว้างใหญ่ ต้นไม้ทุกต้น สัตว์ป่าทุกตัวมีพวกเขาเป็นเจ้าของ สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้อย่างอิสระ

ที่ใดมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ก็จะอยู่นานหน่อย โดยสร้างเพิงพักขึ้นอย่างง่ายๆ ใช้ใบไม้มุงหลังคากันแดดฝน นำไม้ไผ่มาทำเป็นแคร่ รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ 20-30 คน ใกล้แหล่งน้ำ เมื่อใดที่อาหารเริ่มร่อยหรอ ก็จะอพยพไปสร้างที่พักแห่งใหม่

วิถีของโอรังอัสรี เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

 

วิถีคนป่า

ชนเผ่าพื้นเมือง โอรังอัสรี หรือที่คนทั่วไปเรียกพวกเขาว่า ซาไก - โอรังอัสรี หรือ ซาไก ที่อาศัยอยู่ใน พื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง ปัจจุบันเท่าที่พบเห็นมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่อยู่กลางป่าฮาลาบาลา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30-50 คนกระจัดกระจายแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก 2-3 กลุ่ม

คนกลุ่มนี้แม้จะใช้ชีวิตหากินอยู่กลางป่าลึก แต่มีความผูกพันอยู่กับตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 หน่วยพิทักษ์ป่าพระนามาภิไทยที่ตั้งฐานฯ อยู่บริเวณป่าต้นน้ำปากคลองฮาลา บางครั้งหาได้ต้องออกมาขอเสื้อผ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง หรือแม้แต่ยาแก้ไข้ ส่วนผู้ชายบางคนก็รับจ้างถางป่าสวนยาง สวนผลไม้เล็กๆ น้อยๆ ให้ชาวบ้านพอได้ค่าจ้าง และอาหารประทังชีวิตแล้วจึงกลับเข้าไปอยู่ในป่าดังเดิม

อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 คน บางคนเป็นเครือญาติกับกลุ่มแรกที่อยู่ในป่าฮาลาบาลา อาศัยอยู่ในป่าที่เป็นภูเขาสูงอยู่บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง เป็น โอรังอัสรี ที่ค่อยข้างใกล้ชิดกับชาวบ้านที่อยู่พื้นราบ เนื่องจากที่อยู่ของพวกเขามีถนนลูกรังสายเล็กๆ เลียบไปบนสันเขาระยะทางประมาณ 5 กม.จากนั้นเดินเท้าอีกเล็กน้อย ก็จะถึงเพิงพัก คนที่นี่เรียกกลุ่ม อัสรี หรือ ซาไกบ้านนากอ

กลุ่มอัสรีที่นี่ จะสร้างที่พักเป็นกระท่อมหรือขนำเป็นหลังๆ แยกสัดส่วนกันชัดเจน แต่ละหลังยกสูงปูพื้นด้วยฟากไม้ไผ่ เช่นเดียวกับฝากระท่อมที่ทำจากไม้ไผ่ผ่าซีกสานขัดแตะกันลมฝน ส่วนหลังคาใช้ตับจาก และใบสิเหรง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปกลางผืนป่าแห่งนี้ บางหลังมีสังกะสีแผ่นเก่าๆ คลุมหลังคา นับเป็นสิ่งแปลกตาต่างจากกลุ่มอัสรีที่อาศัยอยู่กลางป่าลึก

นอกจากสร้างที่พักคล้ายกับกระท่อมของชาวบ้านทั่วไปแล้ว ที่น่าสนใจไม่ต่างกันคือ พวกเขารู้จักการเพาะปลูกพืชสวนครัวไว้เป็นอาหารเช่น กล้วยและมันสำปะหลังไว้กินเอง โดยรอบๆ กระท่อมจะรายล้อมไปด้วยกล้วยและมัน ที่เพิ่งปลูกใหม่แทนของเก่าที่ บางต้นก็มีขนาดโตพอที่จะขุดหัวมันขึ้นมากินได้ เพราะนิสัยดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จะหาแต่ของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหารเลี้ยงชีพเพียงวันต่อวันเท่านั้น

“อัสรีกลุ่มนี้มาอยู่มาอาศัยอยู่กลางป่าแถบนี้กว่า 10 ปีแล้ว จากเดิมที่เคยไปๆ มาๆ ระหว่างป่าฮาลาบาลา กับบ้านนากอ ตามธรรมชาติพวกเขาจะหากินกลางป่าลึก ย้ายที่ไปเรื่อยตามแหล่งอาหาร เป็นวงกลมเมื่อครบรอบ 1 ปี ก็จะกลับมาอยู่ที่ คล้ายกับจุดศูนย์รวมของอัสรีกลุ่มนี้ เพราะคนรุ่นปู่รุ่นพ่อของเขาเคยมาสร้างเพิงพักอยู่ที่นี่มาก่อน” ซูไฮมี มีนา ผู้ช่วยพนักงานพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) อัยเยอร์เวง เล่าถึงสิ่งที่เขาได้สัมผัสกับชาวอัสรีมาตั้งแต่เด็ก

ในปัจจุบัน พื้นที่บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิคมสร้างตนเองเบตง ที่ให้ประชาชนเข้ามาบุกเบิกจับจองที่ทำกิน ปลูกยางพาราและทำสวนผลไม้ ต่อมา อัสรีกลุ่มนี้มาสร้างที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ทำให้มีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากขึ้น

“โดยเฉพาะพวกผู้ชายนอกจากจะเข้าป่าล่าสัตว์เป็นอาหารตามปกติแล้ว ยังรับจ้างถางป่า เก็บขี้ยาง ให้ชาวบ้าน โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงิน ต่างไปจากเมื่อครั้งอดีตที่เป็นข้าวสาร อาหารแห้ง และเสื้อผ้า พอเปลี่ยนมาเป็นตัวเงิน ทำให้เขาเริ่มจักรู้ค่าของเงิน ว่าสามารถแปรสภาพเป็นสิ่งของที่เขาต้องการได้” ซูไฮมี เล่า

เวลาปรับ คนเปลี่ยน

เมื่อชาวอัสรีที่นี่เริ่มใช้เงินเป็น ก็เริ่มเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ เด็กวัยรุ่นบางคนที่ทำงานรับจ้างคลุกคลีอยู่กับคนพื้นราบ เริ่มมีโทรศัพท์มือถือ ใส่เสื้อผ้าสลัดผ้าเตี่ยวสีแดงทิ้ง เพราะมองเป็นของล้าสมัยยุคคุณปู่ หันมานุ่ง กางการยีนส์เหมือนคนทั่วไป

ผู้หญิงอัสรีที่เคยทัดหูด้วยดอกไม้สีแดงสดใสเหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต พวกหล่อนหันมาหลงไหลลิปสติกสีแดง ที่พอหาได้ในท้องถิ่น

การใช้ชีวิตกึ่งป่า กึ่งบ้าน เริ่มมีความสะดวกสบายกว่าอยู่ในป่าลึกอย่างเดียว แม้เขาจะมีความเป็นอิสระที่จะเคลื่อนย้ายอพยพไปอยู่ที่ไหนก็ได้กลางผืนป่าแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือมาเลเซีย แต่สำหรับอัสรีกลุ่มนี้ ดูเหมือนที่จะเลือกพื้นที่บนป่าเขา บ้านนากอ ต. อัยเยอร์เวง เป็นที่อยู่อาศัยกึ่งชั่วคราวและถาวรไปแล้ว

ตำบลอัยเยอร์เวง มีเผ่าโอรังอัสรีอาศัยอยู่มากที่สุด ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับชาวบ้าน เพราะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หลายๆ สิ่งที่ อบต.อัยเยอร์เวง ต้องเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัย

“บางครั้งเขาไม่สบาย แม้จะมียาสมุนไพรที่หาได้ในป่าพอเยียวยา แต่เมื่อมีความผูกพันกันมากขึ้น พวกเราก็ทนไม่ได้ที่จะต้องพาเขาไปรักษาตามสถานีอนามัยซึ่งมีความพร้อมกว่า แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการบันทึกประวัติผู้ป่วยตามมาเนื่องจากเขาไม่มีบัตรประจำตัวที่จะยืนยันสิทธิของตัวเอง ทั้งๆ ที่มีความเป็นคนเหมือนกัน แต่เราก็ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้ เพราะลึกๆ แล้วแม้เขาจะอาศัยอยู่ในป่าเป็นหลัก แต่ก็ต้องพึ่งพาชุมชนในหลายๆ เรื่อง” ซูไฮมี แบ่งปันประสบการณ์

ไม่ต่างจากความเห็นของ สะอารี ยูโซ๊ะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง เจ้าของพื้นที่ ซึ่งเล่าว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ อบต.เข้าไปคลุกคลี และสัมผัสกับอัสรีกลุ่มนี้ ทำให้ผู้คณะบริหารมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่ให้บริการด้านสุขภาพครอบคลุมถึงกลุ่มชาวเผ่าอัสรีด้วย โดยใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่เข้าไปให้บริการตรวจสุขภาพ ตามศักยภาพและขอบเขตเท่าจะทำได้ ที่สำคัญ เรื่องแม่และเด็กแรกเกิด ซึ่งปกติผู้ชายเผ่าอัสรีจะมีเมียหลายคน จึงทำให้มีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากในกลุ่ม เลี้ยงดูกันตามยถากรรม

"ตามปกติผู้หญิงชาวเผ่าอัสรีหรือซาไก เมื่อท้องแก่จะไปหาที่คลอดลูกเองตามลำพังบางครั้งสามีตามไปคอยช่วยเหลือ ไม่มีหมอตำแยช่วยทำคลอด แม้เขาจะใช้วิธีการทำคลอดแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเด็กก็สามารถมีชีวิตรอด สืบเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน

“แต่เท่าที่เห็น ก็มีเด็กทารกแรกเกิดจำนวนไม่น้อยเสียชีวิต เนื่องจากปัญหาเรื่องสุขอนามัย ซึ่งถ้าหากเขาอยู่กลางป่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกัสังคมภายนอกก็แล้วไป เพราะเราไม่สามารถเขาไปดูแลได้ทั่วถึง แต่เมื่อเขามาสร้างที่อยู่ใหม่ทำให้การไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น เราก็อยากเข้าไปดูแลให้ความรู้และช่วยเหลือตามศักยภาพที่พอมี เพื่อส่งเสริมให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” สะอารี กล่าว

ร่วมทิศร่วมทาง

ส่วนแนวคิดที่จะให้คนเผ่าอัสรีกลุ่มนี้อยู่ได้เป็นหลักเป็นแหล่ง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมรองนายก อบต.อัยเยอร์เวงคนเดิมยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะตามธรรมชาติคนกลุ่มนี้จะอยู่ไม่เป็นที่ อพยพไปเรื่อย

เขาไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนที่บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา ที่มีการจัดสรรที่ทำกินให้กลุ่มอัสรี แต่พวกเขาก็อยู่ไม่ได้สุดท้ายถูกชาวบ้านเข้าไปฮุบพื้นที่จนหมด ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คนส่วนหนึ่งอาจจะมองว่า เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขา หากมีความเป็นไปได้ อบต.หาแนวทางกันพื้นที่ป่าบางส่วนในบริเวณที่พวกเขามาสร้างที่พักอยู่ในปัจจุบันประมาณ 15 ไร่ ได้สร้างที่พัก และให้เป็นที่ทำกิน แบ่งพื้นที่เพาะปลูกให้คนละเล็กน้อยเพื่อเขาจะได้ปลูกพืชไว้กินเอง ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะปลูกแค่กล้วยและมันสัมปะหลังเท่านั้น

"ขณะนี้ อบต.อัยเยอร์เวง มีโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยเฉพาะบ้านนากอมีบ่อน้ำพุร้อน และน้ำตกอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้เปิดตัวสู่โลกภายนอกอย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีกลุ่มชาวอัสรีเข้ามาสร้างร่วมสร้างสีสันด้วย

“อย่างน้อยเป็นการสร้างงาน ให้เขาได้มีรายได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองตามอัตภาพ จากการขายยาสมุนไพร หรืองานฝีมือที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นหวีซาไก กล่องยาที่ถักด้วยย่านลิเพา หรือ ตับจากมุงหลังคา ที่มีความสวยงามและทนทาน”

แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับคนเผ่าอัสรีกลุ่มนี้นั่นเอง ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ในเมื่อปัจจุบัน เขาทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิม มาพึ่งพาชุมชนเป็นหลัก เสมือนคนในชุมชนเดียวกัน นอกเหนือจาก ชาวไทยมุสลิม และ ไทยพุทธ ที่อาศัยอยู่ในพื้นราบ เพียงแต่คนกลุ่มนี้ไม่มีเอกสารยืนยันความเป็นคนไทยเท่านั้น

ส่วน อารี ชูหนูสุข ปลัดองค์กาบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง แสดงความเห็นเพิ่มถึง แนวคิดที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องจากทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน

“อัยเยอร์เวงมีศักยภาพสูงพอในตัวเอง จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ส่วนแนวคิดที่จะดึงคนกลุ่มอัสรีบ้านนากอเข้ามามีส่วนร่วม เป็นแค่การโยนหินถามทางเพื่อต้องการทราบความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ว่ามีความคิดเห็นเช่นไร” เขาบอก

จุดประสงค์หลักของ อบต.ก็เพียงเพื่อช่วยเหลือให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้เอาเขาเข้ามาเป็นจุดขายเพื่อเรียกแขกแต่อย่างใด อีกทั้งในยุคปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโอรังอัสรีที่อาศัยอยู่ตามผืนป่าต่างๆ ในจังหวัดทางภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นที่เทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง จ.สตูล ก็เปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตจากดั้งเดิม ให้กลมกลืนกับสังคมภายนอกเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้อยู่ที่การจัดการ การให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม โดยที่อัตลักษณ์ความเป็นโอรังอัสรีไม่ถูกทำลาย โดยเฉพาะพื้นที่บ้านนากอ

“หากแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เกิดขึ้นมาจริงๆ ในอนาคตอาจมีการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นเขตอนุรักษ์พิเศษ โดยให้อัสรีกลุ่มนี้เป็นแกนนำดูแลรักษาป่าไปด้วย เพื่อให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจ ว่านี่คือบ้านของเขาจริงๆ” ปลัดอารี กล่าวทิ้งท้าย